วิจารณ์ Transcendence

วิจารณ์ Transcendence

วิจารณ์ Transcendence
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ Transcendence 

 

 

 

ถึงแม้ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของ Transcendence จะแตกออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจนทั้งในเมืองนอกและบ้านเราเพราะมีทั้งชอบและเกลียด ปัจจัยหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่อาจจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไปคนละทิศละทางกับเนื้อแท้ของหนังเองก็คือตัวอย่างภาพยนตร์ที่ดูเหมือนจะเป็นหนังโครมคราม ยิงกันดุเดือดเลือดพล่าน ซึ่งความเป็นจริงแล้วหนังค่อนข้างวางตัวเนิบช้าและค่อยๆทำให้ผู้ชมเข้าถึงกับประเด็น Singularity หรือ เอกภาวะ อย่างลุ่มลึกและน่าสนใจ

 

 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อยก็คือคำศัพท์ที่มีชื่อว่า “เอกภาวะ” ทางเทคโนโลยีนั้นก็คือสมมติฐานประการหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า เอกภาวะจะเกิดขึ้นได้จากการสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือเกิดขึ้นเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ (Brain-computer interfaces) ซึ่งมีความฉลาดเหนือมนุษย์ สภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าศักยภาพของมนุษย์จะเข้าถึงกระบวนการดังกล่าวได้ ซึ่ง Transcendence ได้หยิบเอาประเด็นที่เป็นแค่เพียง "สมมติฐาน" ทางวิทยาศาสตร์เอามาต่อยอดแล้วตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากทฤษฏีดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงๆ 

 

 

ตัวหนังเล่าเรื่องราวของ ด๊อกเตอร์วิล แคสเตอร์ (จอห์นนี เดปป์) นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างเครื่องจักรกลที่มีปัญญาเหมือนมนุษย์ ถึงแม้ว่าแนวคิดที่วิลกำลังพัฒนาจะเป็นที่ยอมรับในสายนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า "ริฟท์" ซึ่งพยายามต่อต้านเทคโนโลยีในในกระบวนการดังกล่าวก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งวิล โดยการลงมือก่ออาชญากรรมในการวางยาพิษบริษัทที่เก็บข้อมูลของโครงการซึ่งเป็นผลให้พนักงานจำนวนมากล้มตาย รวมไปถึงยิงปืนอาบกัมมันตภาพรังสีใส่วิล ก่อนที่จะปลิดชีพตัวเองทิ้ง

 

 

ในตอนแรกวิลคิดแค่ว่าตนเองถูกยิงถากๆเท่านั้น แต่ภายหลังจากคืนแรกผ่านพ้นไปวิลมีอาการทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด อีฟว์ลีน แคสเตอร์ (รีเบคก้า ฮอล) ภรรยาของเขาจึงนำตัวสามีของตนส่งโรงพยาบาลและพบความจริงว่าวิลกำลังจะตาย เธอจึงตัดสินใจเสนอให้เชื่อมต่อสมองของวิลเข้ากับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อรักษาชีวิตสามีของตัวเองเอาไว้ ทั้งที่เธอรู้อยู่แก่ใจถึงผลลัพธ์ที่ไม่อาจควบคุม แต่ด้วยความรักที่บดบังดวงตาเอาไว้จนไม่เหลือความรู้สึกอื่นใด เธอจึงตัดสินใจทำมันลงไปโดยไม่ฟังคำห้ามปรามของ แม็กซ์ วอเตอร์ส (พอล เบททานีย์) เพื่อนสนิทที่สุดของวิลผู้เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทที่มีความต้องการจะพัฒนาโลกใบนี้ให้ดีขึ้นผ่านการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 

 

 

 

จะว่าไประบบประมวลผลที่ชื่อ พินน์ (Physically Independent Neural Network) ซึ่งวิลได้พยายามพัฒนา เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง เป้าประสงค์ที่สำคัญของเจ้าเครื่องนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาก็เพื่อจะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบสมอง ในฉากงานสัมมนาวิลถูกตั้งคำถามว่าเขารู้สึกเหมือนกับตัวเองเป็นพระเจ้าหรือไม่ ท่าทีการตอบของเขาค่อนข้างคลุมเครือแต่ด้วยน้ำเสียงและวิธีการอธิบายชี้ชัดว่าวิลไม่ได้ต้องการจะเล่นบทเป็นผู้สร้างโลกหรือแก้ไขธรรมชาติ หากแต่วิลพยายามที่จะช่วยเหลือเยียวยาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้มีชีวิตที่ดีขึ้นต่างหาก  

 

 

 

ฉากที่วิลเสียชีวิตลง หนังเผยมุมมองที่ค่อนข้างน่าสนใจผ่านผลงานทางด้านภาพ เมื่อเราพบว่าตัวละครวิล "น่าจะ" นับถือศาสนาพุทธ (หรือเซน) ซึ่งมีการเผาเอาอัฐิซากกระดูกหลังจากการเผามาลอยอังคาร (ซึ่งเราพบเห็นได้น้อยมากในหนังฝรั่งที่ตัวละครนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่) แนวคิดเช่นนี้นี่เองที่สะท้อนภาพองค์รวมของการ "กลับคืน" สู่ธรรมชาติ ซึ่งได้สร้างความ "คลุมเครือ" ให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อ วิลปรากฎตัวอีกครั้งในรูปแบบของสัญญาณไฟฟ้าที่พยายามติดต่อกับอีฟว์ลีน ซึ่งด้วยความอาลัยที่ยังคงค้างในจิตใจทำให้เธอเดินหน้าอัพโหลดวิลออนไลน์เข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตทั่วโลกเพื่อคงสภาพของวิลไว้ในระบบสัญญาณไฟฟ้า 

 

 

 

เวลาผ่านพ้นไป ด้วยระบบประมวลผลอันชาญฉลาดทำให้วิลสร้างศูนย์วิจัยขึ้นกลางทะเลทราย พยายามพัฒนาเทคโนโลยีบางอย่างที่ก้าวล้ำเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจ และเมื่อเหตุการณ์นี้เป็นที่ล่วงรู้ถึงภาครัฐ วิลและอีฟว์ลีนจึงถูกมองเป็นภัยคุกคาม เหตุการณ์หลังจากนี้ตัวละครทุกคนจึงเกิดการตั้งคำถามถึง "การมีอยู่ของวิล" ว่าแท้ที่จริงแล้วสภาพของวิลนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริงของวิลหรือเปล่า (หาคำตอบกันเอาเองในภาพยนตร์) 

 

 

 

อย่างไรก็ตามหนังอาจจะพูดถึงสภาวะที่มนุษย์ไม่อาจจะเป็น "ตัวเอง" ได้อีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันประเด็นหลักของ Transcendence กลับมีความลุ่มลึกในเชิงของความรู้สึกของตัวละครที่ผูกพันกับ "รูปกาย" และ "ภาพตัวแทน" ซึ่งตัวละครอีฟว์ลีนได้ทำให้เราเข้าใจว่าความรักนั้นบางทีมันก็ไปไกลเกินกว่าจะเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาจับเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ตาม 

 

 

 

และถึงแม้หนังจะเปิดเรื่องมาด้วยความ "ล่มสลาย" ในวันที่มนุษย์ไม่อาจจะใช้เทคโนโลยีได้อีกต่อไป แต่ความหวังของมนุษย์ก็ยังไม่สิ้นสลายไป มันยังคงหลงเหลือ "ความหวัง" เอาไว้ให้คนอีกหลายคนที่มองเห็นมันสามารถฉวยจับมันขึ้นมา และความเป็นจริงก็คือ Transcendence ได้สะท้อนความจริงของมนุษย์ปัจจุบันว่า ทุกวันนี้เทคโลโลยีคืออวัยวะชิ้นที่ 33 ของมนุษย์อย่างแท้จริง 

 

 

@พริตตี้ปลาสลิด

ยกให้ 4 นิ้วหัวแม่โป้งจาก 5 นิ้ว 

 

แล้วคุณล่ะครับมองหนังในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า?

 

 ตัวอย่าง TRANSCENDENCE

 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ วิจารณ์ Transcendence

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook