บทสัมภาษณ์ พจน์ อานน์

บทสัมภาษณ์ พจน์ อานน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จุดเริ่มต้นของการทำหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ผมอยากทำมานานแล้ว จริง ๆ ส่วนตัวจะชอบและอยากทำหนังรักดราม่าแบบนี้มากกว่าแนวอื่น ๆ อีก คืออยากทำให้คนในสังคมรู้ว่าความรักแบบจริงจัง เป็นรักแท้ของเพศที่สามหรือคนที่เป็นเกย์มันก็มี ไม่ใช่มีแต่พวกรักสนุกเท่านั้น ก็จะเป็นเรื่องราวความรักที่มั่นคงของผู้ชายสองคน ซึ่งถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็อาจจะได้รู้ว่า รักแบบนี้มันมีอยู่จริง ๆ ในโลกนี้ด้วย ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่ความรักของเพศที่สามเท่านั้น แต่ยังสะท้อนปัญหาสังคม การเป็นโรคเอดส์ การที่คนเป็นโรคเอดส์ถูกสังคมรังเกียจ มันก็จะมีสาระหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ แบบ เคลือบอยู่ด้วย ก็เลยทำอะไรที่อยากทำให้คนได้รู้ว่า นอกจากเพศชาย เพศหญิงแล้ว ก็ยังมีเพศที่สามอยู่ร่วมในสังคมเราด้วย ในเมื่อเค้าเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะทำยังไงให้เค้าอยู่อย่างมีความสุขด้วยกัน ให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ก็เลยคิดที่จะทำตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนรู้ว่าชีวิตของเกย์ไม่ได้มีแต่ด้านสนุกอย่างเดียว ด้านมืดก็มี ด้านที่เป็นดราม่า ด้านที่เป็นโรแมนติกของเค้าก็มี ก็เลยเกิดเป็นหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เรียกว่าพลิกแนวหนังพจน์ อานนท์ไปเลยก็ว่าได้ ทุกทีจะเป็นหนังตลก คราวนี้เป็นหนังเกย์โรแมนติก-ดราม่า ส่วนใหญ่ก็จะได้ทำหนังตลกกะเทย ทีนี้เราก็หันมาทำหนังอีกแนวนึง ซึ่งจริง ๆ เราก็ชอบหนังอย่างงี้อยู่แล้ว หนังที่เป็นดราม่า โรแมนติก อย่าง 18 ฝนฯ ก็เป็นดราม่าที่เคยทำมา แต่เท่าที่ผ่านมา มักจะได้ทำแต่หนังกะเทยสนุกสนาน หนังตลกซะมากกว่า ก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ซึ่งในเรื่องนี้เนี่ย มันก็จะเป็นหนังรักของผู้ชายกับผู้ชายที่เป็นความรักจริง ๆ เรื่องหนึ่ง ที่ก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของชายกับหญิง ก็เป็นหนังอีกแนวหนึ่งที่พลิกมาทำ คนที่มาดูอาจจะแปลกใจว่าพจน์ อานนท์ทำหนังอย่างงี้ด้วยเหรอ ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำ ก็คิดว่าน่าจะชอบกันครับ เป็นหนังเพศที่สามที่เรียกได้ว่าเข้าถึงผู้ชมวงกว้างเหมือนหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เคยทำมา เพราะหลายคนมีอคติต่อหนังประเภทนี้ ก็เลยไม่ดู แต่พี่ยืนยันได้มั้ยว่า จริง ๆ มันก็เป็นหนังที่สามารถดูได้ทุกเพศไม่มีปิดกั้น จริง ๆ มันก็ไม่ใช่หนังเกย์โดยสิ้นเชิงนะครับ มันก็จะดูได้ทุกเพศทุกวัย เพราะมันเป็นหนังที่มีความรัก เป็นหนังดราม่า เอาเรื่องในสังคมมาพูดถึง คิดว่าน่าจะดูได้ทุกเพศทุกวัย แต่กับเด็กเรื่องความรักก็คงจะไม่ค่อยเหมาะกับเด็กอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นอายุ 18 ปีขึ้นไปเนี่ยก็ดูได้หมดนะครับ ก็คิดว่าคนทั่วไปดูได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่พูดถึงความรักอีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เรื่องราวของหนัง มันก็จะเป็นเรื่องของผู้ชายสองคนที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ คนหนึ่งไม่ยอมรับ ส่วนอีกคนหนึ่งก็เอาผู้หญิงมาปิดบัง แล้วทั้งคู่ก็เกิดรักกันขึ้นมา โดยสัญชาตญาณลึก ๆ เนี่ย เค้าเป็นอยู่ แล้วก็เกิดไปมีอะไรกันโดยไม่คาดฝัน แต่ก็ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ที่สำคัญคือ เค้าเคยโดยพ่อเลี้ยงทำร้ายตอนเด็ก ๆ มา มันก็เลยเป็นอะไรที่จำฝังใจ สุดท้ายพอโตขึ้นเค้าก็เกิดไปรักกับผู้ชายคนหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเค้าก็รังเกียจตัวเอง ก็จะต่อต้านตัวเองว่าเค้าไม่ได้เป็น สุดท้ายก็ห้ามไม่ได้ เพราะความรักมันเหนือสิ่งอื่นใด เค้าก็ต้องยอมรับว่าเค้าเป็น ก็ต้องไปดูกันเอง ว่าสุดท้ายจะเป็นยังไง เพราะเป็นอะไรที่สะเทือนใจนิดนึงครับ การคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ เพราะเป็นหนังเกย์อย่างนี้หรือเปล่า ถึงจำเป็นต้องเลือกหน้าใหม่ทั้งหมดมาแสดง เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงและเชื่อได้ง่ายกว่า ใช่ครับ ในหนังเรื่องนี้ เราก็อยากได้นักแสดงหน้าใหม่มาเล่นทั้ง 3 คนเลย เพราะว่ามันจะเกี่ยวกับเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะถ้าเอาดาราที่คุ้นหน้ามาเล่น ซึ่งเราก็เคยติดต่อดาราดัง ๆ มาเล่นหลายคน แต่ติดปัญหาที่ว่า เค้าก็ไม่ค่อยกล้าเล่นกัน และที่สำคัญคือคนดูก็จะไม่เชื่อว่าเค้าเป็นตัวละครในเรื่องด้วหลัก ๆ ก็จะคัดเลือกจากหน้าตาและบุคลิกที่เข้ากับคาแร็คเตอร์เป็นสำคัญครับ อย่าง เอ (รัตนบัลลังก์ โตสวัสดิ์) เค้าเคยผ่านงานละครมาบ้าง แต่ไม่เคยเล่นหนังเลย บุคลิกเค้าก็ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ เคร่งขรึม ก็เหมาะกับบท เมฆ มือปืนพูดน้อย ไม่แสดงความรู้สึก เอจะเป็นคนที่เข้าใจการแสดงมากที่สุด อธิบายแค่ครั้งเดียว เค้าก็จะเล่นได้อย่างสบาย ๆ แล้ว ถือว่าเป็นนักแสดงที่อนาคตไกลแน่นอนครับ ส่วนอีกคนนี่หน้าใหม่จริง ๆ ก็คือ ต๊อบ (ชัยวัฒน์ ทองแสง) หน้าตาและหน่วยก้านลงตัวกับบทนี้มาก ๆ ตอนที่เราเลือกให้มาเล่นบท อิฐ ในหนังเรื่องนี้ เค้าก็ยังไม่เคยผ่านงานบันเทิงมาก่อนเลย เราก็เอาเค้ามาประเดิมกับเรื่องนี้ แต่พอปิดกล้องไปแล้ว เค้าก็มีงานหนัง, งานโฆษณา, ถ่ายแบบ ออกมาเยอะแยะ แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อเสียอะไรที่หนังเรื่องนี้ออกฉายช้ากว่า เพราะต็อบเล่นเรื่องนี้ คนดูจะเชื่อเลยว่าเค้าเป็นอย่างในเรื่องจริง ๆ คนสุดท้าย กัส (วีรดิษฐ์ ศรีมาลัย) เคยผ่านงานหนังมาบ้างแต่ไม่เด่นเท่าไหร่ แต่กับเรื่องนี้เราจัดการปรับลุคเค้าให้เปลี่ยนจากเรื่องอื่นไปเลย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเค้าเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว เหมาะกับบท หมอก ที่เป็นพวกเก็บกด จะแสดงอารมณ์ทางสีหน้าแววตามากกว่าคำพูด แล้วในเรื่องนี้เค้าจะทรหดมาก เพราะต้องแต่งแผลคนเป็นเอดส์นานหลายชั่วโมงกว่าจะได้ถ่ายในแต่ละฉาก และเค้าก็แสดงได้ดีขึ้นเยอะครับ ซึ่งดาราหน้าใหม่ที่เอามาเล่นทั้งหมดเนี่ย ยืนยันเลยว่าเค้าไม่ได้เป็นเกย์ แต่เค้าก็เล่นให้คนดูเชื่อว่าเค้าเป็นเกย์ได้ ซึ่งเราก็ประสบความสำเร็จในจุดหนึ่งว่าสามารถทำให้คนดูเชื่อในความเป็นเกย์ของเค้า และมันก็ยังง่ายต่อการทำหนัง เพราะคนยังไม่เคยเห็นพวกเค้าเล่นหนัง แต่ถ้าเราเอาคนดังมาเล่นเนี่ยมันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนดูเชื่อ เพราะว่าสิ่งสำคัญเลย เราต้องทำหนังที่ทำยังไงก็ได้ ให้คนดูเชื่อและก็คล้อยตามให้ได้ก่อน ซึ่งทั้ง 3 คนก็ผ่านฉลุยหายห่วง การทำงานร่วมกับนักแสดงแต่ละคนเป็นอย่างไร ต้องสอนการแสดงอะไรมากน้อยแค่ไหน การร่วมงานกับหน้าใหม่ทั้ง 3 คนก็รู้สึกสบายใจ ให้เวลาเต็มที่ แล้วก็ทุ่มเทกับการแสดง ซึ่งเค้าก็เล่นได้อย่างที่เราต้องการ แม้เค้าจะไม่ได้เป็นเกย์ แต่เล่นได้อย่างน่าเชื่อขนาดนี้ก็ต้องยอมรับในความสามารถครับ พูดถึงต้องสอนการแสดงมั้ย เราก็สอนนะ แล้วเราก็เครียดมาก ๆ ด้วย บางทีนักแสดงกับผู้กำกับก็ทะเลาะกันเลย เพราะว่าเราต้องการให้สมจริง เพราะจริง ๆ พวกนี้ก็คือเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่แบบห้าว ๆ ซน ๆ ทั่วไป แล้วเราต้องมาปรับให้เค้าเล่นอ่อนเล่นนุ่ม เล่นเป็นผู้ชายกับผู้ชายชอบกัน ซึ่งมันก็ยากพอสมควร แต่เราก็ทำให้มันเนียนที่สุด ก็อย่างที่บอกไป เค้าไม่ใช่เกย์เลย แต่เค้าก็เล่นได้ดี มันคือการแสดงเท่านั้นเอง คาแร็คเตอร์แต่ละคนเป็นยังไงบ้าง พูดถึงคาแร็คเตอร์ของแต่ละคน ก็เริ่มจาก เอ (รัตนบัลลังก์ โตสวัสดิ์) ที่เล่นเป็นเมฆ ก็คือเมฆจะเป็นคนที่มีปมด้อยในชีวิตอยู่ในตัว ซึ่งเค้าก็จะเป็นคนที่แอบ คือจริง ๆ เค้าก็เป็นเกย์ แต่เค้าก็จะไม่ยอมรับว่าเค้าเป็นเกย์ ซึ่งมันก็ตรงกับชื่อเมฆที่เราต้องการสื่อ ถ้าดูในหนังเวลาตัวละครตัวนี้โกรธ เมฆบนฟ้าก็จะทะมึนทึม เวลาเค้ามีความรัก เค้ามีความสุข ฝนก็จะตกชุ่มชื่น เพราะเวลาเมฆรวมตัวกันมาก ๆ ฝนก็จะตก ตามคาแร็คเตอร์เค้าก็จะเป็นเหมือนเมฆเลย คือไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ลอยไปลอยมาเหมือนเมฆ อย่างที่เราอยากได้ตามความหมายนั้น อย่างตัวหมอก (กัส วีรดิษฐ์ ศรีมาลัย) อย่างที่เราบอก ตัวหมอกก็เป็นตัวละครที่จมปลักอยู่กับความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ เหมือนหมอกที่ลงตอนเช้า ๆ มองโลกในแง่ไม่ดีอ่ะ มองโลกในแง่ร้ายสำหรับเค้าตลอด แล้วสังคมก็จะรังแกเค้าตลอด รู้สึกว่าชีวิตนี้ทำไมช่างร้ายกับเค้านัก ก็เหมือนกับหมอกที่ลงตอนเช้า ๆ ถ้าขับรถไปมันก็ไม่เห็นทาง ก็คือขมุกขมัว ส่วน อิฐ (ต็อบ ชัยวัฒน์ ทองแสง) ก็คือผู้ชายคนหนึ่งที่แข็งแกร่งเหมือนก้อนอิฐ แต่พอถ้ามันโดนน้ำมาก ๆ เนี่ย อย่างที่เค้าบอกว่า น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อนเนี่ย ถ้าเค้าเจอน้ำฝนที่ลงมาจากเมฆตกใส่เค้าทุกวัน ๆ อิฐมันก็สามารถกร่อนลงไป ๆ กลายเป็นก้อนเล็ก กลายเป็นความรักที่หล่อหลอมขึ้นมาได้ อีกแง่มุมหนึ่งคือเป็นก้อนอิฐที่หล่อหลอมความรักให้แข็งแรงอะไรอย่างงี้ครับ ส่วนตัวละครหญิงที่ชื่อ ทราย (หญิง-ฌัชชา รุจินานนท์) ทรายก็จะเป็นอะไรที่อ่อนไหว นุ่มนวล ไม่มีหลักยึด เวลาเราเหยียบทรายลงไปมันก็จะเป็นรอยเท้า เหมือนเค้ามีแฟนเป็นเกย์ ก็เหมือนมาตอกย้ำความเป็นทรายของเค้าให้รู้สึกว่ายิ่งไม่มีหลักยึดเข้าไปอีก เหมือนเราสร้างภูเขาทรายเนี่ย ถ้าโดนน้ำซัดมาก ๆ มันก็พังทลาย เราก็ตั้งชื่อตัวละครให้เข้ากับคาแร็คเตอร์ของตัวละครครับ ไม่ได้มีแต่ดาราหน้าใหม่เท่านั้น ยังรวมพลดารารุ่นใหญ่มากฝีมือไว้ด้วย คือ ในเรื่องนี้ก็จะมีหน้าใหม่อยู่ 3 คน แล้วเราก็เอาดาราที่เป็นแม่เหล็กมีฝีมือทางการแสดงมาก ๆ ความสามารถล้นเหลือเนี่ยมาล้อมพวกเค้าไว้ มาช่วยกันดัน มาช่วยกันทำให้เค้ามีพลังมากขึ้น ที่เลือกมาก็มี อาจารย์ชลประคัลภ์, อาสุเชาว์, พี่อี๊ด รัชนู, พี่จุ๋ม อุทุมพร และก็มีน้องหญิง ฌัชชา กับพี่ต๊อบ สหัสชัย ซึ่งทั้งหมดเนี่ยก็เป็นนักแสดงที่มีฝีมือระดับแนวหน้า มาช่วยกันดันเด็กใหม่ ช่วยประคับประคองให้หนังมันสมบูรณ์แบบมากขึ้น แต่ยังไงดาราใหม่ทั้งสามคนเนี่ย เค้าก็ทำเต็มที่ แล้วก็เล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่เราอยากได้แล้วก็ต้องขอบคุณดารารุ่นใหญ่ที่มาร่วมทำให้หนังสมบูรณ์มากขึ้น เค้าก็สุดฝีมือเหมือนกัน ถ้าดูแล้วก็จะรู้ว่านักแสดงชุดนี้ฝีมือเจ๋งจริง ๆ พูดถึง ผกก.ภาพ คนใหม่ ทำไมถึงเลือกมาร่วมงานด้วย พูดถึงผู้กำกับภาพ จิ๊บ (ทิวา เมยไธสง) เค้าก็เป็นผู้กำกับภาพอยู่แล้ว พอดีคุยกันว่าอยากได้จิ๊บมาช่วยถ่าย ซึ่งจิ๊บจะเก่งทางด้านนี้มาก ซึ่งหนังเรื่องจะโดดเด่นทางด้านภาพมาก ทั้งภาพ สกอร์เพลง ฉาก เครื่องแต่งกาย มันจะโดดเด่นและลงตัวมาก ซึ่งจริง ๆ เราจะเป็นคนที่ชอบหนังที่สื่อสารด้วยภาพอย่างงี้อยู่แล้ว มันจะเป็นจุดที่น่าสนใจมากทางด้านภาพในหนังเรื่องนี้ ทำงานกับจิ๊บก็รู้สึกว่าสบายใจ แล้วก็เข้าขากัน เพราะเค้าก็เป็นเด็กใหม่ เราก็ยอมรับ เราก็ปล่อยเค้าเต็มที่ ให้เค้าจะทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ในหนังเราก็ได้ แต่เราก็คุยกันก่อนว่าทำอย่างงี้ ๆ นะ เค้าก็ทำตามที่เราอยากได้ จิ๊บก็เป็นคนเก่ง เป็นคนที่ถ่ายภาพได้สวยมาก ยืนยันได้ว่า เรื่องนี้ภาพสวยแน่ ๆ และสื่อสารได้เข้ากับธีมเรื่องด้วยครับ ความยากง่ายในการกำกับเรื่องนี้ เป็นยังไงบ้าง มันก็ยากนะที่ให้ผู้ชายธรรมดามาเล่นเป็นเกย์ มารักกันอย่างนี้ ซึ่งเวลาเค้ารักกันเนี่ย เค้าก็ต้องแสดงออกทางสายตาแววตา ทางอารมณ์ ทางการสัมผัสอะไรอย่างงี้ มันยาก เพราะเค้าเป็นผู้ชายด้วยกันทั้งคู่ เค้าเป็นผู้ชายจริง ๆ อ่ะ แต่เราก็เคี่ยวจนเอาอยู่ อย่างตัวน้องชาย (กัส วีรดิษฐ์) ที่ต้องมาเล่นเป็นคนเป็นเอดส์ เราก็ต้องสั่งให้เค้าลดความอ้วน เค้าก็ลด ๆ ๆ จนผอมไป ก็ยาก แล้วการที่เค้าเล่นหนังเรื่องแรกแล้วต้องมาเล่นดราม่าหนัก ๆ กันทั้ง 3 คนเนี่ย ทั้งดราม่า ทั้งโรแมนติก ทั้งแอ็คชั่นอย่างนี้ มันเป็นเเรื่องที่ยากสำหรับเค้า แต่เราก็เคี่ยวจนออกมาแบบที่เป็นในหนังครับ ถึงยากแต่เราก็เต็มที่กับมัน เพราะเป็นเรื่องที่เราอยากทำมาก ๆ โลเกชั่นเรื่องนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำในกรุงเทพฯ ในมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โลเกชั่นในเรื่องนี้ เราก็เลือกอย่างที่อยากให้เป็น คืออยากให้มันอยู่ใจกลางกรุงเทพ อยากให้เห็นความสวยงามของกรุงเทพ สะท้อนความศิวิไลซ์ด้านต่าง ๆ ของเมืองหลวง แล้วก็อยากได้เมฆ อยากได้ท้องฟ้าที่มันเข้ากับอารมณ์ของหนังพอดี เราก็จะไปตรงนั้น โลเกชั่นเราก็เลือกกันหลายที่มาก แล้วก็มาสรุปให้ตรงกับคอนเส็ปต์ที่วางไว้ เราก็เน้นอะไรที่เป็นกรุงเทพมากที่สุด เพราะมันเป็นหนังในเมือง อย่างเช่น ดาดฟ้าโรงพยาบาลยาสูบที่เป็นฉากหลักของเรื่อง เราก็จะสะท้อนความเป็นสังคมเมือง ให้เห็นตึกรามบ้านช่อง อาคารสูงที่ความเจริญต่าง ๆ เข้าถึง อย่างเช่น มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านอะไรอย่างงี้ ซึ่งทั้งหมดก็จะโอบล้อมเรื่องราวความรักของผู้ชายสองคนนี้ที่เหมือนเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นกลางเมืองหลวง แต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เราก็ทำตรงนี้ให้ตรงจุดที่เราอยากได้ เราก็สื่อให้เห็นความเจริญของกรุงเทพให้มากที่สุด ก็น่าจะขายเมืองนอกได้ เพราะเราอยากให้เห็นว่า นี่คือความรักอีกรูปแบบหนึ่งของคนไทย ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งฉาก ทั้งการจัดแสง ทั้งการถ่ายภาพผ่านโลเกชั่นต่าง ๆ มันก็ลงตัวอย่างที่เราอยากได้ครับ ฉากไหนหินที่สุดในการถ่ายทำ ฉากที่กำกับยากที่สุดก็น่าจะเป็นฉากเลิฟซีนนะครับ เพราะการที่ต้องกำกับให้ผู้ชายกับผู้ชายมาเล่นเลิฟซีนด้วยกันเนี่ย ก็ทำให้เราหนักใจมากว่าเค้าทั้งคู่จะทำได้มั้ย เราก็ต้องอธิบายให้เค้าฟัง ให้ทั้งคู่เข้าใจในบทบาทของกันและกัน แล้วก็ฉากดราม่าสุด ๆ อย่างฉากพี่น้องทะเลาะกันอะไรอย่างนี้ มันหินมากเพราะมันต้องใช้อารมณ์ ทุกคนต้องใช้อารมณ์บีบเข้าหากัน เราก็บิ๊ว ๆ ๆ ต้องขยี้ให้มันตรงจุดให้มากที่สุด ให้ทุกคนเอาอารมณ์ออกมาให้มากที่สุด แต่เราก็ทำเต็มที่ครับ ที่คนดูกลุ่มเป้าหมายสนใจค่อนข้างมาก ก็คือการกำกับฉากเลิฟซีน มีความยากง่าย หรือวิธีการพูดคุยกับนักแสดงให้เข้าใจถึงฉากนี้ยังไง นักแสดงเครียดกับฉากนี้แค่ไหน การกำกับฉากเลิฟซีนในเรื่องนี้ วิธีหนึ่งที่ใช้ก็คือให้เค้าคิดว่าอีกฝ่ายเป็นผู้หญิง ก็บอกเค้าให้นึกถึงว่าเวลาเลิฟซีนกับผู้หญิงน่ะทำยังไง ให้ต่างคนต่างคิดว่าอีกฝ่ายคือผู้หญิง แล้วก็ให้เล่นกันไปตามธรรมชาติ จะว่าไปแรก ๆ ทั้งคู่ก็เครียดนะ บ้วนปากแล้วบ้วนปากอีก (หัวเราะ) ซึ่งเวลาถ่ายเราก็แบบขอให้เล่นอย่างเต็มที่เลย อย่ามัวเขินกัน จะได้ถ่ายครั้งเดียวผ่านเลย เค้าก็ตั้งใจเล่นกันมาก แล้วก็เล่นออกมาดีมากด้วยครับ ยืนยันว่าฉากเลิฟซีนออกมาเป็นศิลปะ ไม่น่าเกลียด ใช่ครับ ภาพเลิฟซีนในเรื่องนี้จะออกมาเป็นฉากอิโรติกที่สวยงามมาก มันจะเน้นแบบว่าภาพสวย อารมณ์คล้อยตามกันไปมากกว่า ไม่ใช่ออกมาแบบโจ๋งครึ่ม ๆ แน่นอน เราขอทำแบบเน้นความสวยงามมากกว่า รับรองไม่น่าเกลียดครับ ก็ต้องลองไปดูกันครับ แล้วฉากแอ็คชั่นเป็นยังไงบ้าง ฉากแอ็คชั่นในเรื่องนี้ก็จะเป็นต้นเหตุของความรัก เราก็ทำแอ็คชั่นให้ออกมาในโทนรัก คือถ้าเป็นหนังแอ็คชั่นทั่วไปดนตรีเค้าก็จะหนักหน่วงเป็นแอ็คชั่น แต่หนังของเราจะทำสกอร์เพลงให้อยู่ในโทนความรัก เป็นอะไรที่โหยหวน คือจะไม่เน้นหนักในเรื่องแอ็คชั่น คือมันจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความรักเท่านั้นเอง ตอนเราทำสกอร์เพลงกัน เราก็สื่อสารออกมาแบบเป็นหนังรักที่มีฉากแอ็คชั่นมาประกอบมากกว่า อุปสรรคในการถ่ายทำ อุปสรรคในการถ่ายทำเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยมีนะครับ เพราะมันเป็นอะไรที่ลงตัว เป็นหนังที่เราอยากทำ จะมีอุปสรรคก็แค่เรื่องการแสดงนิด ๆ หน่อย ๆ แต่เราก็เคี่ยวจนเค้าเล่นออกมาเป็นอย่างที่เห็น นักแสดงก็ให้เวลาเต็มที่ก็ไม่มีปัญหาอะไรซักเท่าไหร่ครับ มีความกดดันมั้ยในการทำหนังเรื่องนี้ ก็ไม่กดดันนะครับ อย่างเสี่ยเจียงก็ให้โอกาสเราเต็มที่ในการทำหนังเรื่องนี้ ให้เราทำหนังรักอีกรูปแบบหนึ่ง ความรักของผู้ชายกับผู้ชาย เราก็ทำในแนวของเราแบบไทย ๆ เราก็พยายามผูกเรื่องแบบที่ไม่คิดว่าคนอาชีพนี้กับอาชีพนี้จะมารักกันได้ คือเสี่ยให้โอกาสเราทำแล้ว เราก็ทำอย่างเต็มที่ ก็ไม่มีอุปสรรคหรือความกดดันอะไรครับ หนังเรื่องนี้ถือเป็นความถนัดและความชอบส่วนตัวอยู่แล้ว จริง ๆ ความถนัดส่วนตัวอย่างที่บอก คือเป็นคนที่ชอบหนังรัก ชอบหนังดราม่าอะไรอย่างงี้อยู่แล้ว เรื่องนี้พอได้โอกาสทำก็ดีใจมาก ทำอย่างเต็มที่ แม้มันจะเป็นหนังรักของผู้ชายกับผู้ชาย แต่เราก็ทำให้มันอยู่ในขอบเขต ไม่น่าเกลียดอะไร แต่ถ้าจะให้เปลี่ยนมาเป็นหนังรักของชายกับหญิงก็สามารถทำได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะได้ทำแต่หนังตลกกะเทยบ่อย ๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร เราทำหนังอะไรก็ได้ เพราะผู้กำกับสมัยนี้ต้องทำได้ทุกแนว ไม่ใช่ทำแนวใดแนวหนึ่ง แต่เราก็จะโดนทำตลกแนวเพศที่ 3 เยอะหน่อย แต่ก็เคยทำหนังดราม่าดี ๆ อย่าง เอ๋อเหรอ หรือ 18 ฝนคนอันตราย นั่นก็ได้รับคำชมเยอะนะ แต่ไม่รู้ทำไมไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน หรืออย่าง ไฉไล ก็จะเป็นอีกแนวหนึ่งที่ทำ จะว่าไปเราก็ค่อนข้างได้ทำหนังหลากหลายนะ ซึ่งทุกเรื่องเราก็ทำเต็มที่หมดทุกเรื่อง แต่ถ้าถามว่าหนังเรื่องนี้คือ หนังที่ใช่ตัว พจน์ อานนท์ มากที่สุดมั้ย คำตอบคือใช่แน่นอน เสน่ห์และความน่าสนใจของเรื่องนี้ เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ความรักของคน 2 คน ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นรักที่ผิดแปลกธรรมชาติ แต่ก็เป็นความรักที่ใสซื่อบริสุทธิ์ แล้วใครหลายคนก็ไม่คิดว่าความรักแบบนี้จะมีอยู่ในโลกด้วย ถ้าคุณไปดูแล้วคุณก็จะได้รับรู้และอาจจะต้องเสียน้ำตาให้กับเค้าทั้ง 2 คนก็ได้ เพราะจริง ๆ มันก็เป็นความรักอีกรูปแบบหนึ่งของคนในสังคมที่มีทั้งสุขและทุกข์ไม่แตกต่างกันเลย และมันก็เป็นหนังไทยที่นำเสนอเรื่องรักของผู้ชายกับผู้ชายเรื่องแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นและได้ออกฉายในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ของวงการหนังไทยก็ว่าได้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นหนังอีกรูปแบบหนึ่งที่คนดูชอบ แล้วก็เก็บไว้ในใจครับ คาดหวังกับหนังเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน คาดหวังมั้ย เราก็ทำเต็มที่แล้ว แต่คนอาจจะดูว่า อ้าวนี่ไม่ใช่หนังพจน์ อานนท์ เพราะหนังพจน์ อานนท์ส่วนใหญ่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็อยากให้คนดูมาลองดูหนังอีกแนวหนึ่งของผมบ้าง ใครที่เป็นแฟนของพจน์ อานนท์ อยู่แล้ว ก็ลองมาดูหนังอีกสไตล์หนึ่งของผมว่ามันเป็นยังไง ก็คาดหวังก็อยากให้เพศที่สาม หรือทุก ๆ เพศมาดูกัน ช่วยออกมาดูกัน เพราะเราทำหนังอีกแบบที่ไม่ค่อยมีในหนังไทยแล้ว ก็อยากให้ออกมาสนับสนุน ก็อยากให้มันประสบความสำเร็จในจุดหนึ่ง เพื่อคนดูจะได้มีหนังไทยแนวอื่น ๆ ที่หลากหลายกว่านี้ดูกันต่อ ๆ ไปอีกครับ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ บทสัมภาษณ์ พจน์ อานน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook