เลาดา VS ฮันต์ จากเรื่องจริงการแข่งรถ F1 สู่หนัง Rush

เลาดา VS ฮันต์ จากเรื่องจริงการแข่งรถ F1 สู่หนัง Rush

เลาดา VS ฮันต์ จากเรื่องจริงการแข่งรถ F1 สู่หนัง Rush
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนัง Rush อัดเต็มสปีด ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขัน F1 เข้าฉายแล้วในวันนี้ (26 กันยายน) ที่เล่าเรื่องราวของนักแข่งและคู่แข่งที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของ F1 ระหว่าง เจมส์ ฮันต์ (คริส เฮมส์เวิร์ส) และ เลาดา (แดเนียล บรูห์) ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ รอน ฮาวเวิร์ต


ซึ่งวันนี้ S! Movie มีบทความพิเศษ ที่เล่าเรื่องราวการแข่งขันอันน่าตื่นเต้นเข้มข้น ของ เจมส์ ฮันต์ และ นิกิ เลาดา ให้คุณได้รู้จักประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของ F1 ก่อนที่จะเข้าไปชมกับหนัง Rush อัดเต็มสปีด ในโรงภาพยนตร์ 



ย่ำรุ่งแห่งการแข่งขันเส้นทางสู่การชิงแชมป์โลกปี 1976


ปี 1975 นักแข่งชาวออสเตรีย นิกิ เลาดา ครองแชมป์การแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน (หรือที่เรียกกันว่า “เอฟวัน”) ด้วยรถเครื่องยนต์เฟอร์รารี่ และอยู่ในแถวหน้าของการแข่งขันปี 1976 ซึ่งเป็นฉากหลังของ Rush อัดเต็มสปีด 


การแข่งขันอันเหลือเชื่อในปี 1976


ช่วงแรกของการแข่งขันปี 1976 ไม่มีสัญญาณอะไรบ่งบอกเลยว่าจะเกิดการขับเคี่ยวที่ดุเดือดระหว่างนักแข่งสองคนนี้ ผู้รักษาแชมป์อย่างเลาดาคว้าชัย 6 ครั้งใน 9 สนามแรกของฤดูกาล โดยครองอันดับหนึ่งที่บราซิล, แอฟริกาใต้, เบลเยี่ยม, โมนาโก และสหราชอาณาจักร รวมทั้งครองอันดับสองที่สเปนและอเมริกา และอันดับสามที่สวีเดนช่วงกลางของฤดูกาล (8 การแข่งขัน) เลาดาและเฟอร์รารี่ของเขาทำคะแนนนำแบบทิ้งห่างคู่แข่งที่ตามมาถึงสองเท่า ขณะที่เลาดาทำคะแนนนอนมาแบบชิลๆ เจมส์ ฮันต์ ที่ต่อมากลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเขา กลับล้มลุกคลุกคลาน ปีแรกที่ฮันต์อยู่ในทีมแม็คลาเรน เขาไปไม่ถึงเส้นชัยในการแข่งขัน 4 ครั้งของ 6 สนามแรกของฤดูกาล  


ความขัดแย้งตามหลอกหลอนฮันต์แม้กระทั่งเมื่อคว้าชัย เขาเอาชนะเลาดาได้ในการแข่งขันครั้งที่สี่ของฤดูกาลที่สเปน แต่คณะกรรมการถอดเขาออกจากตำแหน่งหลังการแข่งขันโดยให้เหตุผลว่ารถมัลโบโร แม็คลาเรน ฟอร์ด เอ็ม 23 ของเขากว้างเกินไป ทีมแม็คลาเรนประท้วงว่าความผิดปกตินั้นเกิดจากการขยายตัวของยางระหว่างการแข่งขัน พวกเขาอุทธรณ์สำเร็จ แต่ก็ใช้เวลาถึงสองเดือนกว่าจะได้คะแนนของฮันต์กลับคืนมา


ฮันต์คว้าชัยในการแข่งขันที่ฝรั่งเศส (สนามที่ 8) เมื่อเลาดาจำเป็นต้องออกจากการแข่งขันเพราะปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ นั่นคือการแข่งขันเพียงครั้งเดียวที่นักแข่งชาวออสเตรียไปไม่ถึงเส้นชัยหลังจากชัยชนะที่ฝรั่งเศส ฮันต์กลับบ้านเกิดอย่างวีรบุรุษเพื่อแข่งขันในสนามประเทศอังกฤษที่แบรนด์ แฮทช์ อย่างไรก็ตาม เลาดาทำให้ชาวอังกฤษผิดหวังเมื่อเขาอยู่ในจุดสตาร์ทที่ได้เปรียบและนำหน้าในครึ่งแรกของการแข่งขัน แต่เมื่อเลาดาเจอปัญหาเรื่องเกียร์ในอีก 15 นาทีที่เหลือ ฮันต์ก็ขึ้นนำและสร้างเสียงเฮให้กับแฟนชาวอังกฤษ เขาคว้าชัย ส่วนเลาดาครองอันดับที่สอง




แต่ความขัดแย้งก็ตบหน้าฮันต์อักครั้ง การแข่งขันที่อังกฤษจบลงหลังการเริ่มใหม่ในรอบแรก เคลย์ เรกาซโซนี่ เพื่อนร่วมทีมของเลาดาท้าทายเลาดา รถของพวกเขาสัมผัสกัน เรกาซโซนี่หมุนคว้างและถูกฮันต์กับฌาคส์ ลาฟฟิตชน แม้ว่าคันอื่นที่เหลือจะผ่านไปได้อย่างปลอดภัย แต่เศษรถแข่งบนถนนทำให้ต้องเริ่มใหม่แม้ว่าจะถูกบังคับให้ออกจากการแข่งขัน ฮันต์ก็กระโดดขึ้นรถสำรองของทีม เช่นเดียวกับลาฟฟิตและเรกาซโซนี่ หลังการแข่งขัน ทีมเฟอร์รารี่และอีกสองทีมประท้วงชัยชนะจากการใช้รถสำรองของฮันต์ ทีมแม็คลาเรนก็สนับสนุน เพราะการแข่งขันยังไม่ครบรอบแรก ดังนั้นกฎเรื่องการเริ่มใหม่จึงไม่มีผล คณะกรรมการเอฟวันเห็นด้วยกับประเด็นประท้วง จึงถอดฮันต์ออกจากตำแหน่งผู้ชนะ และให้เลาดาขึ้นเป็นผู้ชนะแทน


ก่อนการแข่งขันครั้งที่ 10 ที่ประเทศเยอรมัน ฮันต์ทำคะแนนตีตื้นเลาดาขึ้นมาเล็กน้อย โดยมีคะแนนตามอยู่ 23 แต้ม และยังเหลือการแข่งขันอยู่อีก 7 ครั้ง ยังคงดูเหมือนว่าเลาดาจะครองแชมป์เป็นสมัยที่สองทุกอย่างเปลี่ยนไปที่เยอรมัน   เฉียดตายที่ “เดอะริง” แม้ว่าเอฟวันจะแนะนำนวัตกรรมด้านความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้นในช่วงปี 1960 แต่ก็ยังตามไม่ทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้รถวิ่งได้เร็วขึ้น ใน 56 ปีแรกของกีฬาประเภทนี้ อัตราการเสียชีวิตของนักแข่งอยู่ที่ 3 คนต่อปี ระหว่างปี 1967 ถึง 1975 มีนักแข่งเอฟวันเสียชีวิตในอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขันถึง 13 รายโค้งไหนก็ไม่อันตรายเท่านอร์ดชลีฟที่นูร์เบิร์ก-ริง ประเทศเยอรมัน สนามแข่งที่นักแข่งเอฟวันในตำนานอย่าง แจ็คกี้ สจ๊วต ตั้งชื่อเล่นให้ว่า “นรกสีเขียว” สนามแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาไอเฟลราว 70 ไมล์จากเมืองโคโลญจ์ และที่นั่นมักจะชื้นและหมอกหนา อากาศที่แตกต่างระหว่างจุดเริ่มต้นและปลายทางนั้นเป็นเรื่องปกติ และเส้นทางยาว 14.2 ไมล์ที่ขนานด้วยป่าไม้นั้นมีโค้งมากถึง 177 โค้ง    


เลาดา ผู้สนับสนุนคนสำคัญด้านความปลอดภัยของนักแข่ง ต่อต้านการแข่งขันที่นูร์เบิร์ก-ริง ในการประชุมนักแข่งช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1976 เลาดาเสนอให้นักแข่งคว่ำบาตรการแข่งขันที่นูร์เบิร์ก-ริงแต่แพ้คะแนนโหวต จากการกระตุ้นของสจ๊วต สนามแข่งแห่งนี้ได้ใช้งบประมาณมหาศาลในการปรับปรุงด้านความปลอดภัยโดยสร้างรั้วกั้นและขอบทาง แต่ “เดอะริง” ก็ยังคงถูกมองว่าเป็นสนามแข่งที่น่ากลัวอยู่ดี “ปัญหาของนูร์เบิร์ก-ริงเห็นได้ตั้งแต่แว้บแรก” เลาดาเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา “โครงสร้างของมันทำให้มันเป็นสนามที่ยากที่สุด และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะขับขี่อย่างปลอดภัยตลอดเส้นทาง 14.2 ไมล์ที่รายล้อมด้วยต้นไม้”


แม้ว่าจะกังวล แต่เลาดาก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันเป็นอันดับหนึ่งในประเทศเยอรมัน ตามมาด้วยฮันต์ ในเช้าของวันแข่งขัน (วันที่ 1 สิงหาคม 1976) พยากรณ์อากาศเมืองนูร์เบิร์ก-ริงไม่อาจคาดเดาได้ เมื่อใกล้ถึงเวลาแข่งขัน ฝนก็เริ่มตกลงมา เกือบทุกทีมเปลี่ยนยางเป็นยางสำหรับพื้นเปียก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาด เพราะฝนซาและลมแรงทำให้พื้นแห้ง เลาดาเริ่มต้นการแข่งขันอย่างทุลักทุเลและชะลออย่างรวดเร็วในสนาม เขาจำได้ว่าหยุดรถเพื่อเปลี่ยนยางจากยางเปียกเป็นยางแห้ง และนั่นคือสิ่งสุดท้ายที่จำได้ เมื่อเข้าใกล้โค้ง ไทรอดตัวหนึ่งของเฟอร์รารี่หัก รถแฉลบเข้าข้างทาง ชนเข้ากับรั้วกั้น หมุนคว้างกลางอากาศ และกระแทกลงบนพื้นถนน


รถแข่งคันแรกที่ตามมาสามารถหลบเลาดาและชิ้นส่วนรถได้ แต่คันที่สองซึ่งขับโดย เบร็ตต์ ลังเกอร์ ชนเข้ากับเลาดา ไฟไหม้เฟอร์รารี่ของเลาดา ส่วนคันต่อมาซึ่งขับโดย เฮอราลด์ เอิร์ทล์ ก็ไถลชนเข้ากับรถทั้งสองคัน ลังเกอร์กับเอิร์ทล์ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่รถของเลาดาไฟลุกท่วม นักแข่งหลายคนรวมทั้งลังเกอร์และเอิร์ทล์ช่วยกันดึงเลาดาออกจากรถที่ไฟลุกท่วม พวกเขาดึงเลาดาออกมาได้สำเร็จ แต่ก็หลังจากที่เขาถูกไฟไหม้เป็นแผลฉกรรจ์


เลาดาได้รับการเคลื่อนย้ายโดยเครื่องบินและเข้ารับการรักษาขั้นสูงที่เมืองมานไฮม์ด้วยทีมแพทย์ 6 คน และพยาบาล 34 คนที่ช่วยกันยื้อชีวิตของเขา ผิวหนังของเขาถูกไฟไหม้ระดับ 3 บริเวณศรีษะและข้อมือ กระดูกซี่โครงหักหลายซี่ กระดูกไหปลาร้าและโหนกแก้มแตก ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือความเสียหายของปอดซึ่งเกิดจากการสูดสารพิษจากถังดับเพลิงที่นำมาดับเพลิงในที่เกิดเหตุ  


แม้ว่าสุดท้ายฮันต์จะชนะที่สนามแข่งประเทศเยอรมัน แต่วันต่อมาข่าวอุบัติเหตุของเลาดาและการแข่งขันเฉียดตายกลับครองสื่อ เลาดาอยู่ในสภาพเป็นตายเท่ากันอยู่ถึง 4 วัน แต่เลาดาไม่ยอมแพ้ ตาของเขาเกือบบอด จึงพยายามฟังเสียงเพื่อไม่ให้หมดสติ หลังจากอาการดีขึ้น เขาก็วางแผนกลับไปแข่งทันทีในฤดูกาลเดียวกัน เขาได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักบำบัดโดยออกกำลังกาย 12 ชั่วโมงต่อวัน “ถือว่าผมฟื้นตัวเร็วในสภาวะที่เกิดความเสียหายของอวัยวะสำคัญ” เลาดาเขียนไว้ “แต่ปรากฏว่าอาการบาดเจ็บของผมซับซ้อนกว่านั้น” นอกจากบาดแผลไฟไหม้ขั้นรุนแรงบริเวณใบหน้า เปลือกตาทั้งสองข้างก็ถูกไหม้ไปด้วย บรรดาศัลยแพทย์พลาสติคเสนอความคิดเห็นในการรักษาเขาแตกต่างกันไป แต่เลาดาเลือกศัลยแพทย์ชาวสวิสที่ใช้ผิวหนังจากหลังใบหูมาสร้างเป็นเปลือกตาใหม่ให้เขา


ฮันต์ไปต่อ เลาดาคืนสนาม


เมื่อเลาดาออกจากการแข่งขัน ฮันต์ก็ทำคะแนนขึ้นนำ เขาได้อันดับที่สี่ในการแข่งขันที่ออสเตรีย ตามมาด้วยอันดับหนึ่งที่เนเธอร์แลนด์ กวาดคะแนนขึ้นนำเลาดาสองคะแนนเป็น 58 ต่อ 56 เหลืออีกเพียงสองสนาม และดูเหมือนเลาดาจะไม่กลับมาแข่งในปีนั้นแล้ว แชมป์โลกจึงน่าจะตกเป็นของฮันต์


และแล้วข่าวอันเหลือเชื่อก็ออกมาจากค่ายของเลาดาว่าแชมป์เก่าคนนี้จะคืนสนามในการแข่งขันที่อิตาลีในวันที่ 12 กันยายน 1976 ซึ่งให้หลังอุบัติเหตุเฉียดตายเพียง 6 สัปดาห์ น่าอัศจรรย์ที่เขาได้รับเลือกเป็นอันดับที่ห้าให้เข้าแข่งขันและทำคะแนนอยู่ในอันดับที่สี่ ส่งผลให้แต้มของเขาขึ้นนำฮันต์ ขณะที่ฮันต์เกือบไม่ได้รับคัดเลือกลงแข่งและล้มเหลวในการไปถึงเส้นชัย  



ฮันต์คืนฟอร์มด้วยการคว้าชัยที่แคนาดาและอเมริกา ขณะที่เลาดาได้อันดับที่แปดและสามตามลำดับ ระหว่างนั้น สหพันธ์รถยนต์นานาชาติได้ถอนชัยชนะวันที่ 18 กรกฎาคมที่ประเทศอังกฤษของฮันต์ ขณะนี้เลาดามีแต้มเหนือฮันต์อยู่ที่ 68 ต่อ 65 และเหลือการแข่งขันอีกเพียงสนามเดียวของฤดูกาล นั่นคือที่ประเทศญี่ปุ่น


แม้ว่าคะแนนของฮันต์จะตามเลาดาอยู่ แต่หนุ่มอังกฤษผู้นี้กลายเป็นสมบัติสุดฮอตของวงการรถแข่ง ขณะที่เลาดาคว้าชัยสี่ครั้งในหกสนามแรกของฤดูกาล ฮันต์ก็คว้าชัยสี่ครั้งในหกสนามล่าสุดของฤดูกาลเช่นกันที่ญี่ปุ่น ฮันต์และเลาดาได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันในอันดับที่สองและสามตามลำดับ ตามหลังมาริโอ แอนเดร็ตติ เลาดา อาจจะกังวลเรื่องพยากรณ์อากาศมากกว่า แต่เขารู้ว่ารถของฮันต์คุมได้ดีกว่าบนถนนเปียก นอกจากนี้เขายังกังวลเรื่องดวงตาและความสามารถในการมองเห็นที่ลดลงในสภาพฝนตกด้วย


สิ่งที่เลาดากลัวที่สุดเป็นจริงขึ้นมาเมื่อฝนตกตลอดทั้งคืนบนสนามแข่งนานาชาติฟูจิ ตามด้วยหมอกและฝนที่ตกหนักขึ้นในวันแข่ง ฮันต์และเลาดาในฐานะสมาชิกคณะกรรมการความปลอดภัยเสนอให้ผู้จัดงานเลื่อนการแข่งขันออกไป แต่ไม่มีใครฟัง แม้ว่าการแข่งขันจะช้ากว่ากำหนดเกือบสองชั่วโมง แต่ก็ยังคงมีการแข่งขันตามกำหนดการ ฮันต์ออกตัวเร็วขณะที่เลาดารั้งท้ายอย่างรวดเร็ว หลังสองรอบการแข่งขัน เลาดาชะลอจอดและดับเครื่องยนต์ “มันอันตรายเกินไป” เขากล่าว



ฮันต์ครองอันดับที่สามถัดจากแอนเดร็ตติและแพทริค ดีเพลเลอร์ เขาได้ 4 แต้มจากการแข่งขัน เฉือนเอาชนะและโค่นแชมป์เก่าอย่างเลาดาไปเพียง 1 แต้ม ฮันต์เองยังแปลกใจกับตำแหน่งแชมป์ที่ได้ เพราะเขาเข้าเส้นชัยค่อนข้างช้า “ผมคิดว่านิกิกล้าหาญมากที่ตัดสินใจหยุด ผมเห็นใจเขา” ฮันต์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Sports Illustrated “เขากล้าหาญมากในสถานการณ์แบบนั้น พูดตามตรง ผมคิดว่าไม่ควรให้มีการแข่งขันในสภาพอากาศแบบนั้นด้วยซ้ำ การตัดสินใจไม่แข่งต่อของนิกิถือว่ามีเหตุผล ในสถานการณ์แบบนั้น ด้วยอุบัติเหตุที่นูร์เบิร์ก-ริงและอะไรต่างๆ นานา เป็นใครก็ต้องตัดสินใจเหมือนเขา”


เลาดาออกจากสนามทันทีเพราะไม่ต้องการตอบคำถามสื่อหลังการแข่งขัน หลายปีต่อมา เขาแสดงความเสียใจเล็กน้อยกับการตัดสินใจครั้งนั้น “ผมมองการเสียแชมป์ในปี 1976 ต่างออกไปจากทีแรก ถึงแม้จะไม่ได้โทษตัวเองก็เถอะ ถ้าผมเครียดน้อยลงสักนิดในตอนนั้น ถ้าผมใจเย็นและฝืนทำแต้มอีกสักหน่อยเพื่อให้ได้แชมป์ ผมก็อาจจะได้สี่แต้มแทนที่จะเป็นสาม แต่พูดตามตรง ช่างมันเถอะ”


สิ้นสุดยุค  


เลาดากลับมาทวงตำแหน่งแชมป์คืนในปี 1977 กับทีมเฟอร์รารี่ แต่เหตุการณ์ในปี 1976 ติดตรึงอยู่ในใจแฟนนักแข่งอีกหลายทศวรรษต่อมา เขาเปลี่ยนมาอยู่ทีมแม็คลาเรนและคว้าแชมป์สมัยที่สามในปี 1984 ด้วยคะแนนนำเพื่อนร่วมทีมอย่าง อแลง พรอสต์ เพียงหนึ่งคะแนนครึ่ง หลังจากฤดูกาลแข่งขันปี 1985 เลาดาก็เกษียณตัวเองจากสนามแข่งแผลไฟไหม้ฉกรรจ์บริเวณศีรษะจากการแข่งขันที่ประเทศเยอรมันในปี 1976 ทำให้เลาดามีแผลเป็นขนาดใหญ่ เขาเสียหูด้านขวาไปเกือบหมด เช่นเดียวกับผมบนศีรษะฝั่งขวา คิ้วและเปลือกตา เขาได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมสร้างเปลือกตาและทำให้มันใช้งานได้ แต่ก็ไม่เป็นปกติ นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ เขาต้องสวมหมวกแก๊ปเพื่อปกปิดแผลเป็นบนศีรษะ


นอกจากจะเขียนหนังสือ 5 เล่ม เลาดายังทำธุรกิจสายการบินเลาดาแอร์ ก่อนจะขายกิจการให้กับออสเตรียนแอร์ไลน์ในปี 2000 การต่อสู้อันดุเดือดระหว่างฮันต์และเลาดา ทำให้ฮันต์คว้าแชมป์โลกได้ครั้งเดียวในชีวิต หลังจากปี 1979 ฮันต์ก็เกษียณตัวเองจากการแข่งขันและทำงานเป็นนักพากย์กีฬารถแข่งที่ BBC อยู่หลายปี อีกทั้งรับหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่นักแข่งรุ่นใหม่ด้วย ฮันต์เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายในปี 1993 ขณะอายุ 45 ปี

นิกิ เลาด้า ในปัจจุบัน


อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ เลาดา VS ฮันต์ จากเรื่องจริงการแข่งรถ F1 สู่หนัง Rush

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook