บิล คอนดอน เถียง Breaking Dawn ไม่ห่วย!

บิล คอนดอน เถียง Breaking Dawn ไม่ห่วย!

บิล คอนดอน เถียง Breaking Dawn ไม่ห่วย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


"ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะไม่มีผลอะไรกับผม แต่มันกลับมี ผมเป็นคนที่ชอบอ่านบทวิจารณ์ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งในการทำภาพยนตร์ และมันก็น่าหงุดหงิดที่ไม่ค่อยมีคนชมชอบสิ่งที่คุณทำ"

บิล คอนดอน กล่าวอย่างน้อยใจกับเสียงตอบรับที่นักวิจารณ์มีต่อผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของเขา The Twilight Saga: Breaking Dawn - Part 1 เพราะที่ผ่านมาผู้กำกับและนักเขียนบทคนนี้ไม่ค่อยจะเผชิญกับคำวิจารณ์แย่ ๆ มากนัก เมื่อผลงานการเขียนบทเรื่องแรกของเขาเรื่อง Gods and Monsters ก็ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมายตามมาจากเรื่อง Chicago และ Dreamgirls

ความลังเลใจได้เกิดขึ้นตอนที่เขาตัดสินใจเซ็นสัญญาเพื่อทำตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ "ผมมีหลากหลายความคิดในหัว แต่มันก็มีเหตุผลที่ดีมารองรับไว้ได้" บิล คอนดอนเปิดใจ "ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของผู้หญิงโดยเฉพาะเลยจริง ๆ มันเป็นความสัมพันธ์แบบผู้หญิง ซึ่งสามารถสร้างเป็นประเภทหนังอีกประเภทหนึ่งได้เลย ซึ่งหมายความว่าคุณต้องใช้เวลาส่วนใหญ่พูดถึงความรู้สึกต่าง ๆ คุณต้องใช้เวลาอย่างมากในการทำฉากแต่งงาน และสิ่งเหล่านั้นก็คือหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้ ไม่แปลกถ้าคุณจะต่อต้านมัน แต่ผมหวังว่ามันจะได้รับการยอมรับบ้างว่า นี่ไม่ใช่หนังที่ทำมาเพื่อผู้หญิงอย่างเดียว แต่มันนำเสนอวิธีการบางอย่างที่ควรได้รับความสนใจและควรได้รับการศึกษา"

ความคลั่งไคล้อย่างถึงขีดสุดที่แพร่กระจายไปทั่วอินเตอร์เน็ตของชาว Twihards ก็ยิ่งทำให้นักวิจารณ์ทั้งหลายดูถูกกระแสนี้และตัวหนังมากยิ่งขึ้น ซึ่งคอนดอนก็ให้ความเห็นว่า "ผมเชื่อว่ากระแสความดังของมันทำให้นักวิจารณ์รู้สึกเอือมระอาจริง และนั่นก็เป็นการกระทำที่น่าอับอายมาก เพราะมันมีหนังไม่กี่เรื่องหรอกที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงเพื่อผู้หญิง แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้ชายแก่ ขอโทษที่ต้องพูดแบบนั้น แต่ผมก็รู้ว่าในแอลเอไม่มีนักวิจารณ์ที่เป็นผู้หญิงเลยแม้แต่คนเดียว เหมือนกับว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนเลยที่สามารถเอางานนี้ไปวิจารณ์ได้ ผมไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นถึงจะวิจารณ์งานนี้ได้ แต่ผมรู้มาว่านักวิจารณ์หญิงบางคนก็ชอบเรื่องนี้มาก ๆ ซึ่งผมคิดว่ามันทำให้เกิดความแตกต่าง ผมแค่หวังว่าคนจะหยุดลำเอียงบ้าง" คอนดอนกล่าว

เรื่องราวของสาววัย 18 ปีที่ตกลงปลงใจแต่งงานกับแวมไพร์อายุ 100 ปี แล้วก็ให้กำเนิดลูกผสมออกมา ซึ่งเพื่อนสนิทที่สุดของเธอก็ดันไปหลงรักทารกคนนี้เข้า มันก็ช่วยไม่ได้เมื่อเรื่องย่อโดยสรุปของหนังเรื่องนี้ฟังดูบ้าคลั่งเหมือนกับตัวแฟนคลับของแฟรนไชส์เรื่องนี้เอง คอนดอนจึงต้องวางแผนการถ่ายทอดเรื่องราวนี้อย่างรอบคอบ "ตอนผมเริ่มทำ ผมจะมีลิสต์ไว้ว่า ในส่วนที่ 1 จะมีงานแต่งงาน มีฉากฮันนีมูน หมาป่าพูดได้ การเกิดของทารก การผูกจิต การตายและการกำเนิดใหม่ นั่นคือ 6 สิ่งที่ผมคิดว่าผมต้องทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะฉากการผูกจิตซึ่งเป็นที่ครหาและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก" แม้ความคิดเรื่องการผูกจิตจะเป็นความคิดที่ออกจะหลุดโลกและยากที่จะยอมรับ แต่ผู้เขียนหนังสือ 
สเตเฟนี มายเออร์ ได้ยืนยันว่า เจคอบ จะไม่ทำอะไรเด็กทารกคนนี้จนกว่าเธอจะมีอายุที่เหมาะสม คอนดอนยังให้เหตุผลอีกว่า "การผูกจิตไม่ใช่แค่การตกหลุมรัก แต่คือสายสัมพันธ์ระหว่างกันของสิ่งมีชีวิตที่วิเศษทั้งสองมากกว่า"

และยิ่งไปกว่านั้นยังมีฉากที่โดดเด่นมากที่ไม่มีในหนังสือต้นฉบับ ซึ่งเป็นฉากแฟลชแบ็คไปยังอดีตของ เอ็ดเวิร์ด ในบทบาทของแวมไพร์ผู้หิวกระหาย "ไอเดียของฉากนี้เกิดขึ้นตอนที่ผมได้พบกับ โรเบิร์ต แพททินสัน เป็นครั้งแรก" มันเป็นซีนในโรงหนัง ขณะที่ เอ็ดเวิร์ด กำลังดูหนังเรื่อง Bride of Frankenstein ขณะเดียวกันก็คอยตามล่าเหยื่อของเขาไปด้วย คอนดอนเล่าว่า "แพททินสันพูดถึงความรังเกียจในตัวเองและความสิ้นหวังของตัวละครที่เขารับบทมาทุกภาค มันเป็นเหตุการณ์ช่วงที่เขาแยกตัวออกจาก คาร์ไลส์ล และตัดสินใจที่จะไม่เป็นมังสวิรัติ เพราะนี่เป็นการตามฆ่าเหล่าฆาตกร มันจึงเจ๋งมากถ้าเรื่องมันจะเกิดขึ้นในโรงหนัง"

"ซึ่งในความเป็นจริง มีคนถึงกับเป็นลมตอนที่ได้ดูหนัง Frankenstein และหวาดกลัวกับหนังภาคต่อของมัน (Bride of Frankenstein, 1935) มันจึงเป็นเรื่องตลกที่เจ๋งมากว่า ในขณะที่ผู้ชมกำลังกรีดร้องอย่างหวาดกลัว แวมไพร์กระหายเลือดตัวจริงกลับนั่งอยู่ข้าง ๆ พวกเขา" คอนดอนกล่าว และแน่นอน เบลล่า ก็คือเจ้าสาว ซึ่งมันก็ลงตัวเป็นอย่างมาก แถมยังมีเรื่องบังเอิญอีกเรื่อง ว่าด้วยเรื่องชุดแต่งงานซึ่งก็เป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากในฉากต่อมา เป็นฉากที่เบลล่าฝันร้ายเกี่ยวกับงานแต่งงานของเธอ และชุดแต่งงานอีกชุดหนึ่งก็ถูกใช้เพื่อหลอกคนดู "ในยุคที่ทุกอย่างสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วอย่างยุคนี้ ผมรู้สึกแปลกใจมากเลยที่เราสามารถหลอกคนดูได้" คอนดอนกล่าวอย่างประหลาดใจ

ฉากที่เขาชอบมากที่สุดในเรื่อง กลับกลายเป็นฉากที่ถูกพูดถึงและถูกชำแหละมากที่สุด "มันเป็นฉากที่เบลล่าให้กำเนิดทารกและฉากเสียชีวิตของตัวเธอ มันต้องเป็นฉากที่เข้มข้นมาก นั่นคือสิ่งที่พวกเราต้องการ และเมื่อฉากนั้นกลายเป็นจริง มันก็เจ๋งมาก ๆ" แต่ฉากที่รกพุ่งกระเด็นออกมาก็ทำให้สตูดิโอรู้สึกกังวลใจ แต่คอนดอนก็แย้งว่า "เราได้พยายามกับมัน ผมผลักดันไอเดียให้ไปไกลที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ เพราะพวกเราก็ไม่ชอบโดนจำกัดไอเดีย"

ถ้าคอนดอนทำได้ หนังเวอร์ชั่น Director's Cut จะรวมทั้งสองภาคเข้าด้วยกัน "ผมคิดว่ามันคงจะดีมาก เหมือน The Lord of the Rings เวอร์ชั่นเต็ม ผมคิดว่ามันเป็นหนังสามชั่วโมงครึ่งได้" คอนดอนเผยว่าภาคสองของ Breaking Dawn จะมีความยาวสองชั่วโมงและเต็มไปด้วยสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์กว่า 13,000 ช็อต สาเหตุที่เขาตกลงใจรับกำกับตอนสุดท้ายของหนังด้วยความกระตือรือร้นนั้นง่ายมาก "ผมชอบเนื้อเรื่องของมัน และก็ขอบอกว่ามันจะกลายเป็นหนังประเภทใหม่ ประเภท Twilight เลย แต่ผมก็รู้สึกแปลก ๆ กับช่วงเวลาของมันนะ เพราะมันเป็นการสร้างหนังที่ให้ความรู้สึกเก่าแบบหนังฮอลลีวูดคลาสสิกที่เน้นอารมณ์เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเลี่ยนเว่อร์จนกระแดะ มันทำให้ผมคิดถึงหนังเก่าดี ๆ หลายเรื่องที่เป็นหนังโรแมนติก เมโล
ดราม่า"

 

ดูตัวอย่าง Twilight 5

ติดตามข่าวบันเทิง หนังใหม่ ตัวอย่างหนัง ดูหนังได้ที่ movie.sanook.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook