THE BANQUET เมื่อแฮมเล็ตสำแดงวรยุทธ์

THE BANQUET เมื่อแฮมเล็ตสำแดงวรยุทธ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หากความเป็นอมตะของงานศิลปะวัดได้จากความยืนยงเหนือกาลเวลา ผลงานวรรณกรรมของมหกวีอย่าง วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ ก็คงได้รับการพิสูจน์และผ่านการตรวจสอบอยู่หลายต่อหลายครั้งว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปเนิ่นนานสักเพียงใดผลงานเหล่านั้นกลับมิได้เสื่อมความนิยมลงไปเลยแม้แต่น้อยหากแต่ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวขาน ตีความ ดัดแปลง และเพิ่มมุมมอง ให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้สัมผัสและซาบซึ้งไปกับบทประพันธ์ที่รังสรรค์ขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนอยู่เนือง ๆ ในฟากฝั่งของผลงานแนวโรแมนติก คงไม่มีเรื่องไหนโดดเด่น และเป็นที่คุ้นเคยมากไปกว่า Romeo and Juliet ค่าที่มันถูกนำกลับมาทำซ้ำอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งในรูปแบบของหนังและละครหรือแม้กระทั่งการตัดทอนเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของเรื่องขึ้นมากล่าวถึง จนแทบจะทำให้ Romeo and Juliet กลายเป็น 'แม่แบบ' ของเรื่องราวแห่งความรักทั้งมวล แต่หากหันกลับมามองงานในฝั่งโศกนาฏกรรมดูบ้าง ผลงานที่ควรค่ากับการยกย่องให้เป็น 'ต้นฉบับ' ของเรื่องราวในแนวนี้มากที่สุด คงเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก Hamlet เรื่องราวที่มีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับกิเลสตัณหาการหลอกลวง การทรยศหักหลัง ความคับแค้น และคลุ้มคลั่งอันนำไปสู่เหตุการณ์ที่น่าเศร้าในตอนท้าย โศกนาฏกรรมของแฮมเล็ต มีเนื้อเรื่องที่ยืดยาว เนิบนาบเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยสลับซับซ้อนและลุ่มลึก เปิดช่องทางให้เกิดการตีความกันอย่างกว้างขวางและหลากหลายนั่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก ที่ผู้กำกับหนังหลายคนจะนำเรื่องราวของแฮมเล็ตมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มด้วยมุมมองความคิดที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ปวารณาตัวเป็นศิษย์เช็คสเปียร์ในยุคเก่าแก่และดั้งเดิม อย่าง เซอร์ลอเรนซ์ โอลิเวียร์ หรือที่ร่วมสมัยขึ้นมาบ้าง อย่าง เมล กิ๊บสัน, เคนเน็ธ บรานาห์ ไปจนถึง ไมเคิล อัลเมเรย์ดา ผู้มาพร้อมกับ Hamlet ฉบับปี 2000 ที่มี อีธาน ฮอว์ก รับบทเป็นเจ้าชายแฮมเล็ตที่วิปริตผิดเพี้ยนเป็นที่สุด เนื่องจากเนื้อเรื่องถูกดัดแปลงไปจากเดิมอย่างอักโขทำให้โศกนาฏกรรมของเขาเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันโดยมีมหานครนิวยอร์คที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าเป็นฉากหลัง แต่ถึงกระนั้นเราอาจกล่าวได้ว่านี่คือบทพิสูจน์ถึงความเป็นสากลครั้งสำคัญของผลงานวรรณกรรมเอกของเช็คสเปียร์ เรื่องนี้ ทว่าการตีความแฮมเล็ตคงยังไม่สิ้นสุดลงเพียงเท่านั้นล่าสุด ผู้กำกับแดนมังกร เฝิงเสี่ยวกัง ได้นำเรื่องของเจ้าชายแฮมเล็ตกลับมาเล่าขานอีกครั้งในแบบที่ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อนในหนัง The Banquet ความพิเศษของแฮมเล็ตฉบับนี้ คือความพยายามในการพิสูจน์ให้เห็นว่า นอกจากวรรณกรรมเรื่องนี้จะมีคุณค่ายั่งยืนเหนือกาลเวลาแล้ว ความดีเด่นของมันยังแผ่ไพศาลจนไร้ขอบเขตจำกัดของสถานที่อีกด้วย จึงนับเป็นความแปลกใหม่ที่ได้เห็นบทละครแห่งยุคเอลิซาบีธัน จากฟากโลกตะวันตก ไปเผยโฉมเป็นเรื่องราวในแบบศึกชิงบัลลังก์ อันเป็นแนวทางที่คุ้นเคยกันดีสำหรับเรื่องเล่าในฝั่งโลกตะวันออก นี่คือภาระอันท้าทายยิ่งของผู้สร้าง ที่จะต้องดัดแปลงเรื่องราวที่มีความแตกต่าง ทั้งในแง่ของเวลา สถานที่ ฉากหลัง รวมถึงพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของตัวละคร ให้ดำเนินไปอย่างเนียนสนิทกับแก่นสาระที่ปรากฏในบทประพันธ์ต้นฉบับขณะผู้ชมเองก็ได้รับความสนุกสนานไม่น้อยกับการมีส่วนร่วมในการตีความ ขบคิด และจับสังเกตถึงรายละเอียดของหนังที่เปลี่ยนแปลงไปจากวรรณกรรม รวมถึงการทำความเข้าใจว่า ผู้สร้างกำลังพยายามบอกอะไรกับเรา และทำไมเขาจึงเลือกที่จะบอกกล่าวด้วยวิธีนี้ มันเป็นเหมือนการสื่อสารกันระหว่างผู้สร้างและผู้ชมที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เมื่อฉากหลังของเรื่องราวเปลี่ยนแปลงไป ความสับสนวุ่นวายในการสืบทอดอำนาจของราชอาณาจักรเดนมาร์ค จึงถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นการช่วงชิงความเป็นใหญ่ในบัลลังก์ของราชวงศ์จีน ในยุคสมัยที่บ้านเมืองายังแตกกระสานซ่านเซ็น ผู้คนต่างกระหายที่จะครอบครองอำนาจ แผ่นดินจีนเต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟันและทรยศหักหลัง เพื่อที่ตนจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ ผู้ชมที่พอจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของแฮมเล็ตอยู่บ้าน น่าจะเห็นพ้องว่ามันเป็นการดัดแปลงบทประพันธ์ดั้งเดิมที่สอดคล้องและลงตัวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ในภาคต้นฉบับของเช็คสเปียร์นั้น เจ้าชายแฮมเล็ตถูกเรียกตัวให้กลับวังเอลซินอร์ ขณะยังคงศึกษาร่ำเรียนอยู่ต่างถิ่น ด้วยเหตุที่พระราชบิดาถูกลอบปลงพระชนม์ และข่าวลือก็แพร่สะพัดไปว่าผู้ลงมือสังหารนั้นไม่ใช่ใครอื่นไกล หากแต่เป็นคลอเดียส พระเจ้าอาของแฮมเล็ต ผู้สถาปนาตนเป็นพระราชาองค์ใหม่ ซ้ำร้าย อดีตราชินีเกอร์ทรูด ผู้เป็นพระราชมารดาของแฮมเล็ต ยังยอมอภิเษกไปกับพระราชาคลอเดียสเสียอีก ยังความคับแค้นใจแก่เจ้าชายแฮมเล็ตเป็นอันมากทำให้เขาต้องคิดหาทางสังหารคลอเดียส เพื่อล้างแค้นให้แก่พระราชบิดา แต่ก็นั่นแหละปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวแฮมเล็ตก็คือ จนแล้วจนรอด เขายังไม่กล้าตัดสินใจ และเพราะเหตุนี้ทำให้ชีวิตของเขา พร้อมทั้งผู้คนรอบข้าง ต่างก็ต้องพบกับจุดจบอันน่าเศร้าอย่างถ้วนทั่ว อย่างไรก็ตาม จากการตีความใหม่ของผู้สร้าง ทำให้ The Banquet มีเนื้อหาบางประการที่แตกต่างไปจากต้นฉบับเดิม การดัดแปลงดังกล่าวส่งผลให้ความคิดและการกระทำของตัวละครมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หนังปรับเปลี่ยนบทบาทของเกอร์ทรูด จากแม่แท้ ๆ เป็นแม่เลี้ยงแถมยังเป็นแม่เลี้ยงที่เคยเป็นคนรักเก่าของลูกเลี้ยงอย่างแฮมเล็ต เสียอีก เพียงเท่านี้ หนังก็เพิ่มความขัดแย้งให้กับเรื่องราวและตัวละครได้อย่างมากมายมหาศาล มันเป็นการเพิ่มปมเกี่ยวกับความรักและความลุ่มหลงหลายซับหลายซ้อน ซึ่งทำให้ตัวละครของแฮมเล็ตที่อยู่ภายใต้สภาวะกดดันอยู่แล้ว น่าสงสารและอาภัพมากขึ้นไปอีก ขณะที่เกอร์ทรูดซึ่งจากเดิมมีลักษณะเป็นผู้หญิงหัวอ่อน ปล่อยตัวไปตามแต่สถานการณ์จะพาไป ก็ดูจะมีบทบาทเป็นจอมบงการผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด ส่วนคลอเดียสฉบับใหม่ ก็ไมใช่แค่ผู้ร้ายที่ลอบฆ่าพี่ชายเพื่อหวังอำนาจเท่านั้น หากแต่เป็นผู้ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อความรัก แม้กระทั่งปลิดชีพตัวเองก็ยังยอม ด้วยปมปัญหาจากความผิดหวังในความรักนี้เองทำให้องค์ชายรัชทายาท หวู่ล่วน (แดเนี่ยลวู) เลือกที่จะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขาอันเงียบสงบปลอบประโลมความขุ่นมัวของจิตใจด้วยศิลปะการแสดงภายใต้หน้ากากไร้อารมณ์สีขาวบริสุทธิ์ แต่แล้วเมื่อเสด็จพ่อเสด็จสวรรคตและเมื่อคณะละครของเขาถูกซุ่มโจมตี หวู่ล่วนจึงต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดในอดีตที่รอคอยอยู่ในวังหลวง ฮองเฮาหว่าน (จางจื่อยี่) อดีตคนรักผู้กลายเป็นแม่เลี้ยงของเขา เปลี่ยนสถานภาพของตัวเองอีกครั้ง ด้วยการตอบตกลงเป็นฮองเฮาของ ฮ่องเต้หลี่ (เก่อโยว) ผู้เป็นอาขององค์ชายหวู่ล่วน และเป็นผู้ที่เขาปักใจเชื่อว่าเป็นฆาตกรสังหารเสด็จพ่อของเขานั่นเอง เช่นเดียวกับแฮมเล็ต เราได้เห็นองค์ชายหวู่ล่วนหมดเวลาไปกับการหมกมุ่นครุ่นคิดที่จะสังหารฮ่องเต้องค์ใหม่ แต่กลับไม่สามารถทำอะไรได้สักที แม้จะมีโอกาสอยู่ก็หลายครั้ง หนังไม่ได้ให้ตัวละครของหวู่ล่วนพร่ำพรรณาวรรคทองของบทละครเรื่องนี้ ที่ขึ้นต้นว่า "To be or not to be, that is not the question." แต่ถึงกระนั้น พฤติกรรมการแสดงออกขององค์ชายก็ยังคงสามารถอธิบายได้ด้วยประโยคที่ว่านี้ นั่นคือหากคิดจะทำอะไร ก็ลงมือทำสักอย่างเถิดการจะอยู่หรือตายนั้นไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาอยู่ที่การไม่ยอมทำอะไรเสียทีนั่นต่างหาก ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผู้ชมที่ติติงว่าเหตุใดหนังกำลังภายในเรื่องนี้จึงมีฉากต่อสู้น้อยนัก ควรเห็นใจเขาเสียบ้างเพราะลำพังการต่อสู้กับความคิดของตัวเองก็แทบจะทำให้องค์ชายรัชทายาทของเราสติแตกอยู่รอมร่ออยู่แล้ว! ในทางกลับกัน หนังได้เจียระไนบทของฮองเฮาหว่านเสียใหม่ให้เป็นผู้อยู่ในขั้วตรงข้ามกับองค์ชายหวู่ล่วนอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการกำหนดให้นางเป็นผู้ที่มีความชัดเจนในความคิดและการกระทำเป็นอย่างมาก ฮองเฮาหว่านมีนิสัยโลภโมโทสันและโหยหาอำนาจอย่างยากที่จะหาผู้ใดมาเปรียบ ตัวนางเองไม่เคยปิดบังความต้องการในส่วนนี้ไม่ต้องสงสัยหรอกว่า ในบรรดาผู้ชายสามคน อันได้แก่ องค์ชายหวู่ล่วน, เสด็จพ่อ และเสด็จอาของเขา ฮองเฮาหว่านมีใจให้กับใครคนไหนมากที่สุดแต่แล้วนางก็ตัดสินใจแต่งงานครั้งแรกกับเสด็จพ่อ และครั้งที่สองกับเสด็จอา แทนที่จะเป็นหวู่ล่วน ซึ่งดูเหมาะสมและคู่ควรกับนางมากกว่าหลายขุม เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ สองคนนั้นเป็นฮ่องเต้ผู้ครองแผ่นดิน ซึ่งย่อมต้องมีอำนาจมากกว่ารัชทายาทผู้ฝักใฝ่ในการละครอย่างองค์ชายหวู่ล่วน เป็นไหน ๆ สิ่งดีที่สุดที่ฮองเฮาหว่านพอจะทำให้หวู่ล่วนได้ก็คือ การส่งเสริมและผลักดันให้หวู่ล่วนช่วงชิงบัลลังก์คืนมาจากเสด็จอา (แต่นั่นก็เพื่อที่นางจะได้เป็นฮองเฮาของหวู่ล่วนอีกทีหนึ่ง) แต่เมื่อเห็นว่าความเฉื่อยชาของหวู่ล่วนคงไม่สามารถทำให้แผนการนี้บังเกิดความสำเร็จนางจึงคิดแผนการใหม่ที่จะขึ้นเถลิงอำนาจเป็นฮ่องเต้หญิงเสียเอง ฮองเฮาหว่านกับองค์ชายหวู่ล่วนถกเถียงกันถึงประเด็นนี้ อันเป็นการตอกย้ำแก่นของเรื่องที่ว่าด้วยการหลอกลวงและการทรยศหักหลังที่เช็คสเปียร์เขียนไว้ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก โดยองค์ชายหวู่ล่วนให้เหตุผลถึงการใส่หน้ากากในการแสดงของเขาว่า การซ่อนหน้าไว้ภายใต้หน้ากาก จะทำให้เขาเข้าถึงการแสดงอย่างแท้จริง แต่ฮองเฮาหว่านตอบกลับชนิดที่เล่นเอาองค์ชายการละครอย่างหวู่ล่วนเถียงไม่ออกว่าการใช้ใบหน้าจริง ๆ แทนหน้ากากต่างหากที่ถือเป็นสุดยอดแห่งการแสดง ซึ่งก็เห็นจะเป็นจริงตามนั้น เพราะถึงแม้ว่าฮองเฮาหว่านไม่เคยสวนหน้ากาก แต่นางก็ใช้ใบหน้าของตัวเองปกปิดสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจได้ตลอดเวลา ซึ่งนั่นไม่ได้ต่างจากตัวละครอื่น ๆ อีกมากมายในเรื่อง ที่ปรับตัวและสอพลอได้อย่างเก่งกาจ เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ คนเหล่านี้ต่างเล่นละครตบตาผู้อื่นในชีวิตประจำวันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั่นเป็นเพราะพวกเขาต่างตระหนักดีว่า หากมัวแต่ทำตัวเถรตรง แสดงออกตามความรู้สึกที่แท้จริงไม่แคล้วพวกเขาคงต้องโดน 'ประหารเจ็ดชั่วโคตร' ดังเช่นที่ขุนนางเฒ่าผู้จงรักภักดีกับฮ่องเต้องค์ก่อน เจอเข้าให้ สภาพสังคมที่เป็นอยู่จึงเป็นความโหดร้ายสำหรับผู้ที่แสวงหาความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากาก อย่างองค์ชายหวู่ล่วน โลกของเขาเป็นโลกในอุดมคติที่งดงามและบริสุทธิ์เกินกว่าจะรับมือกับบรรดาผู้คนที่เสแสร้งเป็นกิจวัตรเหล่านี้ ชีวิตของหวู่ล่วนเหมาะจะเสพสุขอยู่ในโรงละคร ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร อย่างที่เป็นมาแต่แรก และผู้หญิงที่เหมาะกับเขาก็ไม่น่าจะเป็นฮองเฮาหว่าน ผู้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานไม่มีที่สิ้นสุดแต่ควรเป็นคนอย่าง ฉิงหนิว (โจชวิ่น) บุตรีของเสนาบดี ที่มีความเชื่อมั่นในรักแท้ที่นางมีให้แก่องค์ชายหวู่ล่วน แต่นั่นก็ดูจะเป็นความคิดของผู้ที่อ่อนเดียงสา จนไม่อาจอยู่ร่วมกับโลกแห่งความจริงที่โหดร้ายนี้ได้ อย่างไรก็ตาม บทสรุปของโศกนาฏกรรมเรื่องนี้ ไม่ได้ให้ท้ายหรือส่งเสริมผู้ที่มีความคิดอาฆาตมาดร้ายที่ต้องการช่วงอำนาจและความเป็นใหญ่ หากแต่เป็นการสรุปให้เห็นถึงสัจธรรมแห่งชีวิตที่ทุกคนย่อมหลีกไม่พ้น นั่นคือ ไม่ว่าจะชั่วดีมีจนอย่างไรต่ำต้อยติดดินหรือมีอำนาจล้นฟ้าขนาดไหน มนุษย์ทุกผู้ทุกคนก็คงหลีกไม่พ้นจุดจบ คือ การดับสูญ อย่างไรก็ตาม หนังได้ทิ้งเงื่อนงำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกสงสัยอยู่ครามครันว่ามือดาบคนสุดท้ายคือใครกันแน่ (ภายหลังจากเกมช่วงชิงอำนาจนี้ปลิดชีวิตตัวละครคนแล้วคนเล่า) ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันก็เหมือนกับคำถามปลายเปิด ที่มีช่องว่างไว้สำหรับให้ผู้ชมร่วมขบคิด และแสวงหาคำตอบกันไปต่าง ๆ นานา โดยไม่มีใครผิดหรือถูก เพราะไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับคำถามนี้ ผู้ชมแต่ละคนอาจมีคำตอบของตัวเองแตกต่างกันไปในขณะที่ตัวผู้กำกับเองอาจยังไม่รู้เลยก็เป็นได้ แต่หากย้อนอดีตได้ และนำข้อสงสัยนี้ไปถามเจ้าของบทประพันธ์อย่างเช็คสเปียร์ (ซึ่งเรื่องแฮมเล็ตของเขาไม่ได้จบลงอย่างค้างคาแบบนี้หรอกนะ) ท่านมหากวีผู้นี้อาจหัวเราะออกมาอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับให้ความกระจ่างว่า ผู้ใดก็ตามที่มีความอยากในอำนาจต่างก็สามารถเป็นผู้ลงมือสังหารได้ทั้งนั้น และยังอาจกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า และเพราะเหตุนี้อย่างไรเล่า แฮมเล็ตของข้าพเจ้าจึงคงความเป็นอมตะไม่มีวันตาย!!! RATING: 3 ดาว ข้อมูลจากนิตยสาร Starpics ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ THE BANQUET เมื่อแฮมเล็ตสำแดงวรยุทธ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook