วิจารณ์หนัง Oculus

วิจารณ์หนัง Oculus

วิจารณ์หนัง Oculus
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 วิจารณ์หนัง Oculus

 

หนังสยองขวัญ น้อยเรื่องนักที่จะสามารถกวาดคำวิจารณ์และเสียงชื่นชมจากคนดู เนื่องจากพล็อตเรื่องอันซ้ำซากและกลเม็ดในการหลอกหลอนคนดูนั้นถูกผลิตซ้ำจนบ่อยครั้งคนดูสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ และด้วยสายตาที่นักวิจารณ์มักจะให้เครดิตหนังกลุ่มนี้ค่อนข้างต้อยต่ำกว่าหนังประเภทอื่นๆก็เพราะ สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังตระกูลนี้มักจะประกอบไปด้วย ความไร้สติสตางค์ของตัวละคร ที่มักจะกระทำการบางอย่างโดยปราศจากยั้งคิดจนนำภัยมาสู่ตัว 

 

อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าปีก่อน The Conjuring จะกลายเป็นหนังผีม้ามืดที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับผู้ชมตื่นตระหนกไปกับการพิสูจน์ความเฮี้ยนของบ้านผีสิงไปแล้ว ปีนี้หนังอย่าง Oculus ก็ถือได้ว่าเป็นม้ามืดอีกเรื่องที่หยิบเอาพล็อตเรื่องแนว "วัตถุผีสิง" เอามาเล่าใหม่ได้อย่างน่าสนใจและค่อนข้างแปลกใหม่อยู่ไม่น้อย 

 

 

เหตุการณ์ใน Oculus เล่าเรื่องราวตัดสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันของสองพี่น้อง เคลีย์(คาเรน กิลแลน) และ ทิม (เบรนตัน ทเวทส์) ที่เหตุการณ์สุดสยองที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของพวกเขา หลังจากที่ อลัน(รอรี่ ค็อคเรน) ผู้เป็นพ่อเกิดคลุ้มคลั่งและสังหาร มาเรีย(เคธี่ แซ็คฮอฟฟ์) แม่ของเด็กๆด้วยปืนก่อนที่ หลักฐานทุกอย่างจะชี้ไปที่ทิม ว่าเขาเป็นคนสังหารโหดครอบครัวนี้ นั่นจึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ทิมถูกจับกุมเข้าไปจองจำอยู่ในสถานกักกัน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์ทั้งหมด เคลีย์ยังคงยืนยันว่าไม่ใช่ฝีมือของน้องชายตัวเอง หากแต่เป็นเพราะแรงอาฆาตที่ส่งตรงออกมาจากระจกโบราณในห้องทำงานของอลันต่างหาก 

 

เวลาผ่านพ้นไปเคลีย์วางแผนอย่างรัดกุม เพื่อหมายมั่นว่าหลังจากที่น้องชายเธอถูกปล่อยตัวออกมา เป้าหมายของอิสระภาพอย่างที่จริงก็คือการ "ทำลาย" กระจกอาถรรพ์นั้นให้สิ้นซาก เคลีย์นำกระจกที่ถูกเก็บอยู่ในคลัง ย้ายกลับมาที่บ้านหลังเก่าของเธอ และแผนการที่เธอวางเอาไว้อย่างรัดกุมก็คือการวางกับดักเอาไว้ และคอยตั้งกล้องสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาเอง

 

 

หนังมีทีเด็ดตรงที่ว่า นอกจากมันจะไม่สาดเสียงประโคมซัดตามประสาหนังผีหลอกทั่วๆไป ยังเล่าเรื่องให้การทดลองเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อหาการกระทำเชิง "เหตุ-ผล" ว่ากระจกโบราณนั้นมีพลังอำนาจที่มนุษย์สามารถตรวจสอบ "พฤติกรรม" ของมันได้อย่างไรบ้าง เช่นการทำให้คนในรัศมีกระจกเกิดอาการคิดไปเอง, ต้นไม้ในระยะ 10 เมตรอาจจะเกิดการเหี่ยวเฉาเพราะโดนดูดพลังงานไป, จำนวนรอบของการปล่อยพลังงาน หรือแม้กระทั่งสร้างภาพลวงตาทำให้คนเกิดความเข้าใจผิด ด้วยเหตุผลเหล่านี้นี่เองที่เราอาจจะต้องกล่าวว่าเรื่องราวที่ถูกเล่าระหว่างการต่อสู้ของเคลีย์,ทิมกับกระจกโบราณจึงเป็นการชิงไหวชิงพริบกันอย่างดุเดือด 

 

 

 

สัดส่วนในการแบ่งเรื่องราวนั้นค่อนข้างทำออกมาได้น่าสนใจก็คือช่วงประมาณ 45 นาทีแรกคือการปูพื้นฐานตัวละคร ปูมหลังในอดีตและพลังอำนาจของกระจก ซึ่งน้อยครั้งมากที่ "ผี" แบบเป็นตัวเป็นตัวจะปรากฏขึ้นมาบนจอ และหลังจากนั้นหนังก็ผันตัวเองเข้าโหมดไซโคดราม่า เมื่อตัวละครเริ่มเกิดอาการหลอนกันไปเองจนไม่รู้ว่าตกลงเหตุการณ์อันไหนที่เกิดขึ้นจริงกันแน่ และก็จะเข้าช่วงหลอกหลอนกันถึงขีดสุด เมื่อหนังเล่าเรื่องด้วยภาพที่ตัดสลับทั้งอดีตและปัจจุบันขนานทับเอาไว้ด้วยกัน ใส่ผีเข้ามา มีทั้งภาพหลอนของตัวละคร ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนจอจึงไม่สามารถทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าตกลงแล้วอะไรที่เกิดขึ้นจริง และพิสูจน์ให้คนดูเห็นว่าผู้ที่กุมอำนาจของบ้านทั้งหลังนี้ตัวจริงก็คือกระจกบานใหญ่ที่ "มีชีวิต" มาหลายศตวรรษและไม่มีทางที่จะถูกทำลายได้เลย 

 

 

ด้วยพลังอำนาจที่มองไม่เห็น แต่ด้วยความอาฆาตของตัวเคลีย์เองที่พยายามจะล้างแค้นกระจกบานนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเธอกับน้องชายมีโอกาสจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องกลับเข้ามาพัวพันและสิ่งเร้นลับที่เคยพรากครอบครัวไปจากเธอ บทเรียนราคาแพงครั้งนี้ทำให้เคลีย์ได้เรียนรู้ว่าบางครั้ง "แรงอาฆาต" ก็ไม่ได้อยู่ที่กระจกแต่เพียงอย่างเดียว หากที่เป็นตัวเธอเองด้วยที่ "ส่งเสริม" และสนับสนุนวงจรอุบาทว์ในความน่าขนลุกให้คงอยู่สืบไปตลอดกาล 

 

ยกให้ 4 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง Oculus

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook