วิจารณ์หนัง SUGAR & SPICE จังหวะความรัก

วิจารณ์หนัง SUGAR & SPICE จังหวะความรัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รักครั้งแรกเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน ทั้งนี้เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มักเลือกจะก้าวกระโดดเข้าไปในโลกแห่งเราสองแบบไม่ทันตั้งตัว ขณะพวกเขายังไร้เดียงสาขาดประสบการณ์ ด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างย่อมเป็นไปได้หากเชื่อมั่นและศรัทธามากพอ ชิโระ (ยูยะ ยางิระ) เป็นเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยม เขาโหยหาความรักครั้งแรก แม้จะเคยเห็นอิทธิพลของความรักมาแล้วว่า มันสามารถทำให้คนเรา (ในที่นี้คือเพื่อนสนิทของเขา) บ้าคลั่งและว้าวุ่นมากเพียงใดจนบางทีอาจจะมากพอ ๆ กับความสุขสุดยอดเลยด้วยซ้ำเขาได้ยินเพื่อนพร่ำพรรณนาความรักต่อแฟนสาว ทุ่มเททุกอย่างให้เธอจนถึงขนาดลงทุนซื้อบ้านหลังหนึ่ง แล้วเขาก็ได้เห็นเพื่อนคนเดียวกันนั้นถูกแฟนสาวทอดทิ้ง และตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง ทุกข์ทรมาน ตอนนั้นชิโระได้แต่รับฟัง ได้แต่เฝ้ามอง แต่เขาไม่เคย 'เข้าใจ' จนกระทั่งเมื่อเขาได้พบกับโนริโกะ (เอริกะ ซาวาจิริ) เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นทั่วไป ชิโระไม่เพียงโหยหาความรัก แต่เขายังปรารถนาจะสัมผัสโลกกว้างนอกรั้วโรงเรียนและครอบครัว ซึ่งให้การปกป้องมากพอ ๆ กับกักขังอิสรภาพในความรู้สึกของเขา และด้วยเหตุนี้ ชิโระจึงตัดสินใจขัดความต้องการของพ่อกับแม่ ซึ่งอยากให้เขาสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ด้วยการสมัครไปทำงานเป็นเด็กปั๊ม ท่ามกลางเสียงสนับสนุนของ ฟูจิโกะ (มาริ นัทซุกิ) คุณย่าฮิปปี้วัยเจ็ดสิบปี ที่มีคู่รักเป็นเด็กหนุ่มรุ่นหลานชื่อ ไมค์ (เฉินป๋อหลิน) หัวใจหลักของ Sugar & Spice อยู่ที่การเติบโตของชิโระ ผ่านบทเรียนความรักที่ทั้งหอมหวานและขมขื่น ซึ่งดูเหมือนจะดำเนินไปในลักษณะคู่ขนานกับเรื่องราวรักสามเส้าของเพื่อนสนิทชิโระ ขณะเดียวกัน บทหนังก็ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างเรื่องราวของโนริโกะกับคุณย่าฟูจิโกะ ความต่างระหว่างโนริโกะกับชิโระ คือฝ่ายแรกเคยลิ้มลองรสชาติอันหอมหวานและขมขื่นของความรักมาแล้วเธอเพิ่งเลิกรากับแฟนหนุ่มนักศึกษา ตอนมาสมัครทำงานในปั๊มน้ำมันเดียวกับชิโระ เพื่อทำใจให้ลืมอดีต กล่าวได้ว่าชิโระก้าวเข้ามาในชีวิตเธอได้ถูกจังหวะเธอกำลังเปลี่ยวเหงาต้องการแหล่งพักใจ และเขาก็มีอุปนิสัยอ่อนหวาน เอาใจใส่ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อดีตแฟนเก่าของเธอขาดแคลน ดังนั้นเธอจึงค่อย ๆ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับห้วงเวลาแห่งมนตร์เสน่ห์แม้ลึก ๆ ภายในจะยังไม่อาจตัดขาดจากอดีตได้อย่างสิ้นเชิง 'อดีต' ดูเหมือนจะยังครอบงำจิตใจและชีวิตของคุณย่าฟูจิโกะอยู่ไม่เสื่อมคลาย สมัยสาว ๆ เธอเคยตกหลุมรักทหารจีไอหนุ่มคนหนึ่ง ก่อนจะถูกเขาทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย แต่กระนั้นเธอก็ยังรำลึกถึงช่วงเวลาดังกล่าว ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ และยังคงเก็บภาพภูเขาไฟฟูจีที่เขาถ่ายไว้ มาจนถึงทุกวันนี้ มองจากภายนอก ฟูจิโกะเป็นคนร่าเริง รักอิสระ และเหมือนไม่เคยแคร์กับสิ่งใด แต่แง่มุมเปราะบางของเธอค่อย ๆ ถูกเผยออกมาผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหนังถ่ายทอดแบบไม่เน้นย้ำ แต่ได้อารมณ์ซึมลึก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบาร์เหล้าในเมืองที่ตั้งของกองทัพสหรัฐฯ การยืนกรานให้ชิโระเรียกเธอว่า "แกรนด์มา" แทนคำว่า "คุณย่า" ความคลั่งไคล้ทุกอย่างที่เป็นอเมริกัน หรือ (ในฉากที่งดงามที่สุดฉากหนึ่งของหนัง) การเดินทางไปค้นหาจุดที่อดีตคนรักของเธอถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจี เพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาแห่งความรักนั้น ชิโระกล่าวหาคุณย่าของตนว่า น่าสงเพชที่ยังไม่ลืมความรักในอดีต แต่บุคคลที่ก้าวเข้ามาปกป้องฟูจิโกะ กลับเป็นไมค์ เด็กหนุ่มซึ่งดูเหมือนจะ 'เข้าใจ' หญิงชรา มากกว่าหลานชายของเธอเองเสียอีก เขาไม่เคยคิดหึงหวง หรือหงุดหงิดที่ฟูจิโกะนำรูปถ่ายภูเขาไฟฟูจีมาแขวนบนผนังบาร์เหล้า แม้จะตระหนักดีว่าภาพนั้นสื่อความหมายเช่นใด หรือเป็นตัวแทนของอะไร รายละเอียดเกี่ยวกับความรักไม่รู้ลืมของเหล่าตัวละครปลีกย่อยทั้งหลาย (ฟูจิโกะ, โนริโกะ และเพื่อนสนิทของชิโระ) ดูจะย้อนกลับมาสะท้อนนัยเชื่อมโยงถึงประเด็นหลักของหนังอยู่เสมอนั่นคือประสบการณ์รักครั้งแรกของชิโระ เช่น เมื่อแฟนเก่าของโนริโกะหวนกลับมาขอคืนดี ชิโระจึงเริ่มเข้าใจเป็นครั้งแรกถึงความรู้สึกเจ็บปวดของเพื่อนสนิท (ที่ถูกแฟนสาวทอดทิ้งไปหาอดีตคนรัก) หรือเมื่อชิโระตระหนักว่าตนไม่ใช่ฝ่าย 'ถูกเลือก' ความเจ็บปวด โกรธแค้นและอับอาย ก็ทำให้เขาลังเล ระหว่างการแปลงความรักเป็นความเกลียดชัง เพื่อจะได้ลืมประสบการณ์ขมขื่นในเวลาอันรวดเร็วกับการเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น แล้วค่อย ๆ ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง พร้อมกับย้อนรำลึกถึงมันด้วยความรู้สึกดี ๆ จดหมายที่โนริโกะเขียนทิ้งไว้ให้ชิโระในตู้ล็อกเกอร์ ก่อนเธอจะจากเขาไป คงเปรียบได้กับภาพถ่ายภูเขาไฟฟูจีของคุณย่าฟูจิโกะ มันคืออนุสรณ์แห่งควาารักที่หลุดลอย และการกระทำใด ๆ ของชิโระต่อเจ้าของสิ่งนั้น ก็จะบ่งชี้ชัดเจนว่า เขาตัดสินใจเลือกทางใดบนถนนสองแพร่งดังกล่าว การไม่ยอมสลัดทิ้งความรักในอดีต ไม่ยอมเผาภาพถ่ายหรือทำลายสิ่งของที่จะทำให้เรารำลึกถึงบุคคลซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รัก ถือเป็นเรื่องน่าสมเพชจริงหรือ.... อาจจะใช่ หากเรายังหลงงมงายอยู่กับความสุขที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมา จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นควาาทุกข์ทรมานเหลือทน แต่เห็นได้ชัดว่า อารมณ์ถวิลหาอดีตของฟูจิโกะ หาได้หยุดยั้งเธอจากการใช้ชีวิตเต็มเปี่ยมกับทุกโมงยามแห่งปัจจุบันการแขวนรูปภูเขาไฟฟูจีไว้บนผนังบาร์เหล้า หรือการเดินทางไปหาจุดกำเนิดของภาพถ่ายนั้น เป็นเพียงบทสดุดีแด่ความงดงามแห่งรัก แด่ผู้ชายคนที่ครั้งหนึ่งเธอเคยทุ่มเทกายใจให้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วความรักดังกล่าวจะไม่ได้ยั่งยืนยาวนาน แต่เธอก็ไม่เคยคิดจะฉุดรั้งมันให้กลายเป็นความเกลียดชัง เพียงเพราะเธอไม่ได้ครอบครองเขาอีกต่อไป คุณย่าฟูจิโกะหาได้น่าสมเพช ที่ยังไม่ลืมความรักในอดีตตรงกันข้าม ความสามารถของเธอที่จะจ้องมองอดีตโดยไม่เสียใจขมขื่น หรือเจ็บแค้น คือบทพิสูจน์ให้เห็นการ 'เติบใหญ่' จนพอจะเข้าใจและยอมรับบทเรียนที่ชีวิตมอบให้ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เธอเลือกลืมความเจ็บช้ำของการไม่ถูกเลือกแล้วจดจำไว้เพียงความประทับใจแห่งช่วงเวลาความสุข และนั่นก็ช่วยให้เธอสามารถก้าวต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยไม่สูญเสียศรัทธาต่อความรัก หรือการมีชีวิต ความเกลียดชังเป็นเรื่องง่าย ส่วนความรักเป็นเรื่องยากต้องใช้เวลาและจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี ดุจเดียวกับการถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจียามพระอาทิตย์ขึ้น ให้ปรากฏเป็นประกายเพชรตรงยอดเขา ซึ่งตามคำบอกเล่าแล้ว สามารถกระทำได้เพียงแค่สองช่วงเวลาในหนึ่งปีเท่านั้น และจะต้องถ่ายจากจุดจำเพาะเจาะจงบางจุด หาใช่จะถ่ายจากจุดไหนก็ได้... โนริโกะรู้สึกถึงห้วงหรรษาแห่ง 'เพชรฟูจี' กับอดีตคนรักของเธอ เช่นเดียวกับที่ชิโระรู้สึกกับโนริโกะ และฟูจิโกะรู้สึกกับทหารหนุ่มจีไอ เสน่ห์ของหนังเรื่อง Suger & Spice อยู่ตรงการเรียงร้อยรายละเอียดของบทภาพยนตร์อย่างละเมียดละไม เชื่อมโยงซับพล็อตและพล็อตหลักให้สอดคล้องกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว โดยไม่พยายามชี้นำจนออกนอกหน้า แต่เพียงสอดแทรกนัยยะให้คนดูรู้สึก แม้ว่าการกำกับของ อิซามุ นากาเอะ ออกจะสะดุดหลุดโทนไปบ้างในช่วงแรก จนทำให้คนดูคาดหวังไปถึงหนังประเภท American Pie ทั้งที่โทนอารมณ์โดยรวมของหนัง โอนเอียงไปทางหวานปนเศร้ามากกว่าตลกโปกฮา ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับหนังไต้หวันแนว Coming of age เรื่อง Blue Gate Crossing ซึ่งบังเอิญมีเฉินป๋อหลินนำแสดงร่วมด้วย นอกจากนี้ นากาเอะยังกดดันคนดูหนักมือไปนิดในบางตอน โดยเฉพาะช่วงท้าย ๆ ซึ่งสามารถตัดออกไปได้เพื่อความกระชับและลุ่มลึกขึ้น ข้อด้อยดังกล่าวดูจะเป็นคุณสมบัติที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในหนังรักวัยรุ่นจากญี่ปุ่น โดยอีกเรื่องที่ชัดเจนมาก คือ Crying Out Love, in the Center of the World ซึ่งถ่ายทอดจุดเริ่มต้นของความรักแบบนุ่มนวล น่าประทับใจ และเต็มไปด้วยรายละเอียดช่างสังเกตที่ยอดเยี่ยม แต่สุดท้ายกลับลากยาวบทจากลาในสไตล์บีบคั้น จนผ่านจุดของความพอเหมาะพอดี โดยภาพรวม Sugar & Spice อาจไม่ลงตัวในระดับเดียวกับ Blue Gate Crossing แต่อย่างน้อยฉากจบของหนัง ก็ดูจะให้ความหวังมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อชิโระกำลังเตรียมพร้อมเปิดรับความรักครั้งใหม่ในวัย 19 ปี แต่คำถามหนึ่งที่อาจค้างคาอยู่ในใจคนดู คือเธอคนนั้นจะเป็น 'เพชรฟูจี' ของเขาหรือเปล่าและเขาจะเป็น 'เพชรฟูจี' ของเธอหรือไม่ เพราะความเท่าเทียมกันในรักนั้น ช่างหาได้ยากเย็นเหลือเกิน นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราทุกคนถึงต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งการพบรักและการพลัดพราก RATING: 2 ดาวครึ่ง ข้อมูลจากนิตยสาร Starpics ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง SUGAR & SPICE จังหวะความรัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook