วิจารณ์หนัง Red Cliff

วิจารณ์หนัง Red Cliff

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อย่าเพิ่งทึกทักว่า Red Cliff เกี่ยวอะไรกับต้นตระกูลของ Daniel Radcliffe แห่ง Harry Potter เพียงเพราะมันออกเสียงละม้ายคล้ายกัน Red Cliff คือตอนหนึ่งของวรรณกรรมสามก๊กอันเลื่องชื่อที่ถูกแปรรูปเป็นภาพยนตร์โดยฝีมือ John Woo ผู้กำกับหัวอินเตอร์ที่สำนึกรักบ้านเกิด John Woo บินกลับรังมาเนรมิตวรรณกรรมสามก๊กที่เต็มไปด้วยตัวละคร , รายละเอียดเนื้อหา ที่แสนจะยิบย่อยยืดยาวและสลับซับซ้อน( ยิ่งกว่าสนามกีฬา Bird s nest ของจีน) ผลงานชิ้นนี้เป็นเสมือนเครื่องหมายเพื่อเชิดชูเกียรติยศแห่งชนชาติ ต้อนรับการมาถึงของมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ซึ่งมีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ สามก๊กเป็นเรื่องแต่งที่อิงข้อเท็จจริงบางส่วนจากประวัติศาสตร์ เช่นกัน John Woo ก็ป่าวประกาศให้รู้กันทั่วว่าบทหนัง Red Cliff ของเขาไม่ได้โคลนนิ่งลอกลายอักษรมาแบบตัวต่อตัว หลายเหตุการณ์ถูกปรุงแต่งเพิ่มเติม ทั้งยังใส่สีตีไข่เพื่อชูรสให้ถูกปากโดนใจตลาดวงกว้าง การปรับตัวลักษณะนี้ถือเป็นกลวิธีปัดฝุ่นของเก่าที่ชาญฉลาด ช่วยต่อลมหายใจวรรณกรรมโบราณเรื่องนี้ให้โลดแล่นอยู่ได้โดยไม่แปลกแยกจากยุคสมัย ดังนั้นหากจะกล่าวว่า Red Cliff เป็นหนังที่อิงมาจากเรื่องแต่งซึ่งอิงมาจากประวัติศาสตร์ อีกทีหนึ่ง ก็คงจะไม่ผิดนัก เรื่องราวแบบรวบรัดของ Red Cliff เริ่มในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่งปกครองราชการบ้านเมืองได้สมชื่อ ( เหี้ยนเต้แบบไม่มี น ) ด้วยความไร้สามารถของพระองค์ราชสำนักจึงตกอยู่ในเงื้อมมือการครอบงำของสมุหนายกนามว่าโจโฉ ( ต่อมาโจโฉเป็นผู้ก่อตั้งวุยก๊ก ) โจโฉอ้างราชโองการประกาศศึกกับเล่าปี่ในข้อหากบฏและเป็นภัยแก่ราชบัลลังก์ ( ต่อมาเล่าปี่เป็นผู้ก่อตั้งจ๊กก๊ก ) ทัพอันกล้าแกร่งของโจโฉตีกองกำลังของเล่าปี่จนแตกพ่าย เล่าปี่ เสียเมียไปใน เหตุการณ์ครั้งนี้ทว่าจูล่งทหารเอกก็ช่วยชีวิตบุตรชายนามว่าอาเต๊าไว้ได้ปลอดภัย เล่าปี่หารือระหว่างพี่น้องร่วมสาบานอันได้แก่ เตียวหุย กวนอู ร่วมแจมด้วยจูล่งและขงเบ้งเพื่อหาทางรับมือกับศึกครั้งนี้ ขงเบ้งผู้ปราดเปรื่อง (หรือในอีกชื่อหนึ่งว่าจูกัดเหลียง ) เสนอให้เล่าปี่ขอความ ร่วมมือจากกองทัพของซุนกวนผู้ครองดินแดนทางตอนใต้ ( ต่อมาซุนกวนเป็นผู้ก่อตั้งง่อก๊ก )เมื่อเล่าปี่เห็นดีด้วย ขงเบ้งจึงขันอาสาเดินทางไปปฏิบัติภารกิจนี้ในทันใด ณ ดินแดนทางตอนใต้อันไพศาลและอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองสงบสุขภายใต้การปกครองของซุนกวน แต่เมื่อขงเบ้งนำความมาแจ้งแก่ซุนกวน ก็ถูกขุนนางในตำหนักโต้แย้งเป็นการใหญ่กล่าวหาว่าขงเบ้งยุให้ซุนกวนชักศึกเข้าบ้านโดยไม่จำเป็น ซุนกวนไม่อาจตัดสินใจได้เด็ดขาดและครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา ขงเบ้งรู้ดีว่าซุนกวนเคารพในความคิดอ่านของแม่ทัพใหญ่จิวยี่ทั้งยังนับถือเขาเสมือนพี่ชาย ขงเบ้งจึงเลือกเดินทางลัดหาทางเกลี้ยกล่อมจิวยี่ด้วยกลวิธีต่างๆ จนสำเร็จ จิวยี่ส่งเสริมให้ซุนกวนประกาศศึกครั้งนี้กับโจโฉด้วยถือว่านี่คือโอกาสทองในการแสดงความสามารถของผู้ปกครองแผ่นดินอย่างแท้จริง ทัพเรือเรือนแสนของโจโฉล่องลำน้ำแยงซีมาประจัญหน้าเตรียมรบอยู่ที่ผาแดงในดินแดนของซุนกวน กองกำลังของเล่าปี่และซุนกวนก็ผนึกกำลังสมองเพื่อวางกลยุทธ์ต่อกรกับโจโฉอย่างสุดกำลัง ก่อนที่จะเริ่มศึกทางน้ำเพื่อตีทัพเรือของโจโฉ Red Cliff ตอนที่หนึ่งก็จบลง Red Cliff ของ John Woo ไม่เน้นปรุงแต่งภาพหรือกำกับศิลป์ให้งดงามอ่อนช้อยเหมือนที่จางอี้โหมวหรืออังลีเคยทในผลงานเรื่องก่อน ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับหนังจีนย้อนยุคในเวลาต่อมา แต่ด้วยงานสไตล์ John Woo ที่เคลื่อนกล้องอย่างรวดเร็วและตัดต่อฉับไว เน้นปรุงแต่งความรู้สึกของผู้ชมให้มีอารมณ์ร่วมกับเนื้อเรื่องได้เป็นสำคัญ ถึงแม้ภาพที่ออกมาของ Red Cliff จะไม่งามแบบลืมหายใจเหมือนตอนดู Hero หรือ Croughing Tiger Hidden Dragon แต่ก็ถือว่าสไตล์ใครสไตล์มันและครั้งนี้ John Woo ก็ไม่ได้ทำให้มาตรฐานของตัวเขาเองต้องตกต่ำลงแต่อย่างใด แม้เวลาในการปูพื้นหลังของตัวละครจะจำกัด แต่ Red Cliff ก็สะท้อนวิธีคิดของแต่ละบุคคลได้แจ่มชัดว่าโจโฉเป็นคนเด็ดขาด โหดเหี้ยมและไร้มิตร เล่าปี่เป็นคนดีมีคุณธรรม มีน้ำใจและให้ความสำคัญกับส่วนรวมยิ่งกว่าเรื่องส่วนตัว แม้เหมือนเล่าปี่จะขาดภาวะความเป็นผู้นำแต่เขาก็ซื้อใจลูกน้องให้ภักดีต่อตนได้ทั้งกองทัพ ฝ่ายซุนกวนที่แม้ภายนอกดูฉลาดคมคาย แต่ความ รู้สึกภายในก็ยังโลเลไม่หนักแน่นพอที่จะตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ได้เด็ดขาดโดยลำพัง Red Cliff เพิ่มบทบาทให้สตรีเพศในยุคอดีตอย่างมีนัยยะสำคัญ สื่อผ่านตัวละครเสียวเกี้ยวเมียของจิวยี่ ( มีฉากเกี้ยวกันแบบชวนเสียวอยู่นิดหน่อย ) ซึ่งมีกิริยาอ่อนหวานเป็นกุลสตรีและมีสัญชาตญาณของความเป็นแม่อยู่สูง กับซุนฮุหยินน้องสาวของซุนกวนที่ดูเหมือนจะแข็งกระด้างแต่ก็เก่งกาจมีปฏิภาณไหวพริบ มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชายชาตรี บทหนังของ Red Cliff เล่าเรื่องได้ฉลาด ถ่ายทอดน้ำเสียงและหัวใจของเรื่องจากหนังสือเป็นภาษาหนังได้อย่างน่าชื่นชม ไม่ยึดติดกับเปลือกนอกวรรณกรรมแบบเถรตรง หากแต่แสดงความเคารพด้วยการพยายามตีความให้ถึงแก่นแกนของเรื่อง ผมชอบฉากที่แสดงให้เห็นว่าจิวยี่เป็นคนแก้ปัญหาได้ตรงจุดโดยไม่สร้างปมปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น ( เป็นวิธีคิดเชิงบูรณาการ ) ในกรณี จัดการกับทหารที่ขโมยกระบือชาวบ้าน ด้วยวิธีการของจิวยี่ผลลัพธ์สุดท้ายจึงออกมาแบบ Win-Win Situation (ทุกฝ่ายได้ประโยชน์) วิธีการนี้เป็นยอดอุดมคติในการแก้ปัญหา ที่รวมเอาหลักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-สังคม-เศรษฐกิจ เข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เปรียบเปรยกับลำขลุ่ยที่ช่องลมติดขัดทำให้เสียงที่เป่าออกมานั้นทั้งสากและสะดุด แต่เมื่อแก้ปัญหาได้ถูกที่ตรงจุด ท่วงทำนองอันสดใสไพเราะก็บังเกิด สอดคล้องต้องกันกับวิถีแห่งธรรมชาติจนเข้าใกล้สภาวะที่เรียกว่า ความยุติธรรม ที่สมบูรณ์ อีกฉากที่ผมชอบ คือการออกล่าเสือของซุนกวนด้วยการแนะนำของจิวยี่ ฉากนี้สะท้อนให้เห็นผลร้ายของความโลเลได้ชัดเจน ( สืบเนื่องมาจากฉากชักดาบของซุนกวนที่ไม่แน่ใจว่าจะ ชักออกมาหรือเก็บเข้าฝักไว้ดังเดิม ) บทหนังเปรียบโจโฉกับเสือที่ร้อยเล่ห์และดุร้ายไม่ต่างกัน คอยซุ่มจ้องตะครุบเหยื่อที่โลเลไม่มีทิศทางหรือจุดยืนที่แน่นอน ( ทัพเรือของโจโฉมีผืนธงเป็นรูปเสือ) ความมั่นคงเด็ดเดี่ยวแห่งจิตเท่านั้นที่เหมาะควรแก่การเผด็จศึกใหญ่ครั้งนี้ เมื่อซุนกวนตัดสินใจได้เด็ดขาด บทหนังก็นำไปสู่ฉากฟันมุมโต๊ะต่อหน้าขุนนางตามท้องเรื่องวรรณกรรมได้อย่างเหมาะเจาะและลงตัว แม้วรรณกรรมสามก๊กจะเป็นเรื่องว่าด้วยสงคราม แต่ Red Cliff กลับเน้นความสำคัญของความสามัคคี อย่างน้อยในระหว่างสามฝ่าย หากสองฝ่ายใดสามัคคีกัน โอกาสแห่งชัยชนะย่อมฉายปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เหมือนที่ทัพของเล่าปี่และซุนกวนได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรทำศึกกับโจโฉ ในฉากที่แสดงความฉลาดของขงเบ้งต่อหน้าจวยี่ฉากหนึ่งซึ่งสื่อได้กับความสามัคคี คือการทำคลอดลูกม้าที่โผล่ขาออกมาเพียงข้างเดียว ขงเบ้งเข้าใจธรรมชาติข้อนี้จึงกล่าวว่าขาทั้งสองข้างต้องออกมาพร้อมกันจึงจะทำคลอดม้าได้สำเร็จ ( ประมาณว่าต้องเข้าขากันให้ได้ก่อน ) รวมไปถึงฉากที่จิวยี่ปลุกใจพลพรรคของเล่าปี่โดยหยิบฟางมากำมือหนึ่งและแสดงให้เห็นว่าเมื่อรวมกันแล้วจะมีความเหนี่ยวแน่น แข็งแรง แตกต่างไปจากฟางเส้นเดียวที่เปราะบางและดึงให้ขาดได้ โดยง่าย ฉากเหล่านี้ล้วนส่งเสริมข้อความคิดว่าด้วยความสมัครสามัคคีเป็นสำคัญและถือเป็นประเด็นหลักที่สามก๊ก version นี้ต้องการนำเสนอ ( พูดถึงความสมัคร-สามัคคี พาลนึกถึงท่านนายกขึ้นมาตะหงิดๆ ) Red Cliff ยังกล่าวถึงสันติภาพ สื่อผ่านนกในอิริยาบทต่างๆ ที่ปรากฏประปรายอยู่ตลอดเรื่อง เป็นที่ทราบกันดีว่า John Woo คลั่งไคล้เสน่ห์การขยับปีกของนกมากมายขนาดไหน ใน Red Cliff นี้ John Woo ดึงแง่มุมต่างๆ ของนกออกมาใช้อย่างเต็มที่ และบ่อยครั้งก็อาศัยวิธีการจับภาพแบบมุมนกหรือ Birds eye view วรรณกรรมสามก๊กได้ชื่อว่าบรรจุกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ในการทำสงครามไว้ครบถ้วน เหนือยิ่งกว่าสงครามนองเลือดในสมรภูมิ สามก๊กเน้นย้ำสงครามในระดับปัญญา การรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของอีกฝ่าย การอ่านใจศัตรู การหยั่งรู้ความนึกคิด เป็นต้น ถือเป็นการต่อสู้ที่ทรงภูมิและลึกซึ้งอันจะทำให้ชีวิตนี้อยู่รอดปลอดภัยได้ในป่าดงดิบมนุษย์ Red Cliff เฉลี่ยฉากสงครามภาคสนามและสงครามปัญญาออกมาในระดับที่สมดุล ให้ภาพของสามก๊กได้อย่างตรงประเด็น การนำสามก๊กมาปัดฝุ่นขึ้นจอใหม่ เป็นเสมือนการนำอาวุธเก่าสนิมเขรอะมาลับคมเพื่ออวดแววปัญญาแก่สังคมโลกกันอีกครั้ง เป็นการเชิดชูวิธีคิดและสติปัญญาของคนรุ่นเก่าว่าหากนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกกาละเทศะในปัจจุบันก็ย่อมบังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นชื่อว่าความคมคงไม่มีอาวุธใดเหนือไปกว่าปัญญาของมนุษย์ แม้คมดาบ คมทวน หรือเกาทัณฑ์ก็ยังอาจถูกลบคมให้สิ้นท่าได้เมื่อต้องประลองกับสิ่งที่เรียกว่า คมความคิด แต่ถึงแม้สติปัญญาจะทรงคุณค่าเลอเลิศสักเพียงใด ภาพของผู้ทรงภูมิยามเก็บคมไว้ในฝักอย่างสงบเสงี่ยมและถ่อมตน ก็ยังคงดูทรงพลังและควรแก่การก้มหัวคารวะอยู่เสมอ และ Red Cliff เรื่องนี้ก็คมคายควรแก่การคารวะด้วยเช่นกัน วิจารณ์ โดย beer led

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง Red Cliff

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook