ออสการ์ กับผู้เข้าชิงทั้ง 10 เรื่อง

ออสการ์ กับผู้เข้าชิงทั้ง 10 เรื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

และผู้ชนะคือ...คือ...เอ่อ...ใครดีล่ะ? สงสัยว่าปีหน้ากว่าคณะกรรมการออสการ์จะตัดสินใจมอบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้หนังเรื่องไหน คงต้องใช้เวลาเลือกกันนานกว่าเดิม เพราะว่าออสการ์ครั้งต่อไปรายชื่อผู้เข้าชิงในสาขาใหญ่สุดนี้ จะไม่ได้มีแค่ 5 เรื่องแล้ว แต่จะเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าตัว กลายเป็น 10 เรื่อง 10 รสกันเลยทีเดียว (จะเยอะไปไหน) ทางอคาเดมี่ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า งานประกาศผลรางวัล ออสการ์ครั้งที่ 82 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7 มีนาคม 2010 จะมีการเพิ่มรายชื่อหนังที่จะเข้าชิงในสาขารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็น 10 เรื่องด้วยกัน เราจะกลับไปใช้กฎเดิมที่เคยใช้มาแล้วเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน ซึ่งมันเปิดให้มีพื้นที่การแข่งขันกว้างขึ้น แน่นอนว่าผู้ชนะจะยังคงมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ผู้เข้าชิงจะเพิ่มเป็น 10 เรื่องจากบรรดาหนังในปี 2009 ซิด แกนิส ประธานของอคาเดมี่กล่าวในงานแถลงข่าว ก่อนหน้าที่จะมีผู้เข้าชิง 5 เรื่องเหมือนทุกวันนี้ ออสการ์เคยใช้กฎผู้เข้าชิง 10 เรื่องในหลายสาขา มาแล้วตั้งแต่ปี 1932 และยกเลิกไปในปี 1943 โดยมี Casablanca เป็นผู้ชนะครั้งสุดท้าย ก่อนจะลดผู้เข้าชิงเหลือเพียง 5 เรื่องจนถึงปัจจุบัน การมีผู้เข้าชิง 10 เรื่องจะทำให้ผู้มีสิทธิ์โหวตมีโอกาสได้เลือกมากขึ้น และเปิดโอกาสให้หนังเด่นๆ จากสาขาอื่นๆ มีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลใหญ่สุด แกนิสว่าต่อ ผมแทบรอไม่ไหวแล้ว ที่จะได้เห็นรายชื่อหนังที่ยอดเยี่ยมทั้ง 10 เรื่องในเดือนกุมภาพันธ์ การตัดสินใจครั้งนี้ของออสการ์ ไม่ใช่การตัดสินแบบปัจจุบันทันด่วนแต่อย่างใด เพราะมันมีการพูดคุยกันมานานแล้วในช่วงหลังๆ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่เรตติ้งของการถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัล ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย จนทำให้สูญเสียรายได้จากค่าโฆษณาไปหลายล้านดอลลาร์ โดยในการถ่ายทอดสดครั้งที่ผ่านมา ค่าโฆษณา 30 วินาทีลดลงเหลือเพียง 1 ล้าน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา นั่นทำให้อคาเดมี่ และช่อง ABC ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ต้องพยายามคิดหาทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นเรตติ้งให้สูงขึ้นกว่านี้ให้ได้ โดยเคยมีการพูดคุยถึงการปรับเปลี่ยนบางอย่างเช่น แบ่งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นดราม่าและตลกแบบเดียวกับรางวัลลูกโลกทองคำ หรืออย่างในครั้งที่ผ่านมาก็มีการเรียก บิล กอร์ดอน และ ลอเรนซ์ มาร์ค เข้ามาเป็นโปรดิวเซอร์จัดงาน เพื่อปรับเปลี่ยนโฉมงานประกาศรางวัลให้สดใหม่ขึ้น และดึง ฮิวจ์ แจ็คแมน มาเป็นพิธีกร แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่เห็น บรรดาหนังที่ได้เข้าชิงในครั้งที่ผ่านมาเป็นหนังที่มีคุณภาพก็จริง แต่หลายเรื่องไม่ใช่รสนิยมของผู้ชมในวงกว้าง ชารี แอนน์ บริล นักวิเคราะห์ด้านการซื้อขายโฆษณาให้ความเห็น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ออสการ์เพิ่มรายชื่อผู้เข้าชิง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้หนังใหญ่แต่มีคุณภาพได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมทั่วไป อย่างในครั้งที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าทข้าชิงในสาขาใหญ่ หรืออย่าง WALL-E ที่ดิสนีย์และพิกซาร์พยายามดันให้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมด้วย แต่ก็ได้เข้าชิงเพียงสาขาแอนิเมชั่นไปตามระเบียบ มันไม่ใช่จุดประสงค์หลัก แต่เราก็หวังว่ามันจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้มากขึ้น เราต้องคำนึงถึงด้านอื่นๆ ด้วยก็จริง เพราะมันสำคัญต่อการถ่ายทอดสด แต่เราจะไม่ปรับโน่นเปลี่ยนนี่เพราะให้ความสำคัญกับเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่งหรอก แกนิสกล่าวอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ ปีที่แล้วมีหนังคุณภาพหลายเรื่องที่สมควรได้เข้าชิง แต่ไม่มีพื้นที่ว่างพอ เราจึงต้องทำทุกอย่างที่จะทำได้ เพื่อให้มันถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงของออสการ์ครั้งนี้ อาจจะมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือโอกาสจะเปิดกว้างให้กับหนังหลากหลายประเภทได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นหนังเล็กหรือใหญ่ หรือหนังที่มีรางวัลสาขาที่เป็นของตัวเองแล้วอย่างหนังสารคดี, หนังภาษาต่างประเทศ หรือหนังแอนิเมชั่น แต่ผลเสียก็อย่างที่เห็นกันชัดๆ อยู่แล้วคือ มันจะเยอะเกินไปหรือไม่ จะทำให้คุณภาพของหนังที่ได้เข้าชิงลดน้อยลงหรือเปล่า หรือกระทั่งผู้ชนะที่อาจจะได้คะแนนโหวตเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถเหนือคู่แข่งอีก 9 เรื่องได้แล้ว ในกรณีที่เสียงโหวตกระจายมากๆ มาดูกันว่ากระแสตอบรับของบรรดาคนในวงการต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะออกมาในแง่ไหนกันบ้างเพราะว่าแต่ละฝ่ายย่อมได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป แค่พวกเขาเพิ่มรายชื่อผู้เข้าชิงขึ้นไปอีกเท่าตัว ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายการตลาดต้องบ้าจี้ตามไปด้วยหรอกนะ เพราะถ้าเกิดมีหนังได้เข้าชิงเพิ่มขึ้นมา เท่ากับว่าเราต้องเพิ่มงบประมาณด้านการตลาดเข้าไปอีกเท่าตัวเหมือนกัน เจฟฟ์ เบล็ค ประธานฝ่ายการตลาดต่างประเทศของโซนี่ พิคเจอร์สกล่าว ซึ่งสตูดิโอของเขาไม่มีแผนที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ เรามีแผนจะลดงบประมาณโปรโมตออสการ์ลงด้วยซ้ำไป เพราะยังไงผู้ชนะก็ยังมีแค่หนึ่งเดียว มันไม่คุ้มที่จะลงทุนในส่วนนี้ เราประหลาดใจมากที่พวกเขาตัดสินใจเช่นนี้ บอกได้เลยว่าคนแถวนี้ไม่มีใครไปกดดันอคาเดมี่แน่นอน จัสมิน มาดาเชี่ยน รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของดิสนีย์ให้ความเห็นในทำนองนี้เพราะว่า แอนิเมชั่นของดิสนีย์ รวมทั้งพิกซาร์ต้องได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะโอกาสที่ Up จะได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมย่อมมีสูงขึ้น หลังจากที่เคยมี Beauty and the Beast เพียงเรื่องเดียวที่เคยไปถึงสาขานี้ และไม่มีเรื่องไหนทำได้อีกเลย โดยเฉพาะเมื่อมีการแยกเป็นสาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมออกมา เพราะฉะนั้นถ้าสตูดิโอของคุณมีหนังหวังรางวัลแล้วล่ะก็ คงไม่มีใครอยากพลาดโอกาสนี้แน่นอน ฉันว่ามันเยี่ยมออก จะแย่ตรงไหนล่ะ? ยิ่งมีคู่แข่งเยอะยิ่งน่าตื่นเต้น ในบางปีมันยากมากที่จะคัดหนังเข้าชิงแค่ 5 เรื่อง นั่นคือคำกล่าวของ ลอร่า ซิสกิ้น ผู้อำนวยการสร้างสาวของหนัง Spider-Man ที่เห็นว่าหนังตลาดก็สมควรมีโอกาสในการเข้าชิงรางวัลด้วยเช่นกัน กฎของออสการ์เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะพวกเขาต้องพยายามรักษาธรรมเนียมดั้งเดิอมๆ กับเติมความสดใหม่เข้าไปตลอดเวลา จะผิดตรงไหนที่หนังป๊อปคอร์นจะได้เข้าชิง ถ้ามันมีคุณภาพดีพอ ส่วน แซมวล แอล. แจ็คสัน ยังเห็นว่าออสการ์น่าจะแบ่งสาขาเป็นหนังแอ็คชั่น หรือหนังทำเงินสูงสุดยอดเยี่ยมเสียด้วยซ้ำ พวกเขาไม่ยอมมอบรางวัลให้กับหนังที่คนส่วนใหญ่อยากดู ใครจะอยากไปดู The Reader กันเล่า มันจะเป็นผลดีต่อพวกหนังเพลง หนังตลก หรือหนังประเภทอื่นๆ ที่ออสการ์ไม่เคยเหลียวมอง แต่ผมไม่ได้หมายความว่าถึงหนังพวกนี้ได้เข้าชิง แล้วจะมีโอกาสชนะหรอกนะ จอน ฟาฟโร (ผู้กำกับ Iron Man) กล่าว ผมหมายความว่าจะมีหนังที่ได้มีส่วนกับงานนี้มากขึ้น แต่สุดท้ายหนังที่ได้รางวัลไปก็คงเป็นประเภทที่ออส การ์รักเหมือนเดิม แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อหนังเล็กๆ ที่เข้าชิงให้มีโอกาสชนะน้อยลง เพราะมีตัวเลือกมากขึ้นด้วย แต่ ทอม เบอร์นาร์ด ประธานของโซนี่พิคเจอร์สคลาสสิค กลับเห็นต่างว่านี่จะเป็นผลดีต่อหนังอินดี้เล็กๆ ผมว่ามันเป็นโอกาสที่ดีของวงการหนังอินดี้ เพราะในบรรดาหนัง 10 เรื่องที่ได้เข้าชิง จะต้องมีที่ว่างมากขึ้นสำหรับหนังเล็กๆ แล้วก็จะมีหนังหลากหลายประเภทมากขึ้นด้วย แต่คำถามใหญ่ก็คือ พวกสมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนน จะดูพวกหนังที่ได้เข้าชิงกันไหวรึเปล่าเท่านั้นแหละ มันจะทำให้ผู้ชมชาวอเมริกันและทั่วโลกสนใจงานแจกรางวัลมากขึ้น เพราะพวกเขาจะติดตามว่าหนังที่ตัวเองชอบจะได้รางวัลหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ออสการ์ต้องการ เคนเน็ธ ทูราน นักวิจารณ์ของ Los Angeles Times เห็นด้วยกับวิธีเรียกความสนใจของออสการ์วิธีนี้ ผมไม่หวังว่าจะได้เห็นพาราเมาท์ส่งหนังของไมเคิล เบย์เข้าชิงหรอกนะ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้หนังตลาดมีส่วนร่วมมากขึ้น มันเห็นกลยุทธ์ที่ออส การ์เคยใช้มาแล้วหลายครั้ง อย่าง The French Connection, The Sting, Patton, Rocky หรือ Titanic มีอีกเยอะแยะไป แพททริค โกลด์สตีน นักวิจารณ์ของ Los Angeles Times อีกคนกล่าว จะเห็นว่าทางฝั่งผู้สร้างหนังส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพราะมันจะส่งผลดีต่อหนังของตัวเองให้มีโอกาสเข้าใกล้รางวัลมากขึ้น ส่วนทางฝั่งผู้ชม ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ออสการ์จะดึงเรตติ้งกลับมาได้อย่างที่หวังหรือไม่ หรือจะกลายเป็นการลดความขลังของงานแจกรางวัลลง คงต้องรอติดตามกันต่อไปเมื่อฤดูกาลล่ารางวัลมาถึงในช่วงต้นปีหน้า

เนื้อหาสนับสนุนโดย

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ออสการ์ กับผู้เข้าชิงทั้ง 10 เรื่อง

ออสการ์ กับผู้เข้าชิงทั้ง 10 เรื่อง
ออสการ์ กับผู้เข้าชิงทั้ง 10 เรื่อง
ออสการ์ กับผู้เข้าชิงทั้ง 10 เรื่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook