วิจารณ์ The Karate Kid

วิจารณ์ The Karate Kid

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ใครจะไปคิดว่า ภาพยนตร์เรื่อง The Karate Kid ภาพยนตร์ที่โด่งดังสุดๆ เมื่อปี 1984 หรือประมาณ 26 ปีที่แล้ว จะถูกนำกลับมาสร้างใหม่ใน ปีพ.ศ.นี้โดยเมื่อครั้ง The Karate Kid ในเวอร์ชั่นเก่านั้นได้ ราล์ฟ มักซิโอ มาแสดงเป็นตัวเอก และทำให้เขาเป็นที่จับตามองในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ไฟแรงส่วนบทของอาจารย์ มิยางิ ที่รับบทโดย แพต โนริตะ ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงชายสมทบยอดเยี่ยมอีกด้วย The Karate Kid ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ เปลี่ยนฉากต่อสู้จากอเมริกามาอยู่ที่ประเทศจีนแทน และบางคนอาจจะสงสัยว่า ในเรื่องมันเป็นกังฟูชัดๆเลย แล้วทำไมยังตั้งชื่อว่า คาราเต้ อีก ครับ ภาคนี้เปลี่ยนการต่อสู้มาเป็นกังฟู แต่สาเหตุที่ยังใช้ชื่อเดิมก็เพราะว่า เป็นการให้เกียรติกับฉบับดังเดิม สำหรับ The Karate Kid ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ใครจะรู้บ้างว่า คุณพ่อวิล สมิธ และคุณแม่ จาด้า พินเกตต์ สมิท รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง เรียวว่าออกเงินให้ลูกได้เล่นหนังว่าอย่างนั้นเถอะ โดยได้ แฮโรลด์ ซวอร์ต (Harald Zwart) ผู้ที่เคยผ่านงานกำกับมาแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง The Pink Panther 2 มากำกับให้ และสำหรับคนเขียนบท ไมเคิล ซอคซิโอ (Michael Soccio) ผมขอชมจากใจจริงๆ ว่าเขียนบทได้เก่งมากอุดช่องโหว่ได้เนียนมาก ไม่มีเหลือให้เห็นเลย ทุกเหตุการณ์ในเรื่องนี้มีเหตุและผลของมันอย่างลงตัวพอดี มีบทดราม่า มีบทแอ็คชั่น มีเรื่องของครอบครัว มีเรื่องของกีฬา มีเรื่องของการ สุข เศร้า เหงา ทุกข์ สนุก เฮฮา ไว้อย่างครบถ้วน เขาเขียนได้เก่งจริงๆ ครับ ถ้าภาพยนตร์แอ็คชั่นของไทยเรา มีคนเขียนบทเก่งๆอย่างนี้บ้างก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ The Karate Kid เป็นเรื่องราวของ เด็กชายวัย 12 ขวบ เดร ปาร์กเกอร์ (เจเดน สมิธ) หนุ่มน้อยจากเมืองดีทรอยต์ประเทศอเมริกาที่ต้องย้ายตาม คุณแม่ของเขา(ทาราจิ พี. เฮนสัน) มาอยู่ยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่นี่เดรได้เจอกับ เหม่ยอิง (ฮันเหวินเหวิน) นักไวโอลินสาว ที่กำลังจะลงสมัครคัดเลือกตัวเพื่อเข้าสถาบันดนตรีปักกิ่งอยู่ และ เชง อันธพาลประจำโรงเรียนที่คอยรังแกเดรอยู่เสมอ แต่แล้วโชคชะตาก็เข้าข้าง เมื่อคนดูแลตึก ฮัน(เฉินหลง)เริ่มฝึกฝนกังฟูให้กับเดร และฮันก็สอนเดรให้รู้ว่ากังฟูไม่ได้มี แค่การเตะต่อยเท่านั้น เดรจึงตระหนักได้ว่าการประจันหน้ากับเหล่าเด็กเกเรครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ที่สำคัญในชีวิตของเขา ก่อนที่ เจเดน สมิธ (Jaden Smith) จะมาเล่นเรื่องนี้ ได้เคยผ่านงานการแสดงมาแล้ว จากเรื่อง Untitled Chris Gardner Project (ยิ้มไว้ก่อนพ่อสอนไว้) เรื่องนี้ เจเดนเล่นประกบผู้เป็นพ่อเขา วิลล์ สมิธ (Will Smith)ส่วนอีกเรื่องคือ The Day The Earth Stood Still (วันพิฆาตสะกดโลก) ถึงแม้ว่าเจเดน จะผ่านด้านการแสดงมาแล้วถึงสองเรื่อง แต่ทั้งสองเรื่องที่ผ่านมาบทเขาไม่ค่อยเด่นนัก บวกกับเขายังเล็กเกินไปที่จะแสดงให้ถูกใจคนดูได้ แต่สำหรับ เรื่องนี้ ผมอยากปรบมือดังๆให้กับน้อง เจเดน สมิธ เขาเล่นได้สุดยอดมากตีบททุกบทแตกกระจุยไม่ว่าจะ เป็นบทเศร้า บททะเล้น บทบู้ การแสดงสีหน้าเจ็บปวดในตอนท้ายเรื่อง น้ำตาคลอเบ้า เข้าตากรรมการเลยทีเดียว เรียกว่าแจ้งเกิดได้สบายๆจากภาพยนตร์เรื่อง ผมฟังธงได้เลยว่า เจเดน สมิธ จะได้เป็นซูเปอร์สตาร์แทนที่พ่อของเขาได้อย่างสบายๆ เลย ในส่วนเฮียเฉินหลง คงไม่ต้องพูดมากแล้วเฮียแกขั้นเทพในด้านการแสดงอยู่แล้ว หลังๆนี้ถึงแม้ว่าเฉินหลงจะต้องมารับบทเบาๆ ไม่บู๊แหลกเหมือนเมื่อก่อน แต่งานก็ยังวิงชนอย่างไม่ขาดสายจะเห็นว่าในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีหนังที่เฉินหลงแสดงก็มีถึง 3 เรื่องด้วยกันแล้วนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า เฮียแกเป็นซูปเปอร์สตาร์ตัวจริง เสียงจริง สำหรับ ทาราจิ พี เฮนสัน (Taraji P. Henson) ที่รับบทเป็นแม่ของเดรนั้น ผมเห็นหน้าเธอออกฉากทีไรให้นึกไปถึงเพื่อนคู่หูตัวดำของคุณเฉินหลงในเรื่องหนึ่งไม่ได้เลย ปากหนาๆ ตาโตๆ เสียงดุๆ อย่างนี้แหละใช่เลย ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องดีมาตั้งแต่ต้น แม้ว่าฉากบางฉากเป็นฉากเดินเรื่องซึ่งอาจจะน่าเบื่อสักหน่อยอย่างในช่วงแรกๆ แต่ผู้สร้าง ก็สามารถดึงอารมณ์ร่วมของหนังทำให้ผู้ชมไม่สามารถที่จะละสายตาออกจากภาพยนตร์ได้เลย ฉากสวยเหมือนเราได้ไปเที่ยวประเทศจีนมา พระราชวังต้องห้ามเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นมรดกโลกอีกสถานที่หนึ่ง, กำแพงเมืองจีน อันนี้มีอยู่ฉากหนึ่งที่เดรไปฝึกกังฟูบนยอดกำแพง กล้องแพนจากมุมสูงลงมาเรื่อยๆ ไล่ตามสันเขาไปตามกำแพงเมืองจีนเรื่อยๆ แล้วมาหมุนรอบที่เดรกับฮันสวยมากครับ, สนามกีฬารังนก อันนี้เพิ่งผ่านไปไม่นานกับกีฬาโอลิมปิกดู ตอนที่เดรและเหม่ยอิงเข้าไปเดินเล่นในลานน้ำพุแล้วก็ให้นึกถึงลานหน้าสยามพาราก้อนบ้านเราจัง มีอีกฉากที่ยังประทับใจผมอยู่คือฉากตอนที่เดรเข้าไปในโรงเรีนนฝึกกังฟู (โรงเรียนเบจิง เสาหลิน วูซู สคูล) แล้วมีนักเรียนแต่งชุดกีดั้งเดิมสีแดงอยู่เต็มสนามไปหมด นั้นคือกิจกรรมอย่างหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งต้องออกมาทำท่ากังฟูทุกๆ เช้า ดูฉากนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ไทยเรา จะมีสักกี่เรื่องที่หาฉากแบบนี้ออกมาอวดสายตาบ้าง ลานกว้างๆ เด็กเต็มสนาม เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ กำลังรำมวยไทยอยู่ ไม่เคยเห็นเลยครับจริงๆ นอกจากความสนุกที่ดำเนินไปตามจังหวะของมันแล้ว ฉากตลกหรือมุขตลกก็มีสอดแทรกเข้ามาไม่ขาดสาย และเมื่อเข้าฉากดราม่า ก็ยังสามารถเรียกน้ำตาให้คลอเบ้าได้อีกด้วย และสิ่งที่ผมอยากฝากคนดูถึงหนังเรื่องนี้ นอกจากความบันเทิงที่เราได้จากหนังเรื่องนี้แล้ว ยังมีสาระร่วนๆสอดแทรกให้เรานำไปใช้ ในชีวิตประจำวันเราได้อีก อย่างเช่นคำที่ว่า "ในบางช่วงของชีวิตเราอาจล้มลงได้ แต่เมื่อเราล้มลงแล้ว เราจะยอมแพ้หรือเราจะลุกขึ้นสู้ต่อ" คำๆนี้ในหนังมีเฉลยให้เราครับว่าพระเอกของเราเมื่อล้มลงแล้ว เขาจะยอมแพ้หรือเขาจะสู้ต่อ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง "รถเสียเราสามารถซ่อมมันกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ แต่คนที่เรารักเสียไปแล้วเราไม่สามารถซ่อมให้เขากลับมาอยู่กับเราได้อีก", "การสงบนิ่ง กับการไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่สิ่งเดียวกัน" ยังมีอีกหลายๆตัวอย่างที่สอนให้เราเป็นมนุษย์ที่สามารถอยู่ในสังคมได้ "อะไรที่มันดีอยู่แล้ว แล้วเราไปทำให้มันดีมากเกินไป บางครั้งมันอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้" ยังมีความเชื่อเรื่องของการดื่มน้ำจากบ่อน้ำมังกรบนยอดเขา ที่ใครได้ดื่มแล้วจะประสบผลสำเร็จในชีวิตในทุกๆด้านไป มีเยอะครับไปดูเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้เปิดตัวที่อเมริกา ก็ความอันดับหนึ่งไปครองด้วยยอดเงินถึง 1800 ล้านบาท ส่วนในบ้านเรา เข้าสามวันแรก ก็โกยเงินไปถึง 55 ล้านบาทแล้วผมว่าเรื่องนี้เป็นหนังดีเรื่องหนึ่ง อย่าคิดว่าเห็นเด็กเล่นแล้วเป็นหนังเด็กนะครับ ผมว่า มันเป็นหนังสำหรับครอบครัวมากกว่า ครอบครัวบางครอบครัวที่ดูแลลูกไม่ดีไม่รู้ว่าลูกเราต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไร ไม่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรายัดเยีดให้ลูกจะดีสำหรับลูกเสมอไป ผู้เป็นพ่อและแม่ต้องรู้ด้วยว่าสิ่งนั้นเขาชอบ หรือไม่ชอบ คอยให้กำลังใจเมื่อเขาทำงานสำเร็จ คอยติเมื่อเขากำลังเดินหลงทาง ที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขาเองที่จะตัดสินทุกๆเรื่องในชีวิตของเขา และถ้าให้คะแนน ผมให้ 9 เต็ม 10 คะแนนสำหรับเรืองนี้ครับ

บทวิจารณ์โดย : TCK E-mail :TCK05@sanook.com

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ วิจารณ์ The Karate Kid

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook