ผู้กำกับ บิณฑ์ เผยที่มาของหนัง ปัญญาเรณู 2

ผู้กำกับ บิณฑ์ เผยที่มาของหนัง ปัญญาเรณู 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทสัมภาษณ์ ผู้กำกับ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ปัญญาเรณู 2

ที่มาที่ไปของโปรเจ็คต์ "ปัญญาเรณู" "ปัญญาเรณู" ภาคแรกนั้นเป็นโปรเจ็คต์ที่ผมคิดไว้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการใหม่ๆ ก็ประมาณ 5-6 ปีที่ได้เล่นหนังมาแล้ว ก็คิดว่าซักวันหนึ่งอยากจะทำหนัง แล้วตอนนั้นหนังเด็กก็ไม่ค่อยมีใครทำซักเท่าไหร่ จนอยู่มาเป็น 10 ปีก็ยังไม่ได้ทำซักที จนได้มาทำโปรเจ็คต์เรื่อง "ตำนานกระสือ" ให้กับสหมงคลฟิล์ม ซึ่งในเรื่องก็มีเด็กๆ ร่วมแสดงด้วย พอทำงานกับเด็กบ่อยๆ เข้า เราก็เริ่มรู้สึกว่ามันบริสุทธิ์ มันง่าย ทำให้คนเข้าใจง่ายกับเด็กๆ ได้ พอเสร็จจากเรื่องนั้นก็ได้มาทำ "ช้างเพื่อนแก้ว" ก็มีช้างกับเด็กมาเล่นกัน มันก็เลยคิดว่าวันหนึ่งเราต้องทำหนังเด็กจริงๆ สักที และอีกอย่างตอนเด็กๆ เราก็เคยเรียนหนังสือเรื่อง "เรณูปัญญา" "มานีมานะ" อะไรพวกนี้อยู่ เราก็รู้สึกว่าเด็กในหนังสือพวกนี้เนี่ยทำให้เด็กสามารถเอาความคิดของเด็กพวกนี้มาใช้ในนิสัยของเด็กในยุคปัจจุบันนี้ได้ เช่น เด็กพวกนี้พอกลับจากโรงเรียน ก็จะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ทำการบ้าน อ่านหนังสือ อะไรพวกนี้นะครับ ก็เลยคิดว่า น่าจะทำหนังเด็กๆ เรื่อง "ปัญญาเรณู" ก็คิดเรื่องนี้มาตั้งนานละ แต่เสนอหลายค่ายก็ไม่มีใครสนใจหนังเด็กเท่าไหร่ เราก็คิดว่า เอาน่าวันหนึ่งเดี๋ยวเก็บเงินได้ก่อนจะทำเรื่องนี้ แล้ววันนั้นก็มาถึงก็ได้ทำ "ปัญญาเรณู" ภาคแรกมันก็เป็นเรื่องราวจากตัวเองด้วย เพื่อนซึ่งอยู่ในภาคอีสาน จากประสบการณ์ของเราและของเพื่อนๆ เราก็คิดมาผูกเรื่องเอา ซึ่งจริงๆ 50% เป็นเรื่องของเราสมัยเด็กๆ ตอนเรียนป.1 ถึง ป.6 ได้ ก็จะมีหลายฉากที่เป็นของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อถ่ายทอดออกมาแล้วเนี่ยหลายคนก็ชอบ เป็นธรรมชาติเหมือนสมัยที่เค้าเป็นเด็กก็เคยผ่านเหตุการณ์อย่างนี้แหละ หลายคนไปดูก็ชอบความน่ารักของเด็กๆ แล้วก็เล่นดีด้วย ซึ่งเรารู้สึกว่า มันยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ไม่สามารถเล่าให้จบได้ในภาคแรกภาคเดียว แต่ถามว่า พอทำภาคแรกไปแล้ว คิดจะทำภาค2มั้ย ก็คิดว่าตอนนั้นปัญหามันเยอะแยะมากมาย หนังเกือบไม่ได้ฉาย ไปหาใครก็ไม่มีใครสนใจ ก็คิดว่าคงจบแค่นั้นที่ภาคแรก แต่พอได้ฉายแล้ว เราก็คิดว่า ถ้าขาดทุนก็คงไม่ได้ทำภาคสองต่อ แต่ถ้าได้กำไรก็จะได้ทำภาค2 ต่อแน่นอน เพราะมันมีเรื่องราวอีกมากมาย แต่จังหวะพอเข้าวันแรกก็เอาละ ภาค2ไม่ได้ทำแน่นอน (หัวเราะ) เพราะดูรายได้แล้วก็ โอย...พระเจ้า ก็เอาวะ ไม่เป็นไร แต่อยู่ๆ พอมีคนไปดูแล้วปากต่อปากพูดกันต่อละว่า "ปัญญาเรณู" เป็นหนังน่ารัก เป็นหนังดีนะ ก็เลยทำให้คนไปดูมากขึ้นๆ ก็เลยทำให้รายได้ขึ้นมาเรื่อยๆ จนไม่ขาดทุน กำไรบ้างนิดหน่อย ก็เลยเอาวะ เพราะเราก็มีทุนภาคแรกที่ยังไม่หมดไปก็เลยนำมาทำภาคต่อเป็น "ปัญญาเรณู 2"

การแคสติ้ง จุดเด่นที่ทำให้เลือกทีมนักแสดงเด็กหลักๆ ทีมนี้มาเล่นเรื่องนี้ ต้องถือว่าผมโชคดีมากนะครับ ที่ผมได้เจอพวกน้องๆ ทีมนี้ ผมเองตอนแคสติ้งในกรุงเทพฯ เราก็คัดเลือกเด็กที่สามารถพูดอีสานได้ อายุประมาณ 8-12 ขวบ ก็มากันเป็นพันคนได้เหมือนกันนะ ก็หน้าตาดี แต่งตัวดี แต่เด็กกรุงเทพฯ เวลามาแคสติ้งจะไม่ค่อยธรรมชาติ โอ้โห แต่งตัวมาแบบเต็มองค์เลย เราก็บอกคอนเซ็ปต์ไปว่า "เรณู" จะเป็นยังไงต้องอ้วนๆ ขี้เหร่ที่สุดยิ่งดี แต่ต้องอ้วน ต้องมีความสามารถ ปัญญาต้องผอมแต่แกร่ง แกร่งที่สามารถสู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ ก็มาแคสมาร้องมาเต้นกันเยอะ แต่ก็ยังไม่ถูกใจ หนังเราก็กำลังจะเปิดจะทำยังไง ก็มีเพื่อนบอกว่า จะมีงานวันเด็กที่จัดที่วารินชำราบ เราก็ไปเลย นั่งเครื่องไปที่อุบลฯ ก็ไปเจอเด็กเยอะแยะมากมายมาเต้นมาร้องกัน แล้วก็มีอยู่คนเด็ก ตัวดำเมี่ยม อ้วนๆ ทาแป้งหน้าวอกขาว คอไม่ได้ทา คอดำปี๋ ขาวแต่หน้า แล้วก็ใส่ที่คาดผม ที่หนีบผมเป็นโบสีแดง ตัดกับชุดสีขาวมาก ตัวดำเมี่ยมเลย ขึ้นไปร้องเพลง "เชพบ๊ะ" ของอาภาพร นครสวรรค์ เราก็นั่งดู ก็โอ้โห...ถูกใจเรามาก ตัวก็อ้วน แล้วก็เต้นพั่บๆๆ เต้นทุกอย่าง มีความสามารถมากเลย แล้วมันเหมือนคาแร็คเตอร์ที่เราต้องการ โอเค เราก็ดูเค้าไปก่อน แนะนำตัวอะไรของเค้าไป "หนูชื่อสุธิดา นามสกุลหงษาค่ะ" เราก็เฮ้ย นามสกุลนี้เหมือนกับนักร้องคนนึง "หงษ์ทอง หงษา" เราก็เอ๊ะ...เป็นอะไรกัน เราก็เรียกมาถามว่าเป็นอะไรกัน "อ๋อ หงษ์ทอง หงษา เป็นอาหนูค่ะ เป็นน้องของแม่ เค้าตายไปแล้วนะ" ก็พูดเล่าให้ฟังหมดเลย เราก็ถามว่าสนใจเล่นหนังมั้ย ตอนแรกเค้าก็ยังไม่เชื่อ ก็บอกว่า "เดี๋ยวลองถามแม่ดูก่อน" แหม เล่นตัวด้วยนะ อะไรประมาณนี้ เราก็โอเค ดูเด็กคนอื่นต่อไป ก็ยังไม่เข้าตา ก็คุยกับแม่น้องน้ำขิง แม่ก็บอกว่า ก็ลองดูก็ได้ค่ะ ถ้าได้ คุณบิณฑ์ก็เอาไปก็แล้วกัน ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราก็เลยลองเขียนบทให้เค้าเล่น เค้าก็ "โอ้โห ให้เล่นผีเข้าเลยเหรอ ต้องทำยังไง" เราก็อธิบายเค้าว่าเป็นยังไง หน้าตาต้องดุๆ ถลึงตา ตัวก็ต้องสั่นๆ นะ เค้าก็เล่นให้ดู ซึ่งเค้าไม่เคยเล่นมาก่อนนะ เพราะเค้าร้องแต่เพลง โอ้โห พอสั่งแอ็คชั่น เค้าก็เล่นเต็มที่ ตัวสั่นๆๆๆ ผมเผิมสะบัดเข้า มองจ้องชี้หน้าด่า เราก็บอกว่า ใช่เลยเด็กคนนี้ต้องเป็นเรณูเลย ซึ่งในเรื่องจริงๆ มันก็จะมีบทเนี่ย บทแกล้งว่าผีเข้า ต้องหลอกปัญญาให้กลัว ให้มารักเรณู ก็ใช้ได้เลย นี่คือที่มาของ "น้องน้ำขิง" ในบทนี้ มาถึงตัว "ปัญญา" ผมดูอยู่ในงานนั้น ก็มีหลายคนหน้าตาโอเคเป็นเด็กบ้านนอกน่าสงสารแต่อ้วน บางคนหน้าตาไม่ได้แต่ตัวผอมแกร่ง มาเล่นก็ยังธรรมดาเพราะขี้อาย เด็กบ้านนอกส่วนใหญ่จะขี้อาย แต่ความสามารถเค้ามีอยู่ วงโปงลางอะไรต่างๆ เค้าจะเล่นได้หมด สุดท้ายก็ไม่ได้ ได้แต่น้องน้ำขิง หนังเราก็ใกล้เปิดกล้องแล้วจะทำไงดี แล้วเพื่อนก็โทรมาบอกว่าไปดูหนังเรื่อง "ครูบ้านนอกฯ" มีเด็กคนนึงนะหน้าตาใช้ได้ และเล่นโอเคเลย เราก็โทรหาธุรกิจกองถ่ายเลย "อ๋อ เด็กคนนี้อยู่ที่กาฬสินธุ์ คุณบิณฑ์จะเอามาดูมั้ย" ผมก็ติดต่อให้เอามาดู พอดีผมไปดูน้องน้ำขิงอีกครั้ง ก็นัดเค้ามาเจอกันที่อุบลฯ ก็นั่งรถมาพร้อมกับคุณแม่ ก็แต่งตัวหล่อมาเลย สไตล์เล่นหนังมาแล้วอะไรอย่างงั้นเลย แต่เราอยากเจอที่มันดิบๆ เป็นธรรมชาติที่สุด พอมาเจอเราก็มองเค้า เออหน้าตาเค้าได้ แต่เค้าไม่ผอมไง ถ้าเค้าผอมกว่านี้จะเป็นภาพที่ผมวางไว้เลย แต่ไม่ผอมก็ไม่เป็นไร ก็ลองให้เค้าเล่นดู ซึ่งเราก็ไปดูหนัง "ครูบ้านนอกฯ" มาแล้ว ก็เห็นว่าเค้าเล่นดราม่าได้ดี ร้องไห้ได้เลย ก็ลองให้เค้าเล่นร้องไห้ เพราะในภาคแรกต้องมีบทร้องไห้ แต่เค้าก็ยังทำไม่ได้ เราก็เลยเปลี่ยนบทให้เรณูมาจีบปัญญา เค้าก็เขินๆ ก็ยังไม่ได้ถูกใจเราเหมือนอย่างตอนน้ำขิงที่โดนใจเราเป๊ะๆ เลย แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปให้ครูสอนนิดหน่อยก็น่าจะได้ละ แต่ตอนนั้นก็คิดแล้วว่าต้องเอาแล้วล่ะ เพราะว่าเด็กก็มีประสบการณ์การแสดงมาบ้างแล้วก็ไม่น่าจะยาก เราก็บอกทั้งคู่ว่า นี่นะจะให้เล่นบทปัญญากับเรณูนะ ก็ทำตัวให้สนิทสนมกันไว้ แล้วผมก็ไปเลือกเด็กคนอื่นๆ เพื่อมาเล่นเป็นเพื่อนๆ ของเรณูกับปัญญา ก็ไปได้ "ไอ้จอบ" มา เค้าเป็นนักดนตรี เป็นโฆษกอยู่ในวงของโรงเรียนวารินชำราบ พอวงนี้มาเล่นปุ๊บ เค้าก็จะออกมาพูด "เพื่อนๆ ครับ..." เออ เราก็เห็นละ เด็กมันมีคาแร็คเตอร์ของมันดี คือสังเกตได้ ฟันมันจะเหยินออกมาเยอะ คนที่มีคาแร็คเตอร์เราจะชอบ เราก็เลยติดต่อให้มาเล่นเป็นเพื่อนปัญญา อีกคน "ไอ้แหว่ง" พูดไม่ชัด เค้าก็ออกมาเคาะกรับเป็นจังหวะ เราก็มอง เฮ้ย...มันเป็นคนที่หน้าตาดีนะ แต่อาภัพตรงแค่เรื่องปากแค่นั้น จะให้พูดอะไรก็ไม่ค่อยกล้าพูด พูดแล้วกลัวว่าคนไม่รู้เรื่อง เพราะเค้าพูดไม่ชัด เออ...คนนี้ก็มีคาแร็คเตอร์ของเค้าดี ก็เอามาเล่นเป็นเพื่อนปัญญาด้วย ก็มีหางเครื่องหลายคนซึ่งดูแล้วก็เล่นได้ เต้นได้เก่ง ก็เอามาเล่นเป็นเพื่อนของเรณู จนกระทั่งครบหมดแล้วก็เปิดกล้อง ทุกอย่างมันก็โอเค ลงตัวหมดครับ การกำกับการแสดงเด็กๆ ผู้กำกับหลายคนว่ายาก สำหรับพี่บิณฑ์เองเป็นยังไงบ้าง อย่างที่ผมบอกว่าผมโชคดีที่ได้เด็กๆ กลุ่มนี้มา บางทีเราบอกไปแค่นี้ พี่ต้องการให้เป็นธรรมชาติที่สุดนะ อย่าคิดว่าถ่ายหนัง อย่าคิดว่าเล่นไม่เหมือน อย่างน้ำขิงที่เล่นเป็นเรณูเนี่ย บอกเค้าปุ๊บเค้าจะเข้าใจทันที เรณูนะเรารักผู้ชายคนนี้ ในอนาคตเค้าต้องมาเป็นสามีเรานะ ต้องมีลูกมีเต้าอยู่กับเรานะ ห้ามใครมามองมาแย่ง ใครเข้ามาต้องกันไว้เลยนะ ส่วนปัญญาเนี่ย เราก็บอกไปว่า เราชอบเค้าเป็นแค่เพื่อน ถ้าเกินเพื่อนเราก็จะรู้สึกว่าไม่ได้แล้วนะ ตัวน้องทิวแรกๆ ก็จะไม่ค่อยธรรมชาติเท่าไหร่ เพราะเค้ามาจากกาฬสินธุ์คนเดียว ซึ่งเค้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนพวกนี้ที่เป็นเพื่อนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน เค้าจะสนิทกันมาก เพราะฉะนั้นผมก็ให้เค้ากินนอนอยู่ด้วยกัน ทีนี้ซักพัก ก็เริ่มสนิทสนมกัน มีพูดจาหยอกล้อกันได้ละ ทำให้เราเริ่มถ่ายตรงนี้ได้สบาย

ภาค 2 นี้ยังคงคิดเรื่อง-เขียนบท-กำกับทั้งหมด ครับ เหมือนเดิมครับ เพราะเหมือนกับว่าไอ้เรื่องพวกนี้มันอยู่ในสมองของเรา เราต้องการอะไรยังไง เหมือนภาคแรกเราคิดต่อเนื่องมายังภาคสองมั้ย คนที่ดูภาคแรกก็จะรู้ จะเข้าใจภาคสองทันที ใครที่ไม่ได้ดูภาคแรกก็อาจจะไม่เข้าใจในบางตัวละครนิดหน่อย ทั้งโจร, ทั้งเด็กกรุงเทพฯ คือถ้าดูภาคแรกก็จะรู้เลยว่ามันต่อเนื่องกันมา แต่อย่าง "ตุ๊กกี้" เข้ามาได้ยังไงนี่ โอเค คุณไม่ต้องไปดูภาคแรกเลย คุณจะดูรู้เรื่องได้เลยว่ามาได้ยังไง ตัวละคร "คุณหม่ำ" ก็จะรู้ได้ทันทีว่ามาได้ยังไง ถ้าพูดถึงภาคหนึ่งกับภาคสองเนี่ย มันก็ยังเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องในชีวิตของผมมาอยู่ เหมือนกับว่าภาคนี้จะเริ่มมาโชว์ลวดลายในเมืองมากขึ้น โชว์ความเป็นอีสานมากขึ้น ด้วยความที่คนอีสานเนี่ย ถ้าใครช่วยอะไรเค้าแล้วเนี่ย วันหนึ่งเค้าต้องตอบแทน ถ้าขอความช่วยเหลือมา เราก็จะไปช่วยเหลือเป็นการตอบแทนอะไรอย่างนี้ ความยากง่ายในด้านการเตรียมงานต่างๆ ของภาคนี้เป็นอย่างไรบ้าง จะยากมั้ย ก็ไม่เท่าไหร่นะครับ แต่ภาคหนึ่งนี่จะยากกว่าภาคสองแน่ๆ เพราะเป็นครั้งแรก เราต้องหาทุกอย่างหมดเลย เอ๊กซ์ตร้า, วงดนตรีต่างๆ, โลเกชั่นที่เหมือนกับที่เราต้องการจริงๆ แล้วก็กว่าจะได้คนมา มันก็ทำให้รู้สึกว่ายากจริงๆ แต่ภาคสองนี่มันมีหมดแล้ว สถานที่เหมือนเดิม นักแสดงเหมือนเดิม เพียงแต่จะเปลี่ยนธีม เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนคำพูดให้ไม่ซ้ำกับภาคแรก ให้ดูสนุกกว่าภาคแรก แล้วพวกแก๊กพวกมุกต่างๆ ในหนัง ผมไม่ได้อุปโลกน์ขึ้นมานะ มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งบางทีก็น่ารัก บางทีก็น่าสงสาร มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ โลเกชั่นหลักๆ ก็ยังเป็นที่วารินชำราบ อุบลฯ อยู่ เพราะมันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่น่าเล่นเยอะ เป็นอะไรที่มองแล้วมันเขียว แต่พอมันแห้งแล้งก็ดูแห้งแล้งจริง มีวัวมีควาย รถอีแต๋น ยังดูเป็นลูกทุ่ง ท้องทุ่งท้องนาอยู่ การดำเนินเรื่องราวของภาคต่อนี้ เปิดตัวภาคสองมาเนี่ยก็คือ ภาคแรกปัญญาจะสนิทกับควายมาก เรณูจะรู้เลยว่าปัญญาไปไหน ไปเลี้ยงควาย ตรงนี้คือที่เรณูมันขาดไป พอปัญญาไปเลี้ยงควาย เค้าก็ไม่รู้จะไปทำไม ไม่มีอะไรทำ พอภาคสองผมก็คิดละว่า เรณูจะต้องมีควาย พอปัญญาเอาควายไปเลี้ยง เรณูก็จะได้เอาไปเลี้ยงด้วย จะได้มีความใกล้ชิดกัน เรณูก็เลยพาพ่อไปซื้อควายมาเลี้ยง โดยจังหวะที่ไปซื้อควายเรณูก็เลยไปเจอตุ๊กกี้ แล้วบังเอิญก็ได้มาอยู่ด้วยกัน ส่วนด้านหม่ำเนี่ย ภาคแรกเรานึกอยากให้โผล่ก็โผล่แบบมารับเชิญนิดหน่อย แต่ภาคสองเนี่ยหม่ำจะมีเนื้อเรื่องมากขึ้น เป็นคนที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน แล้วก็มาเจอปัญญากับจอบ ก็จำได้ว่าเคยเจอกันมาก่อนตอนภาคแรกที่ขับรถไปส่งก็เลยสนิทกันต่อมา หม่ำก็มีอาชีพเผาถ่านในหมู่บ้านนั่นแหละ แต่ทีนี้พอหม่ำมาเจอกับตุ๊กกี้เนี่ยก็จะกัดกันตลอด ไม่ชอบหน้ากัน แต่ในใจลึกๆ จริงๆ ก็แอบชอบนะ แต่เล่นท่ากันอยู่ แล้วก็จะมีเหตุการณ์ที่อยู่ด้วยกันแล้วก็น่าประทับใจ แล้วก็ช่วยเหลือกันในยามคับขันอะไรอย่างงี้ แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ชาวบ้านกับพระก็ยังคอยช่วยกันอยู่เหมือนเดิม แล้วสุดท้ายเนี่ยมันก็มีเหตุการณ์ให้เด็กบ้านนอกต้องเข้าไปช่วยเด็กกรุงเทพฯ ในการแข่งขันร้องเพลง ทีนี้พอเข้ามากรุงเทพฯ มันก็จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ก็ต้องติดตามดูครับ

เหตุผลในการเลือก "หม่ำ จ๊กมก" และ "ตุ๊กกี้" มาเสริมทีมฮา ผมว่า ณ ปัจจุบันนี้เนี่ย ตุ๊กกี้เป็นอะไรที่ต้องยอมรับนะครับว่าเป็นอัจฉริยะของตลกหญิง ถ้ามีในเรื่องไหน แค่เห็นในโปสเตอร์ ผมว่าก็ต้องฮาละ ก็เลยอยากเอาหม่ำกับตุ๊กกี้เข้ามาช่วยสร้างสีสัน ทำให้หนังมีเนื้อหนังมีหน้าหนังมากขึ้น มีความสนุกสนานเฮฮามากขึ้น มันครบรสเลย ไม่ใช่ตลกอย่างเดียว แล้วก็ไม่ได้เครียดนะ เข้าไปดูหนังปัญญาเรณูแล้วก็จะรู้สึกว่า มันยิ้มได้ มันมีความน่ารัก หม่ำกับตุ๊กกี้ ผมมองไว้เลยว่าถ้าทำภาคสองเนี่ยจะต้องมี แต่บทบาทก็ไม่ได้เข้ามาเบียดเด็กนะ ผมเอามาเสริมให้ดูดี ให้เด็กสองคนนี้รู้สึกว่าเค้าได้พัฒนามากขึ้น เมื่อมีพี่สองคนนี้เข้ามาอยู่ เข้ามาร่วมแสดงกับพวกเค้า การร่วมงานกับทีมนักแสดงหลัก การกำกับทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่เป็นอย่างไร รุ่นใหญ่นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย อย่างหม่ำเนี่ยบอกไกด์นิดเดียวแล้วก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเค้าเลย แล้วเราก็ชอบที่เค้าเล่น อย่างตุ๊กกี้ก็เหมือนกัน พี่ต้องการให้หนูทำอะไร อย่างงี้ๆ โอเค จัดให้ เค้าก็ทำของเค้าไปเอง ซึ่งพอเราดูหน้ามอนิเตอร์เราก็โอเค แต่บางทีเค้าก็ขออีกครั้งนะ เผื่อจะเล่นดีกว่าเก่า ส่วนรุ่นเด็กนี่พอต้องมาเล่นกับมืออาชีพรุ่นใหญ่เนี่ย จะรู้สึกฝ่อ จะไม่ค่อยกล้าเล่น บางทีน้องน้ำขิงเล่นกับตุ๊กกี้ปุ๊บ จะรู้สึกแหยเห็นชัดเลย พอตุ๊กกี้เค้าปล่อยเต็มที่เนี่ย น้ำขิงเค้ารับไม่ได้ ทำให้งงๆ ยิ้มแหยๆ ซึ่งเราจะคัททันที และอธิบายให้เค้ากล้าเล่นกล้าพูดกล้าล้อกล้าเถียง ไม่ใช่ไม่กล้าพูดมันไม่ใช่ เหมือนอย่างหม่ำที่สอนทั้งปัญญากับจอบว่าพูดได้ จะด่าจะว่าอะไรได้เลย เราเป็นเพื่อนกัน เด็กมันแหยเพราะไม่เคยเล่นกับซูเปอร์สตาร์ระดับนี้ พอซักพักนึงเค้าก็เล่นกันได้เลย เราก็บอกตุ๊กกี้ว่าเด็กมันไม่กล้าเล่น ก็จะให้ตุ๊กกี้คอยเล่นโน่นนี่ ทำตัวสนิทสนมกันหน่อย เด็กมันจะได้กล้าเล่น กล้าตีรุ่นเท่า ก็โอเคครับ การทำงานโดยรวมก็ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ การถ่ายทำใช้เวลาอยู่นานเท่าไหร่ เกือบ 2 เดือน ภาคแรกประมาณ 3 เดือนกว่าเกือบ 4 เดือนเพราะช้าเรื่องตัวแสดงเรื่องโลเกชั่นอะไรต่างๆ แต่ภาคสองนี่ทุกอย่างมันเคลียร์หมดเลยพอเราไปถึงก็ไปใส่ตู้มๆๆๆ ก็ประมาณเดือนกว่าๆ เอง ดีฮะ เพราะว่าถ้าผมรออีกเดือนหรือสองเดือนผมเสร็จเลย เพราะว่าน้ำท่วมอุบลฯ เพราะตอนนั้นหลังจากปิดกล้อง 2-3 อาทิตย์ น้ำก็ท่วมกาฬสินธุ์, อุบลฯ, ศรีสะเกษโดนหมดเลย

ฉากใหญ่ไฮไลต์ของเรื่อง ภาคนี้ก็ยังมีฉากใหญ่ที่น่าสนุกน่าชม และสะท้อนบรรยากาศความเป็นอีสานอยู่หลายๆ ฉากเลยนะครับ อย่าง ฉากตลาดควาย เปิดเรื่องเนี่ย ผมคิดภาพไว้เลยว่าถ้าเค้าจะไปซื้อควายเนี่ย มันจะต้องมีควายเยอะๆ สามารถเลือกได้ ให้เห็นว่าภาคอีสานนี่ควายเป็นพันๆ ตัว แต่แปลกอย่างนึง ซึ่งวันที่เราเปิดกล้องไป เราเอาควายชาวบ้านมาตัวนึงมันชื่อ อีนวล แล้วชาวบ้านเค้าต้องเอาควายมาเข้าฉากด้วยระยะทาง 6 กิโล แล้วเดินมาด้วยนะครับ ไม่มีรถ สมมติเรานัด 9 โมงเช้า เค้าต้องเดินตั้งแต่ตี 5 เราก็รู้สึกว่ามันทรมานควายกับเจ้าของด้วย ซึ่งเราก็ถ่ายไอ้ตัวนี้ไปบ้างแล้วล่ะ แต่พออีกวันเราก็ไปถ่ายซีนที่ซื้อควายเนี่ย ผมก็ไปเจอตัวนึง ซึ่งคนที่ซื้อไปเนี่ยอาจเอาไปเลี้ยง เอาไปฆ่า เราก็เลยตัดสินใจซื้อเลยตัวนึง 25,000 ก็ถามเจ้าของว่าชื่ออะไร มันชื่อ อีนวล เราก็เฮ้ยชื่อเดียวกันกับตัวก่อนนั้นเลย แล้วหน้าตามันก็สวยมากเลยนะ เราก็เลยซื้อควายตัวนั้นมาที่กองถ่ายเลย ให้ชาวบ้านคนนึงเป็นคนดูแล แล้วทุกวันนี้เราก็ยกให้เค้า แล้ว ณ ปัจจุบันนี้มันก็คลอดลูกเป็นตัวผู้อีกตัวนึงซึ่งเค้าบอกว่ามันซนมาก เจ้าของก็ตั้งชื่อให้ว่า ปัญญา (หัวเราะ) เออก็แปลกดี แล้วอีนวลตัวที่ซื้อมามันก็เชื่องมาก จะจับให้มันนอน ให้ทำอะไรก็ทำหมด แล้วมันชอบกินมะม่วงสุกๆ มาก เห็นควายกินมะม่วงยิ่งกว่ากินหญ้าอีก มันก็แปลก แต่ทำให้เรารู้สึกว่า เราได้ฉากที่เราต้องการจริงๆ เราตื่นกันตั้งแต่ตี 2 ไปถึงโลเกชั่นกันตี 3 แต่งหน้าแต่งตาอะไรเสร็จประมาณตี 4 กว่าๆ ตี 5 เราเริ่มถ่าย มันก็เริ่มสว่าง พระอาทิตย์ก็เริ่มขึ้น จากควาย 2-3 ตัว เป็น 10 ตัว เป็น 100 ตัว เป็น 600 ตัว จนเป็นพันๆ ตัว โอ้โห...เยอะมากเลย เราก็ให้กล้องตั้งแช่ถ่ายควายไว้เลย เค้าจะเป็นตลาดซื้อขายควายกันเดือนละ 2 ครั้ง อยู่ห่างจากอุบลฯ ไปประมาณ 20 กิโล ฉากนี้ก็เป็นฉากที่ชอบฉากนึงเลยครับ ฉากลงแขกเกี่ยวข้าว ทุกวันนี้ก็ยังทำกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน ภาคกลาง ก็ยังทำกันอยู่ ซึ่งชาวบ้านเค้าจะรู้เลยว่า การปลูกข้าวเนี่ย เค้าไม่ได้ปลูกพร้อมกัน บางทีบ้านนี้ปลูกก่อน อีกอาทิตย์นึงบ้านต่อไปปลูก และเวลาข้าวมันสุก มันก็จะไล่ๆ กันไป บ้านนี้ข้าวสุกปุ๊บ บ้านอื่นยังไม่สุก เค้าก็มาช่วยกันลงแขกกันเป็นร้อยๆ คน ช่วยกันเกี่ยวข้าว พอบ้านนี้เสร็จละ อาทิตย์หน้าอีกบ้านก็จะสุก ก็จะมาผลัดกันช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว หมายถึงความสามัคคีกันในหมู่บ้าน ซึ่งมันน่าจะมีอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่เดี๋ยวนี้หายากมาก เพราะเราไปแบ่งสีขึ้นมา มันก็เลยไม่ใช่อย่างนั้นแล้วไง ผมก็เลยคิดว่า อยากให้ชาวบ้านมีความสามัคคีกัน มีการละเล่นกัน เหมือนกับเมื่อก่อน 20-30 ปีเป็นยังไงก็อยากให้เป็นอย่างงั้น แต่เดี๋ยวนี้รถไถก็มีเยอะ แทร็คเตอร์ก็มีเยอะ แต่ความสัมพันธ์ ความเป็นมิตรภาพ ความเป็นลูกบ้าน-พ่อบ้านกัน มันหายไป ผมก็เลยเอาตรงนี้เข้ามา ก็อยากให้กลับมาสามัคคีกันเหมือนเดิม ฉากหนังกลางแปลง เดี๋ยวนี้ยอมรับว่าไม่ค่อยมี แต่ต้องเข้าไปลึกๆ จริงๆ ก็ยังมีอยู่ และฉากนี้มันก็เป็นสิ่งที่เกิดกับผมจริงๆ ไอ้ฉากขายยาถ่ายพยาธิเนี่ย ก็ไปดูหนังขายยานี่แหละ เค้าก็ฉายหนังไปซักพัก แล้วก็หยุดขายยาถ่ายพยาธิ ใครกินยาเข้าไปแล้ว มีพยาธิออกมา เอามาขายเลย ตอนนั้นเค้าให้ตัวละสองบาท โอ้โห...ผมก็กินไป มันออกมาประมาณ 6-7 ตัว ผมก็ไปอึใต้ถุนวิกมันเป็นไม้เก่าๆ แล้วก็เขี่ยเอาพยาธิไส้เดือนเนี่ยไปขาย โอ้โห...คนรอขายกันเต็มเลย มันเหมือนในหนังเลย มันคือชีวิตของเรานี่แหละ ปรากฏว่าไอ้ทีมที่ฉายหนัง ฉายเสร็จเค้าก็ไปกันเลย ไปตั้งแต่คืนก่อนนั้นแล้ว เค้ามาหลอกเราซื้อยาถ่ายพยาธิกิน เค้าบอกมารับซื้อตอนเช้า เค้าก็ไม่มา นั่นคือชีวิตจริง เราก็อยากให้เห็นว่า ยังไงคนต่างจังหวัดเค้าก็เชื่อว่าคุณพูดจริงทำจริง แต่แล้วเค้าก็โดนหลอกเหมือนเช่นเคย มันเป็นธรรมชาติของคนบ้านนอกจริงๆ เราก็เลยสร้างฉากนี้ขึ้นมา เพื่อใครเข้าไปดูแล้วอาจจะนึกถึงอดีตสมัยเด็กๆ แล้วมันก็จะมีความสุข ฉากประกวดร้องเพลง ผมโชคดีครับผมได้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติในการถ่ายทำฉากนี้ ซึ่งอธิบดีกระทรวงวัฒนธรรมให้เกียรติเรามาก เงินทองไม่คิดเลย เพราะเค้าดูหนังปัญญาเรณูภาคแรก เค้าไปมาทั้งครอบครัว เค้าชอบเค้าชื่นชม เค้าก็ให้ใช้โลเกชั่นได้เต็มที่เลย ฉากนี้เลยอลังการ เป็นอย่างที่เราฝันเลย มุมกล้องมันจะค่อยๆ ถ่ายวงดนตรีไล่ขึ้นมาจากโพเดียม หางเครื่องก็ประมาณ 40-50 คน ร้องเพลง มีไดร์ไอซ์ มีฟองสบู่ มันก็โอเค ได้ภาพตามที่เราคิด เหมือนภาคสองเราอยากได้อะไรก็ได้ตามที่เราคิดจริงๆ ฉากนี้เป็นฉากจบที่ถ่ายอยู่ประมาณ 3 วันครับ เป็นการประกวดร้องเพลงตอนท้ายเฮฮา สนุกสนาน สุดท้ายแล้วก็มีดราม่า หนังผมสุดท้ายมันต้องมีดราม่าทุกที (หัวเราะ) เพลงในเรื่องนี้ก็สนุกพอๆ กับภาคแรก แต่ภาคนี้เราจะไปเน้นความเป็นอีสานกับความเป็นคนกรุงมากกว่า ซึ่งเมื่อนำมาผสมผสานกันแล้ว มันสามารถกลมกลืนไปด้วยกันได้ดีเลยครับ คอสตูม-งานสร้างฉากในเรื่องนี้ ก็คิดว่าน่าจะอลังการ ถ้าเป็นฉากในคอนเสิร์ตมันก็โอเค แต่ถ้าเป็นฉากในบ้านนอกผมก็อยากให้เป็นธรรมชาติมากกว่า ไม่ใช่ไปแต่งอะไรมากมาย ก็ให้ออกมาธรรมชาติ เราก็โอเคมากกว่า เอาดิบๆ เดิมๆ อย่างนั้นเลย ก็ถือว่าเอาเนื้อเรื่อง เอาความสนุกสนานของหนังเป็นหลักมากกว่า

เสน่ห์และความน่าสนใจโดยรวมในหนังเรื่องนี้ ผมว่าจุดเด่นจริงๆ ก็คงเป็นความน่ารักเหมือนเดิมของเด็กๆ ทั้งปัญญาและเรณู รวมถึงภาคนี้จอบจะมีอะไรเข้ามาสนุกสนานมากขึ้น ภาคที่แล้วอาจจะแค่แจมๆ นิดหน่อย แต่ภาคนี้ก้าวเข้ามาเต็มตัว จอบเรื่องนี้น่ารักมากนะครับ แล้วก็มีน้องๆ หน้าใหม่ๆ เข้ามาเสริมในทีมของเด็กกรุงเทพฯ ด้วยนะครับ จุดเด่นอีกอย่างก็คือเรื่องรักใสๆ ความเป็นห่วงเป็นใยกัน การพูดถึงอนาคตว่า จะต้องเรียนให้จบปริญญา แต่มีความค้านระหว่างปริญญากับเรื่องเงิน เพราะฉะนั้นเด็กต่างจังหวัดจะมักไม่ค่อยคิดเรียนจนจบปริญญา เรียนพออ่านออกเขียนได้แล้วก็จะเริ่มทำงาน แต่มีความคิดของเรณูเข้ามาเสริมว่า เราต้องเรียนเยอะๆ จะได้มีความรู้มากๆ สิ่งนี้เป็นสาระที่ผมได้แอบแฝงไปในหนังให้มีความคิดกับเด็กๆ หลายๆ คน แล้วก็มันเป็นหนังที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอีสานยังอยู่ครบ เป็นความสามัคคีกันในหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องโจรผู้ร้าย ถ้าร่วมมือร่วมใจกันก็สามารถจับได้ เด็กๆ ทั้งหมดก็ยังคงความเป็นปัญญาเรณูภาคแรกไว้ แต่จะน่ารักกว่าเดิม สนุกสนานมากขึ้นกว่าเดิม โดยได้ตุ๊กกี้กับคุณหม่ำเป็นคนที่จะเข้ามาเพิ่มเติมสีสันให้มากขึ้น ดูแล้วจะหัวเราะมากขึ้น ยิ้มมากขึ้น ความประทับใจมากขึ้น และยังดูได้ทั้งครอบครัวทั่วไปเหมือนเดิมครับ ตัวอย่างหนัง ปัญญาเรณู ภาค 2

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ผู้กำกับ บิณฑ์ เผยที่มาของหนัง ปัญญาเรณู 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook