วิจารณ์หนัง คิดถึงวิทยา

วิจารณ์หนัง คิดถึงวิทยา

วิจารณ์หนัง คิดถึงวิทยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ คิดถึงวิทยา 

 

 

ข้อดีของหนัง GTH ก็คือมีหน้าหนังที่ดูเปล่งประกาย มีการโปรโมตภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องและสร้างกระแสปากต่อปากได้อย่างรวดเร็ว ทำกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ ดูเป็นค่ายหนังที่ค่อนข้างอารมณ์ดี มีดาราหน้าตาเชิญชวนผู้ชม มีเพลงประกอบเพราะๆ และที่สำคัญมีบารมีเก่าที่ได้มาจากหนังฮิตๆของสตูดิโอนี้  

 

 

แน่นอนว่าผลงานสร้างชื่อของผู้กำกับอย่าง นิธิวัฒน์ ธราธร คงจะหนีไม่พ้น Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งแจ้งเกิดให้กับสองดารานำที่ปัจจุบันยังจะพอมีผลงานการแสดงอยู่บ้างอย่าง บอล วิทวัส สิงห์ลำพอง และ ต่าย ชุติมา ทีปะนาถ ซึ่งทั้งสองคนนี้ก็โผล่มารับบทบาทเป็นแขกรับเชิญในคิดถึงวิทยาด้วยเช่นกัน เพราะบทภาพยนตร์และการแสดงของทั้งสองคนนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า "ส่งเสริม" ให้เรื่องราวของเด็กในรั้วโรงเรียนมหิดลดุริยางค์ศิลป์นั้นทวีความสดใหม่และน่าติดตามประกอบกับแสดงที่สดใหม่ยิ่งเกื้อกูลให้หนังสมบูรณ์แบบมากในยุคสมัยนั้น  

 


ทว่าเมื่อกลับมามองในผลงานชิ้นล่าสุดของ "คิดถึงวิทยา" เราจะพบว่า ถึงแม้ตัวหนังจะพูดถึงแก่นเรื่องของความเป็น "ครู" ในต่างจังหวัด แต่ถ้าเราลองพินิจพิเคราะห์แต่ละเหตุการณ์ให้ดีแล้ว เราจะพบว่า "จังหวัดลำพูนและโรงเรียนบ้านแก่งวิทยา สาขาเรือนแพ” นั้นมีความแฟนตาซีอยู่สูงมาก อาทิโรงเรียนแห่งนี้มีเด็กนักเรียนเพียงแค่ 4 คน แถมแต่ละคนก็มีจริตของความเป็นเด็ก "เมือง" มากกว่าชนบท ตัวละครของ น้องทูน่า เด็กหญิงเพียงคนเดียวที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนางเอกละครโทรทัศน์ คำถามคือครอบครัวของเธอไปดูทีวีจากที่ไหนกันในเมื่อหนังให้เหตุผลว่าไฟเป็นสิ่งที่ค่อนข้าง "เข้าถึงยาก" ในชุมชนเรือนแพ แต่การแสดงของน้องให้ความรู้สึกประหนึ่งว่าน้องซึมซับแอคติ้งเช่นนั้นมาจากสถาบันสอนการแสดงในเมืองใหญ่ชัดๆ 



ไม่เพียงเท่านั้นความแฟนตาซีของคิดถึงวิทยา (ที่นอกเหนือจากเรื่องความรักของคนที่ไม่เคยเจอกันแล้ว) ก็คือตัวละครหลักของเรื่องทั้ง ครูสอง (บี้-สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว) ซึ่งนอกจากจะทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพายแล้ว ตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่ได้เห็นพัฒนาการของตัวละครนี้เลย ยกเว้นแต่ฉาก "บีบบังคับ" ให้คนดูคล้อยตามไปกับเหตุการณ์ที่เขาต้องสอนให้เด็กทำโจทย์เลขฟิสิกส์ที่พูดถึงการเคลื่อนที่ของรถไฟ ครูสองจึงเปลี่ยนแพให้กลายเป็นรถไฟจำลอง ซึ่งหนังก็พยายามเหลือเกินที่จะทำให้คนดูซาบซึ้งไปกับ "จิตวิญญาณความเป็นครู" ผ่านฉากปลอมๆเหล่านี้ โชคยังดีขึ้นมาหน่อยที่ตัวละครอย่าง ครูแอน (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ยังจะพอจะโน้มน้าวใจของเราให้เชื่อได้บ้างว่าแม้ตอนแรกเธอจะไม่เต็มใจมาสอนที่สาขาเรือนแพ แต่หลังจากที่เธอเริ่ม "ปรับตัว" แอนก็เริ่มเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ของเด็กๆมากขึ้นและยอมสอนอยู่ที่นี่แม้ว่าแฟนหนุ่มจะไม่เห็นด้วยก็ตาม



อันที่จริงประเด็นของเรื่องครู ในคิดถึงวิทยานั้นสามารถก้าวไปได้ไกลมาก รวมไปถึงมีประเด็นเรื่อง "การศึกษาไทย" ที่น่าหยิบยกเอามาต่อยอด แทรกสอดเป็นการวิจารณ์หรือยกมาเป็นจุดพลิกผันของเรื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้วหนังก็ไม่ขยายความอะไรเลย นอกจากจะวกกลับไปพูดเรื่องความสัมพันธ์อันแสนล่องลอยระหว่าง แอนและหนุ่ย (ศุกลวัฒน์ คณารศ) และความเพ้อเจ้อตลอดการอ่านไดอารี่ของครูสอง ไม่เพียงเท่านั้นสายตาของความเป็นครูในบริบทของคิดถึงวิทยาก็ยังเป็นสายตาที่ "คนเมือง" มองคนชนบทว่าการศึกษาจะนำพา "สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต" มาให้พวกเขา



เพราะตราบใดก็ตามถ้าคนเมืองใหญ่ยังคงคิดว่า อาชีพหาปลา จับปลาเป็นอาชีพไม่มีอนาคตและพยายามผลักดันคนทุกคนให้มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อเป็นมนุษย์เงินเดือน คือทางออกและชัยชนะของการศึกษาแล้ว เห็นทีอนาคตของอาชีพเกษตรกรไทยคงจะถึงทางตันอย่างแท้จริง เพราะแทนที่เด็กๆกลุ่มนี้จะได้เรียนรู้การจับปลาอย่างถูกวิธี หรือการต่อยอดทางสัมอาชีพไม่ให้ถูกพ่อค้าคนกลางโกง หรือเรียนต่อยอดเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เรากลับแต่โดนยัดเยียดหลักสูตรทางการศึกษาที่คนเรียนปริญญาตรีจบมายังตั้งคำถามว่ามันปรับมาใช้อะไรได้ในชีวิตประจำวัน? (บางทีเราอาจจะคาดหวังกับหนังมากเกินไปก็เป็นได้)  



คิดถึงวิทยา อาจจะเป็นหนังที่ขายความแฟนตาซีมาตั้งแต่แรกก็ตาม ทว่าเหตุผลที่หนังพยายามจะชักจูงให้เราคล้อยตามไปกับเรื่องไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือไปกับพฤติกรรมของตัวละครมาเพียงพอ จึงทำให้ "ความรักผ่านไดอารี่ครูแอน" เรื่องนี้ ล่มไม่เป็นท่า 

 

ยกให้ 2 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด 

 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง คิดถึงวิทยา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook