วิจารณ์หนัง STEP UP วัฒนธรรมยำ (ไม่) แซ่บ

วิจารณ์หนัง STEP UP วัฒนธรรมยำ (ไม่) แซ่บ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มีความเป็นไปได้สูงที่คนดูหนังเรื่องนี้จบแล้วจะมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ทาง นั่นคือ 1) หนังดูได้เพลินดี เพลงเพราะดีฉากเต้นสนุกดี ตัวละครดึงดูดดี และ 2) หนังดูได้เพลินดี เพลงเพราะดีฉากเต้นสนุกดี ตัวละครดึงดูดดี..... แต่หนังไม่ค่อยดี สภาพนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ในเมื่อ Step Up คือหนังซึ่งแสดงเจตนารมณ์อย่างโจ่งแจ้งว่าต้องการขายความบันเทิงระดับง่ายดาย และเผยเป็นนัยซ่อนเร้นว่าไม่ต้องการแผ้วถางทางใหม่ สำหรับโลกภาพยนตร์สักเท่าใดนัก หนังเกี่ยวกับการเต้นตามหาฝันเรื่องนี้ ใช้โครงเรื่องที่สรรค์สร้างกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะพลิกเหลี่ยมผันมุมสักเท่าใดเราก็จะพบว่ามันจะหนีไม่พ้นตัวละครขี้แพ้-มีเหตุให้พบจุดพลิกผันในชีวิต-พบรัก-ต่อสู้ดิ้นรน และแน่นอน การก้าวถึง (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เฉียดใกล้) ความฝัน หากเทียบกับหนังที่เข้าฉายในระยะหลัง ๆ มานี้ หลายคนอาจจะนึกถึงงานอย่าง Take the Lead, Save the Last Dance ไปกระทั่งถึง 8 Miles สำหรับ Step Up แล้ว สิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้พอจะมีเอกลักษณ์และจำแนกแยกความแตกต่างจากเรื่องอื่นได้บ้าง ได้แก่ประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงคลื่นลูกล่าสุดแห่งชีวิตผู้คนร่วมสมัย ในฉากเปิดของหนัง เราจะพบการเกริ่นนำเรียกน้ำย่อยก่อนเปิดตัวละคร ด้วยการนำเสนอภาพการเต้นอย่างเร้าใจแบบสตรีทแดนซ์ (เต้นข้างถนน) ตัดสลับกับการเต้นอนุรักษ์นิยมแบบบัลเล่ต์ สองรูปแบบการแสดงนี้แม้จะมีช่องว่างถ่างจากกันในโลกของนามธรรมทว่าถูกเชื่อมโยงร้อยรัดอย่างสนิทแนบแน่นด้วยจังหวะการลำดับภาพ แสง สี เสียงอันตระการตา มันเผยอุดมการณ์หลักของผู้สร้างที่ต้องการสะท้อนออกมาว่า ต่อไปนี้คือเรื่องของการผสมผสานระหว่างสิ่งที่แตกต่างสุดขั้ว ให้หลอมรวมอยู่ด้วยกันได้อย่างงดงาม ความแตกต่างนอกเหนือจากรีวิวประกอบเพลงแบบสตรีทแดนซ์ VS บัลเล่ต์ แล้ว ยังมีหนุ่มกุ๊ย VS สาวมีกะตังค์ และคนผิวขาว VS คนผิวดำ ซึ่งทุกอย่างสามารถปรองดองกันได้ราวกับอุดมคติ พระเอกของเรื่อง ไทเลอร์ (หนุ่มสุดล่ำ แชนนิ่ง ทาทั่ม) คือกุ๊ยผิวขาวผู้เชี่ยวชาญการเต้นข้างถนนเป็นยิ่งนัก เขาคบหาเพื่อนผิวสีและขลุกอยู่กับสังคมคนดำพวกเขาปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปวัน ๆ กับการเล่นพนัน บาสเก็ตบอล และขโมยรถส่งเอเย่นต์ แล้ววันหนึ่งไทเลอร์ก็ถูกจับในข้อหาทำลายทรัพย์สิน จนถูกตัดสินให้ไปทำงานชดใช้ในโรงเรียนสอนศิลปะ ณ ที่นี่ เขาได้พบกับ นอร่า (สาวตาคม-เจนน่า เดวาน) นักเรียนบัลเล่ต์ก่อนจะสร้างตำนานรัก และฝ่าฟันอุปสรรคไปจนถึงท้ายเรื่องได้สำเร็จ สิ่งที่หนังดูเหมือนต้องการตอกย้ำก็คือ 'การไม่ท้อถอยต่อความฝัน' เราจะพบไทเลอร์ละทิ้งภารกิจช่วยนางเอกในการเต้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็หวนกลับคืนมา เพราะมันเป็นความฝันหนึ่งของเขา เช่นเดียวกับนางเอกที่ถูกพระเอกทอดทิ้งให้สิ้นหวังกับการแสดงครั้งสำคัญนับครั้งไม่ถ้วนแต่เธอก็ไม่ย่อท้อ ขณะที่ในส่วนความสัมพันธ์ว่าด้วยเพื่อนนั้น หนังสอดไส้ประเด็นมิตรภาพพังทลาย ว่าด้วย 'การใช้ประโยชน์และถีบหัวส่ง' เพื่อระบุทัศนะคติต่อตัวละครแบบโต้ง ๆ ว่าคนประเภทนี้ไม่น่าคบหา และพระเอกของเราต้องไม่เป็นเยี่ยงนั้นฃ ทุกอย่างดำเนินและคลี่คลายได้ด้วยดี ราวกับใครสักคนมีเวทย์มนต์ เมื่อตัวละครหนุ่มของเราทำผิดพลาด เขาก็จะได้รับโอกาสครั้งแล้วครั้งเล่า ๆๆๆๆ ฯลฯ etc. จนมะงุมมะงาหรามาถึงฝั่นฝันจนได้ ส่วนเรื่องหัวใจก็แก้ไม่ยาก ต่อให้นางเอก (และเพื่อนนางเอก) มีเจ้าของอยู่แล้วหมอนั่นก็ย่อมประพฤติตนเลวทรามสักอย่างและปล่อยเธอหลุดมือไป จนกระทั่ง พระเอก (และเพื่อนพระเอก) เข้ามาเยียวยารักษาใจได้อย่างสะดวกโยธิน ความมหัศจรรย์ดังกล่าว (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนละ 'มหัศจรรย์' กับศาสตร์ภาพยนตร์) ถูกตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนังหลายต่อหลายเรื่องจนกลายเป็นมายาคติชนิดหนึ่ง เราถูกทำให้เข้าใจว่าโลกต้องเป็นเยี่ยงนี้จริง ๆ ('เมื่อคุณพยายามคุณย่อมสำเร็จ'....'เพื่อนย่อมไม่ทิ้งเพื่อน'.....'โอกาสมีให้แก่ทุกคนเสมอ'.....'รักแท้ย่อมไม่แพ้อุปสรรค' เป็นต้น) ซึ่งถ้าหากใครรู้เท่าทันสักหน่อยก็จะพบว่า หากหนังนำเสนอเช่นนี้เมื่อไร มันแปลว่าโลกแห่งความจริงอาจเป็นตรงกันข้าม (ขออภัยสำหรับคนมองโลกในแง่ดีมา ณ ที่นี้ด้วย) การหลอมรวมของวัฒนธรรมชนชั้นล่าง (สตรีทแดนซ์) กับชนชั้นสูง (บัลเล่ต์) คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของทัศนะผู้สร้างที่มีต่อโลกยุคปัจจุบัน โลกของ Step Up คือโลกที่แนวคิดของนักวิชาการสายวัฒนธรรมต่างยุคสมัย ถูกนำมาจัดเรียงเข้าด้วยกันอย่างชื่นมื่น ไล่ตั้งแต่ วัฒนธรรมชั้นสูงของแมทธิว อาร์โนลด์ (บัลเล่ต์) การต่อสู้ทางวัฒนธรรมใหม่ของฟิล โคเฮน (สตรีทแดนซ์) ไปกระทั่งถึงแนวคิดระดับอุดมการณ์ของหนังเรื่องนี้ นั่นคือการผสมผสานวัฒนธรรมวัยรุ่นของดิ๊คเฮบดิจ (สตรีทแดนซ์ + บัลเลต์) ซึ่งจะทำให้เหล่านักประนีประนอมนิยมดูหนังได้อย่างมีความสุข หนังเริ่มจากความขัดแย้งในระยะเริ่มแรก ชนชั้นล่าง (คือพวกของพระเอก) บุกเข้าไปในโรงเรียนศิลปะ และนำเอาอุปกรณ์ประกอบฉากอันหรูหราสง่างามบนเวทีละครมาล้อเลียน และทำลายทิ้งอย่างเมามันต่อมาบรรดาผู้ใหญ่และผู้บริหารของสถาบันแห่งนี้ต่างมองเหล่าเด็กเกเรด้วยสายตาดูแคลน และตีค่าพวกเขาไว้ต่ำสุดขีดในระดับใกล้เคียงกับวรรณะจัณฑาล ตอนนี้เราจะเห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็มีกำแพงวัฒนธรรมกั้นกลางระหว่างกัน ทว่าต่อมาทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย พระนางจากสองวัฒนธรรม ก็เริ่มสอนการเริงระบำในแบบตนเองให้แก่อีกฝ่าย (พระเอกสอนสตรีทแดนซ์ให้นางเอก ส่วนนางเอกก็สอนบัลเล่ต์ให้พระเอก) จากนั้น ทุกอย่างก็ลงตัว นักสังคมศาสตร์ที่นั่งดูหนังเรื่องนี้ อาจจะยิ้มที่มุมปากเล็กน้อย เพราะทุกอย่างช่างเดินตามรอยสังคมยูโทเปีย ในอุดมคติ ราวกับเป็นการประชดประชัน อย่างไรก็ดี เนื้อหาสาระในหนัง หรือในที่นี้คือประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ต่อให้ดูดีเลิศ สูงส่งปานใด ทว่าเมื่อถูกถ่ายทอดในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวเยี่ยงภาพยนตร์แล้ว หากมันแล้วไร้ซึ่งความหนักแน่นน่าเชื่อถือ ก็ย่อมไม่มีความสลักสำคัญอันใด ออกจะโชคร้ายเสียหน่อยที่ Step Up ขันองค์ประกอบในเรื่องเข้าด้วยกันอย่างหลวม ๆ จนจำเป็นต้องให้คนดูเอาใจช่วย และแกล้งลืมเลือนจุดบกพร่องอย่างมากมายหรือบางจังหวะก็ถึงขั้นต้องจินตนาการเสริมเอาเองว่า "มันคงจะ....ล่ะมั้งมันถึงได้....แบบนั้น" โดยรูโหว่ประการสำคัญล้วนกองสุมอยู่ที่การพัฒนาพล็อตเรื่อง-ตัวละคร และความสมเหตุสมผลของเรื่องราวทั้งหมด ดังที่กล่าวไปแล้ว หนังมีฉากเปิดที่เป็นการเต้นสตรีทแดนซ์ สลับกับการเต้นบัลเล่ต์ พอล่วงเลยมาถึงฉากปิด เป็นการรวมรูปแบบการเต้นทั้งสองให้มาอยู่ในชุดเดียวกัน หรือพูดง่าย ๆ ว่า 2 Become 1 และดูกลมกลืนกลมกล่อมอย่างหาที่เปรียบมิได้ กล่าวได้ว่ามันคือการแสดงถึงทัศนะต่อโลกสมัยหใหม่ว่า พรมแดนของสิ่งต่าง ๆ ล้วนลางเลือน สรรพสิ่งย่อมต้องถูกดูดเข้าหากัน เขย่าคน และหลอมออกมาเป็นสิ่งใหม่ (ซึ่งองค์ประกอบไม่ใหม่) ถ้าเราตัดสิน Step Up เฉพาะฉากการเต้น และวาทกรรมของเรื่อง มันคงไม่แคล้วกลายเป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปีแน่นอน ทว่าความเพลิดเพลินดังกล่าวกลับซ่อนสุมอำพรางฐานรากอันเปราะบางอย่างมิดชิด และหากเราใช้หลักเหตุผลมาขบคิดเกี่ยวกับหนังเมื่อใด ความอ่อนแอของมันก็ปรากฏชัดแจ้ง คำถามมากมายเกิดขึ้นระหว่างเรื่องดำเนินไป อาทิ มันเป็นเรื่องของพระเอกผู้ด้อยโอกาส ทว่าเขากลับทอดทิ้งโอกาสไปครั้งแล้วครั้งเล่า และทุกครั้งที่เขากลับมา อีกฝ่ายก็มักจะหยิบยื่นให้โอกาสอีก ราวกับคำสัญญาครั้งก่อนไม่มีความหมายใด ๆ กระทั่งยามที่อีกฝ่ายต้องการเขาแบบสุด ๆ เขาก็ไม่โผล่หน้ามา.... แต่สุดท้ายเขาก็ได้โอกาสอีก ราวกับคำว่าโอกาสเป็นนิรันดร์, ตัวละครในเรื่องนี้มีปัญหาขัดแย้งกันตามธรรมชาติ แต่จู่ ๆ ก็กลับสะสางปัญหา และเข้าอกเข้าใจกันได้อย่างรวดเร็วเหมือนกดปุ่มเลือกฉากในดีวีดีได้, เพื่อนผิวดำนักบาสเกตบอลของพระเอก ถูกวางเงื่อนไขตามล่าความฝันด้วยบาสเกตบอล และเมื่อถึงวิกฤตของชีวิต เขาก็ฮึกเหิมจะต่อสู้เพื่อน้องชายของเขา ทว่าเราก็ไม่ได้เห็นอีกเลย ว่าพี่หมึกของเราจะต่อสู้อะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร (คาดว่าคงต่อสู้อะไรสักอย่างหลังหนังจบ แล้วกระผมจะรู้ไหมครับ) เป็นต้น อันที่จริง หากมองอย่างเป็นธรรมแล้ว ต้องนับว่าผู้กำกับหญิงของเรื่องนี้ แอนน์ เฟล็ทเชอร์ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบท่าเต้น สามารถกำกับฉากร้องรำทำเพลงได้ดี แต่กระนั้น ความละเดียดอ่อนในการยักย้ายส่ายสะโพกกลับยิ่งเพิ่มความอ่อนด้อยให้กับฉากที่เหลือนอกจากนั้นไปโดยปริยาย กล่าวได้ว่าการสอดผสานลงตัวของวัฒนธรรม และการเต้นรำในเรื่อง ไม่ได้ช่วยให้หนังสอดผสานลงตัวแต่อย่างใด หากจะโทษ ก็ควรจะโทษบทภาพยนตร์เป็นลำดับแรก (และใครสักคนควรจะบอก แชนนิ่ง ทาทั่ม ว่าน่าจะเจียดเอาเวลาเพาะกล้ามไปเรียนการแสดงผ่านสีหน้าด้วยจะดีมาก) วัฒนธรรมบนโลกนี้กำลังอยู่ในกระบวนการยำใหญ่เข้าด้วยกัน มันจะแซ่บหรือไม่แซ่บ ขึ้นอยู่กับบริบทรายล้อมในพื้นที่นั้น ๆ สำหรับชุมชนตัวละครใน Step Up การหลอมรวมครั้งนี้ถือว่าน่าพอใจ วิถีชีวิตของชนชั้นล่างและสูงที่ถูกนำเสนอผ่านการเต้นแบบประสมนั้น ดูเร้าใจและลงตัวยิ่งนัก ยิ่งเมื่อนำเอาแนวคิดเกี่ยวกับมายาคติที่ยัดเยียดผ่านชะตากรรมตัวละครให้เราเห็นว่าโลกมันต้องเป็นเช่นนั้นจริง ๆ (ซึ่งไม่จริงเสมอไป) มาวิเคราะห์แล้ว จะเห็นว่าเนื้อหาสาระของหนังนั้นเหมาะแก่การนำเป็นตัวอย่างชั้นดี ด้านการหลอมรวมทางวัฒนธรรมยุคล่าสุด แต่หากจะนำเป็นตัวอย่างของการนำเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ทางภาพยนตร์ อาทิ บทหนัง การแสดง หรือการกำกับ มายำรวมกันอย่างสอดคล้องลงตัวแล้ว ลองไปหาเรื่องอื่นดู จะดีกว่าไหม RATING: 2 ดาว ข้อมูลจากนิตยสาร Starpics ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง STEP UP วัฒนธรรมยำ (ไม่) แซ่บ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook