วิจารณ์หนัง Vantage Point

วิจารณ์หนัง Vantage Point

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อมตะนิรันกาลในบทเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน ( 1940-1980 ) พรรณนาถึงโลกในจินตนาการ, โลกซึ่งไร้การเหยียดสีผิว, โลกที่ไม่มีการแบ่งแยกศาสนา และการเข่นฆ่ากันในสงคราม เป็นโลกซึ่งนำพาหัวใจคนทุกดวงมาหล่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มวลมนุษย์รักกันโดยปราศจากสิ้นอคติ มันคือสังคมยูโธเปียที่เลนนอนฝันถึง และเฝ้าถวิลหาอยากให้ทุกคนเข้าไปอยู่บนโลกใบนั้นร่วมกัน หลัง 11 กันยายน หลังความวินาศสันตะโรกระหน่ำอเมริกา ประชาชนต่างพากันปริวิตกหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อการประทุษร้าย ที่อาจรุกล้ำเข้ามาอีกโดยที่พวกเขาไม่ทันตั้งตัว กรณีเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดถล่ม คือฉนวนร้ายชวนขนลุกยิ่งนักสำหรับอเมริกา เหตุการณ์นี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่อเมริกาต้องจารึกว่า ถูกกระทำรุนแรงอย่างแสนสาหัส ( แต่หลังจากนั้นก็ถล่มอัฟกานิสถาน และตามล่าถอนรากถอนโคน อุซามะห์ บิน ลาเดนอย่างโหดร้ายเหลือคณานับเช่นกัน ) ซึ่งจะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้หนังอย่าง The Kingdom ( กำกับโดย ปีเตอร์ เบิร์ก ) ก็หยิบยกเหตุการณ์หลัง 11 กันยายน มาเล่นเหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงที่ เรื่องราวดังกล่าวเล่นกับประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา ที่โดนผู้ก่อการร้ายวางระเบิดในกรุงริยารด์ แต่ Vantage Point เล่นกับเหตุการณ์ที่ท่านประธานาธิบดีถูกลอบยิง ระหว่างขึ้นปราศรัยในซาลามังก้า ประเทศสเปน ซึ่งเล่นกับตัวประธานาธิบดีโดยตรง การลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐ เคยถูกเล่าผ่านเป็นหนังมาแล้วอย่างน้อยก็ในเรื่อง JFK ( 1991, กำกับโดย โอลิเวอร์ สโตน ) ซึ่งท่านผู้นำคนที่ 35 อย่าง จอห์น เอฟ.เคนเนดี้ ถูกลอบยิงเสียชีวิตตายคาที่ ส่วน อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่16 ก็โดนพิพากษาเช่นเดียวกันในปี 1865 หรือจะในหนังที่นำเสนอเบื้องลึกเบื้องฉาวอย่าง Nixon ( 1995, กำกับโดย โอลิเวอร์ สโตน อีกเช่นกัน ) จนถึงขั้นพยายามฆ่า ( หาดูได้ใน The Assassination of Richard Nixon, กำกับโดย นีล มิลเลอร์ ) นั่นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนบอกให้เรารับรู้ว่า เพราะเหตุใด? ผู้มีวุฒิภาวะเป็นถึงผู้นำประเทศจึงมีผู้คิดประสงค์ร้าย บางเรื่องก็เจาะลึกลงอย่างถึงพริกถึงขิงว่า เป็นเพราะตัวผู้นำมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ฉ้อฉล ( ดูการคุ้ยแคะคดีวอเตอร์เกตอันอื้อฉาวได้ในภาพยนตร์เรื่อง All the President Men ของ อลัน เจ.พาคูลา ) และบางเรื่องก็เป็นเพราะหมกเม็ดเพื่อตัวเองและครอบครัว เลวร้ายถึงขั้นทำลายประเทศชาติ ( หาดูได้ในสารคดี Fahrenheit 9/11 ของผู้กำกับจอมแฉ ไมเคิ มัวร์ ) ด้วยเหตุนี้การลอบสังหารประธานาธิบดีจึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ได้ทุกยุคทุกสมัยไม่มีจบสิ้น ใน Vantage Point ตัวหนังอาศัยภาพ เรื่องราวของแต่ละคน เล่าย้อนก่อนถึงเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐเพียง 23 นาที จากมุมมองของผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์แปดคน โดยการไล่เรียงแฟลตแบ็ค ( Flash Back ) ให้คนดูเฝ้าติดตามทีละคนอย่างกระชั้นชิด เสมือนในมือของแต่ละคนมีภาพจิ๊กซอว์ผู้ก่อการร้ายหนึ่งภาพ ซึ่งแต่ละภาพแต่ละส่วนจะค่อยๆ ปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว ( ภาพค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ) จนถึงนาทีระทึก ภาพสุดท้าย ( แผนการทั้งหมด ) ของตัวผู้ลอบสังหารประธานาธิบดี การแจกแจงภาพลักษณะดังกล่าว ชี้ชวนกระตุกตุ้นให้ตัวผู้เขียนเพิ่มรอยหยักในสมองตรองถึงตัวละครหลักทั้งแปด จนเห็นเด่นชัดว่าแต่ละคนล้วนพกความเป็น Vantage มาทั้งหมด ทุกคนต่างอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าตนได้เปรียบและเป็นต่อ คอยจับจ้องเฝ้าระวังสิ่งต่างๆ ได้ตลอดเวลา โดยไม่มีใครคิดว่า ตัวเอง ( Myselt ) จะพ่ายท่าเป็น จุดอ่อน ( Weakness ) เสียเอง ตั้งแต่เจ้าแม่สถานีโทรทัศน์มือเก๋าอย่าง เร็กซ์ บรูคส์ ( ซิเกอร์นีย์ วีฟเวอร์ การแสดงที่น้อยแต่ได้มากเป็นอย่างไร ต้องไปดูเจ้าแม่ผู้พิชิตเอเลี่ยนคนนี้เลยครับ ) ผู้ซึ่งช่ำชองละเอียดละออต่องานยิ่งนัก เธอเฝ้าคอยแจกแจงหน้าที่ให้นักข่าวอยู่ในห้องส่ง เพื่อจับจ้องให้ได้ภาพข่าวที่เกาะติดและเข้าถึงคนดูมากที่สุด, เจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับที่คอยปกป้องท่านประธานาธิบดีอย่าง โทมัส บาร์นส์ และ เคนท์ เทย์เลอร์ ( เดนนิส เควด และ แมทธิว ฟ็อกซ์ ) ทั้งคู่ต่างคอยเป็นเกราะกำบังเฝ้าระวังให้นายใหญ่ โดยคอยชำเลืองสอดส่ายสายตาจับจ้องสิ่งผิดปกติไม่ชอบมาพากลที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หรือจะนักท่องเที่ยวอย่าง โฮเวิร์ด ลูอิส ( ฟอเรสต์ วิทเทคเกอร์ ) ที่พกพากล้องวีดีโอคอยตามเก็บภาพรายละเอียดในจัตุรัสทั้งหมดอย่างกระชั้นชิด และแม้แต่ตัวท่านประธานาธิบดี เฮนรี่ แอชตัน ( วิลเลี่ยม เฮิร์ต ประหนึ่งเล่นเป็นตัวแทน จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช หรือเปล่าไม่แน่ใจ? ) ซึ่งคิดเสมอว่าตนก็เป็นหนึ่งใน Vantage และอาจคิดว่าตนเป็น Vantage Point ที่มองได้สูงกว่าคนอื่น หลังลอบสังหารประธานาธิบดีได้สำเร็จ บวกกับจิ๊กซอว์แต่ละตัวต่อเข้ากันได้ครบ ภาพใหญ่ในจิ๊กซอว์จึงเฉลยให้ตัวละครทั้งแปดเห็น ( และเชิญชวนให้คนดูร่วมประจักษ์เป็นสักขีพยาน ) ว่าทุกคนล้วนประมาทและกลายเป็นจุดอ่อนองแผนการทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ซึ่งหนึ่งในฉากที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ ( ไม่นับรวมฉากขับรถไล่ล่าที่โครตมันส์สุดๆ ) คือแผนลอบสังหารที่แสนจะแยบยลสุดๆ และทำท่าว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์เสร็จสิ้นได้ไม่ยาก แต่หนูน้อยผู้ไม่ได้รับเชิญ ( เธอคือใคร? ) เพียงคนเดียวที่ไม่ได้อยู่ในแผน จึงทำให้แผนทั้งหมดเกิดสะดุดขึ้นฉับพลัน ไม่รู้ว่าหนังตั้งใจใช้เธอเป็น สัญลักษณ์ ( Symbol ) หรือเปล่า? แต่ที่แน่ๆ เด็กสาวคนนี้เอาเข้าจริงไม่ต้องมีอยู่ในเรื่องก็ได้ จะตัดออกไปก็ไม่ทำให้หนังเสียอรรถรสใดๆ แต่การมีอยู่ของเธอจึงทำให้ตัวผู้เขียนนึกสงสัยตะหงิดๆเก็บไว้ในใจตั้งแต่ทีแรกแล้ว ฉากดังกล่าวจึงตอบโจทย์ย้ำให้หายคลางแคลงใจได้ไม่ยาก เพราะผู้บริสุทธิ์อย่างเด็กน้อยหน้าตาไร้เดียงสาคนนี้ อาจเป็นตัวแทนบอกให้ ผู้มีอำนาจ ทุกประเทศหยุดประหัตประหารเข่นฆ่ากันเสียที สงสารผู้บริสุทธิ์ ผู้ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกับเขาบ้าง อย่าเอาล่อเอาเถิดคร่าชีวิตกันมากกันไปกว่านี้เลย ว่าไปแล้วบทเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน ก็กังวานก้องขึ้นพลันในโสตประสาทผู้เขียนอีกครั้ง ทว่าจินตนาการก็คือมโนภาพส่วนตัวที่มนุษย์ทุกคนต่างมีสิทธิ์เสกสรรปั้นแต่งขึ้น ซึ่งแต่ละคนล้วนมียูโธเปียที่ไม่เหมือนกัน แม้จะมีบ้างที่คิดและเข้าใจโลกในแบบเดียวกัน แต่ทั้งโลก ผู้คนที่เหลืออีกกว่านับล้าน ล้วนยังไม่ต้องการ Imagine เหมือนเลนนอน แม้เจ้าตัวจะแหกปากเสียงดังอึงอลเพียงใดก็ตาม ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง Vantage Point

วิจารณ์หนัง Vantage Point
วิจารณ์หนัง Vantage Point
วิจารณ์หนัง Vantage Point
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook