วิจารณ์หนัง ฮาชิมะ โปรเจกต์

วิจารณ์หนัง ฮาชิมะ โปรเจกต์

วิจารณ์หนัง ฮาชิมะ โปรเจกต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นสิ่งที่น่าเชิดหน้าชูตาให้กับหนัง ฮาชิมะ โปรเจกต์ ก็คือการคัดเลือกทีมนักแสดง 5 คนที่มารับบทวัยรุ่นที่รักความตื่นเต้นและความท้าทายจนถึงขั้นลบหลู่! ซึ่งนักแสดงทั้ง ไมค์ พิรัชต์, ออม สุชาร์, สายป่าน อภิญญา, อเล็กซ์ เรนเดลล์ หรือแม้กระทั่งหน้าใหม่อย่าง เจสซี่ เมษวัฒนา ต่างก็ทำหน้าที่ได้ดีเลยทีเดียว เล่นเข้าขารับส่งกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดูเป็นวัยรุ่นในยุคนี้จริงๆ 


ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิดคาดหวังต่อ ฮาชิมะ โปรเจกต์ หนังเรื่องล่าสุดของสตูดิโอ M39 ที่ผลงานก่อนหน้านี้อย่าง คู่กรรมกลายเป็นหนังเสียงแตกแห่งปีเพราะใครที่ชอบก็ชอบมาก ใครที่ไม่ชอบก็อาจเข้าขั้นเกลียดไปเลย ที่โดยส่วนตัวเห็นถึงความไม่กลมกลืนระหว่างคู่พระนาง ซึ่งนักแสดงนำทั้ง 5 ใน ฮาชิมะ โปรเจกต์ ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกดังเช่นงานชิ้นก่อน และเมื่อประกอบเข้ากับเรื่องราวที่มีประเด็นน่าสนใจ เกี่ยวกับ เกาะฮาชิมะ ของประเทศญี่ปุน เกาะร้างที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและเรื่องลือมากมาย ทำให้ ฮาชิมะ โปรเจกต์ เป็นหนังที่มีทะเยอทะยานและน่าติดตามอย่างยิ่ง! จนทำให้คาดหมายว่าจะเป็นผลงานที่กลับมาอีกครั้งของ M39




หนังเปิดเรื่องด้วยประเด็นปัญหาของวัยรุ่นและผู้มีความฝัน ที่พยายามสร้างสรรค์ผลงานเพื่อหวังจะได้รับโอกาสในการทำงาน แต่ต้องเจอกับการปฏิเสธ (หรืออะไรก็ตามที่สื่อความหมายไปในทางปฏิเสธ) ทำให้เมื่อมีโอกาสพุ่งเข้ามา ให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่เกาะฮาชิมะ พวกเขาจึงคว้ามันไว้โดยไม่ได้ไตร่ตรองว่านั่นคือสิ่งที่ควรนำตัวเข้าไปเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งจุดนี้หนังพยายามสื่อให้เห็นถึงความกล้า ความเชื่อมั่น และความดื้อรั้นไม่คิดหน้าคิดหลังของวัยรุ่น จนไปถึงขั้นการลบหลู่ที่ล้อกับสำนวนที่คนไทยทุกคนคุ้นชินว่า
ไม่เชื่อ..อย่าลบหลู่

ก่อนที่หนังจะเดินทางไปสู่ญี่ปุ่นหรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงก็คือ เกาะฮาชิมะ ได้มีการปูประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจทิ้งเอาไว้ เช่น การแอบรักเพื่อนในกลุ่ม การกลับมาร่วมงานแบบเสียมิได้ของตัวละครไมค์ รวมไปถึงเงื่อนงำบางอย่างของหญิงสาวชาวญี่ปุน ที่ได้ โช นิชิโนะ ที่นักดูหนังชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับบทบาทอันร้องแรงใน จันดารา ปฐมบท และ จันดารา ปัจฉิมบท มาร่วมแสดงในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นบทที่มีสำคัญอย่างยิ่งในเรื่อง ซึ่งปมปัญหาต่างๆ ที่ใส่เข้ามา ถือว่าได้ผลในแง่ของการทำให้การเดินทางไปยังเกาะฮาชิมะในครั้งนี้น่าติดตาม และอย่างที่กล่าวในข้างต้น การแสดงที่ดีของนักแสดงชุดนี้ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับตัวละครกลุ่มนี้ ซึ่งมุขตลกต่างๆ รวมไปถึงบทสนทนา สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ


และเมื่อเรื่องราวมาสู่ เกาะฮาชิมะ ความน่าพรึงกล้วที่แท้จริงจึงเริ่มขึ้น ที่สามารถสื่ออารมณ์ของการลบหลู่ผ่านทางการแสดงของนักแสดงออกมาได้ดี แต่ในเรื่องของการหลอก! สถานการณ์ที่ต้องการให้คนดูรู้สึกสะดุ้งกลัว กลับชวนให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมา ถึงวิธีการที่ผู้กำกับ
 ปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร์ เลือกใช้ในหนังเรื่องนี้!


ความน่ากลัวของความเป็นหนังสยองขวัญแบบผี คือการเล่นกับความกลัว และการที่จะทำให้รู้สึกกลัวได้นั้นก็คือ การให้ผู้ชมรู้เห็นตัวของผีหรือวิญญาณให้น้อยที่สุด แต่
 ฮาชิมะ โปรเจกต์ กลับเผยรูปลักษณ์ของผีออกมาตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง จนทำให้เราเริ่มรู้สึกชินกับความน่ากลัวของผีแบบนี้แล้ว ซึ่งไม่ได้บอกว่ามันคือสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง เพียงแต่การที่กล้าเปิดเผยตัวของผีออกมาแต่แรก ต้องมั่นใจว่ามีของเก็บไว้ปล่อยเพื่อจัดหนักใส่ผู้ชมอีก ซึ่งหลังจากนั้นก็พยายามมองหาว่ามีอะไรที่เป็นทีเด็ดที่ทำให้รู้สึกว่าการเห็นผีตั้งแต่ต้นไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการชม ก็ปรากฎว่าไม่มี!


อีกสิ่งที่ชวนสงสัยก็คือวิธีการหลอก จังหวะในการหลอกของเรื่องนี้ ซึ่งมีจังหวะเหล่านี้อยู่มากมาย (เพราะมีตัวละครนำถึง
5 ตัว ต้องจัดให้ครบทุกตัวละคร) แต่วิธีการนั้นดูจะซ้ำซากราวจับยัดไปสักหน่อย กับการทำให้ตกใจหรือกลัวแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือการทำให้มันเป็นความฝัน ซึ่งอาจหวังให้เป็นเหมือนว่า ตัวละครเริ่มรู้สึกถึงการคุมคามของผีก่อนที่จะเจอของจริง ทั้งที่ฉากเหล่านี้บางฉากดำเนินมาดีแล้วควรจะไปให้สุดทาง แต่กลับหักหลบจบง่ายๆ ว่าเป็นความฝันอย่างน่าเสียดาย และการใช้วิธีนี้บ่อยเกินไปส่งผลให้พอถึงของจริงอารมณ์ร่วมเลยไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น


หลังจากที่ตัวละครกลับมาจากเกาะฮาชิมะ แทนที่หนังกำลังเดินตามรูปแบบหนังผีทั่วไป (นึกถึงหนัง Final Destination จะเห็นภาพชัดขึ้น) ที่สถานการณ์ต่างๆ ควรจะมุ่งไปสู่การจัดการตัวละครเหล่านี้ทีละคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่บทสรุปส่งท้ายที่คลายเงื่อนปมต่างๆ ที่สร้างไว้ แต่ว่าบทภาพยนตร์ของ อังเคิล กลับเลือกที่จะเพิ่มปมดราม่าของกลุ่มวัยรุ่นทั้ง 5 คนเข้าไปอีก ซึ่งความเข้มข้นของปมในครั้งนี้ก็เข้าขั้นหนักและใช้เวลามากจนเกินไป เลยทำให้ความหลอนและน่ากลัวที่ได้จากเกาะฮาชิมะ ค่อยๆ จืดจางลงเรื่อยๆ


และเมื่อหนังดำเนินมาถึงฉากสุดท้าย ซึ่งถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของ
 ฮาชิมะ โปรเจกต์ เลยก็ว่าได้ เพราะปมต่างๆ ที่ถูกปูมาแต่ต้นต้องได้รับการเฉลย แม้ใน ฮาชิมะ โปรเจกต์ จะมีหลายจุดที่รู้สึกขัดๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่หากตอนท้าย คำเฉลยออกมาดีพอและน่าตื่นตะลึง จะเป็นการช่วยหนังในภาพรวมให้ออกมาในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว!


แต่ไม่รู้ว่าเป็นความกล้า บ้าบิ่น หรือต้องการหลอกคนดูให้หลังหักกันแน่ จึงเลือกคำตอบของปมทุกอย่างแบบนี้ กับการที่ให้ตัวละครตัวหนึ่งตายไปแล้ว แต่ยังสามารถที่จะใช้ชีวิตต่อมาได้ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น! ซึ่งส่งผลต่อความสมเหตุสมผลในเรื่อง (ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว) ให้หมดไป รวมไปถึงฉากสุดท้ายกับปมของการลบหลู่และการตามจองล้างจองผลาญของผีที่ตามมาจากเกาะฮาชิมะ ที่คำเฉลยออกจะแถเกินไปจนเกินจะรับ! การให้ตัวละครนั้นกลับมาเกิดใหม่อีกสัญชาติหนึ่งนั้นไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่หากใส่ข้อมูลให้ตัวละครสักนิดว่ามีความผูกพันบางอย่างกับเกาะฮาชิมะหรือประเทศญี่ปุ่นเช่น ต้นตระกูลสืบเชื้อสายมาจากญี่ปุ่น เป็นต้น ก็อาจจะทำให้คำเฉลยที่ออกมาเป็นที่ยอมรับได้มากกว่าที่เป็นอยู่! และที่สำคัญหนัง
 ฮาชิมะ โปรเจกต์ ไม่ได้ตอบโจทย์ของการ ไม่เชื่อ..ต้องลบหลู่แต่อย่างใด!


จาก
 คู่กรรม สู่ ฮาชิมะ โปรเจกต์ ในปีนี้ของ M39 หนังทั้งสองมีความคล้ายกันอย่างหนึ่งคือ จุดขายความเป็นญี่ปุ่น! (อาจจะต้องรวมไปถึง สาระแน โอเซกไก (2555)) ซึ่งผลที่ออกมาโดยส่วนตัวแล้วมองว่า ไม่ผ่าน และหากมองย้อนไปผลงานเก่าๆ จะพบว่าจุดขายและจุดเด่นของ M39 คือ การนำเสนออะไรที่เป็นแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักหรือตลก ให้ออกมาร่วมสมัยและโดนใจผู้ชม อย่างไรก็ตามต้องขอชื่นชมกับความกล้าในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง


แต่บางทีกระแสเสียงของผู้ชม
 ฮาชิมะ โปรเจกต์ อาจเป็นสัญญาณอะไรบางอย่าง ที่บอกว่าถึงเวลาที่ M39 ควรกลับไปทำอะไรที่เคยโดนใจคนดูหนังชาวไทยจริงๆ สักที!


ฮาชิมะ โปรเจกต์ ผมให้ 2 / 5 คะแนน 

@Chamanz13

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง ฮาชิมะ โปรเจกต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook