วิจารณ์หนัง Edge of Tomorrow

วิจารณ์หนัง Edge of Tomorrow

วิจารณ์หนัง Edge of Tomorrow
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์หนัง  Edge of Tomorrow 

 

 

อันที่จริงต้องขอสารภาพตามตรงเลยว่าก่อนที่ผมจะเข้าไปดู Edge of Tomorrow ค่อนข้าง "ดูแคลน" ตัวอย่างหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากฉากในตัวอย่างภาพยนตร์นั้นดูสับสนอลม่าน วุ่นวายไปหมด ประกอบกับหน้าเบื่อโลกของคุณพี่ ทอม ครูซ ยิ่งทำให้รู้สึกไม่ค่อยอยากจะดูหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่นัก 

 

หนึ่งวันก่อนจะได้เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมเริ่มทำการบ้านเสาะแสวงหาที่มาของ Edge of Tomorrow อย่างละเอียดและค้นพบว่าตัวบทภาพยนตร์นั้นถูกดัดแปลงมาจากมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ชื่อว่า All You Need is Kill ที่เขียนโดย ฮิโรชิ ซากุราซากะ ซึ่งในเวอร์ชั่นมังงะเองก็เป็นการ์ตูนที่เล่าเรื่องสนุกและนองเลือดชนิดที่เวลาตัวละครแต่ละตัวตาย เรียกได้ว่า ตับ ไต ไส้ พุง ม้าม เซี้ยงจี้ กระจายเต็มหน้ากระดาษกันเลยทีเดียว และการดัดแปลง  All You Need is Kill ให้กลายเป็น Edge of Tomorrow นั้น ผู้กำกับอย่าง ดั๊ก ไลแมน เลือกใช้บริการจากทีมเขียนบทมากมายหลายคนประกอบไปด้วย โจบี้ แฮโรลด์, สตีฟ โคลฟ์, ทิม คริง, เจซ และจอห์น เฮนรี่ บัตเตอร์เวิร์ธ, คริสโตเฟอร์ แม็คเวอร์รี่ ก่อนที่ อเล็กซ์ เคิร์ตแมน กับ โรแบร์โต ออร์ชี่ จะมาปรับปรุงบทสุดท้าย 

 

 

Edge of Tomorrow บอกเล่าเรื่องราวของ พันโทบิลล์ เคจ(ทอม ครูซ) นายทหารฝ่ายประชาสัมพันธ์กองทัพที่ไม่ถนัดงานฝ่ายรบสักเท่าไหร่ เขาโดนดัดหลังถูกส่งตัวไปยังกองหน้าโดยที่เคจสลบไปแบบไม่รู้ตัว เมื่อตื่นขึ้นอีกครั้ง เขาพบว่าตัวเองอยู่ที่ฐานปฏิบัติการแนวหน้าฮีทโธรว์ ซึ่งเขาได้พบกับบรรดาเพื่อนพลทหารที่ดูจะไม่ลงรอยและไม่ชอบขี้หน้าเขาสักเท่าไหร่นัก และเมื่อช่วงเวลาในการออกรบที่หาดเริ่มต้นขึ้น 5 นาทีหลังจากที่เขากระโดดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เคจก็ตายทันทีเพราะใช้ระเบิดฆ่าเอเลี่ยนที่มีชื่อว่า อัลฟ่า จนเลือดสีฟ้าๆของมันกระเด็นโดนตัวก่อนสิ้นใจ 

 

 

เคจ วูบตื่นขึ้นมาอีกครั้งในสภาพแบบเดียวกันกับเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อนนั่นคือช่วงเวลาที่เขาตื่นและพบว่าตัวเองอยู่ที่ฐานปฏิบัติการแนวหน้าฮีทโธรว์ เขาเริ่มแปลกใจกับสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ก่อนที่ทุกอย่างจะเดินไปตามรูปรอยเช่นเดิมทุกอย่าง เหตุการณ์ทุกอย่างเหมือนเดิม คำพูดของคนรอบข้างที่เป็นเช่นเดิม เพียงแต่ "ตัวของเคจเอง" จะเป็นคนที่มีความสามารถในเปลี่ยนแปลงรายละเอียดอะไรบางซึ่งจะเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์บางประการของเหตุการณ์ต่อมา และเคจพบว่าทุกครั้งที่เขา "ตาย" เขาก็จะฟื้นขึ้นมาที่ช่วงเวลาเดิม เมื่อเคจเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างจนทำให้เขาได้พบกับ ริต้า วาทาสกี้(เอมิลี่ บลันท์) ที่หาด และด้วยความประหลาดใจริต้ารู้สึกว่า เคจมีพลังพิเศษอะไรบางอย่างทำให้เธอพูดก่อนจะตายว่า "เมื่อคุณฟื้นแล้วให้ตามหาฉันนะ" ก่อนที่เคจจะตายตามเธอไปและ "รีเซต" วันใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง 

 

 

 

เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปข้างหน้าเคจก็ได้เรียนรู้ความจริงอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น เขาได้ฝึกปรือฝีมือการรบ การวางแผนที่จะเอาชนะเอเลี่ยนและต้องตามหาโอเมก้าซึ่งเป็นเหมือนเอเลี่ยนตัวแม่ที่คอบควบคุมลูกสมุนเอเลี่ยนทุกตัวที่บุกโลก และยังมีอำนาจในการควบคุมกาลเวลาอีกด้วย 

 

ความสนุกของ Edge of Tomorrow ก็คือการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของเหตุการณ์จะนำพาให้ตัวเอกของเรื่องมี "เส้นทาง" ในการเอาชีวิตรอดต่างออกไป ในแต่ละเหตุการณ์ที่เราได้เห็นเคจถูกรีเซตวันใหม่นั้นเราจะได้สัมผัสทั้งโมเมนต์เคร่งขรึม จริงจังและบางครั้งผู้กำกับอย่าง ดั๊ก ไลแมน ก็แทรกอารมณ์ขันร้ายๆเอามาให้เราขำพอเป็นพิธี ซึ่งจะว่าไปแล้วมันช่วยทำให้หนังดูลื่นไหลและไม่มีจังหวะของเรื่องที่ชวนง่วงหาวนอนหรืออยากจะเดินออกไปเข้าห้องน้ำเลยสักครั้ง (และถ้าพลาดบางจุดไปกลับมาอีกทีอาจจะดูหนังต่อไม่ติดก็ได้) 

 

 

เงื่อนไขของหนังย้อนวันเวลาคือการหยิบจับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ใส่เข้าไปในชุดเหตุการณ์ซึ่งทีมงานในการสร้างต้องทำการบ้านอย่างหนักพอสมควรในการโน้มน้าวให้ผู้ชมเชื่อไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนจอภาพยนตร์ เพราะการ "วนซ้ำ" ของเวลา ถ้าหากทีมงานพลาดหรือเล่าเรื่องไม่ดีพอ หนังก็คงจะออกมาเละเทะและน่าเบื่อได้ทันที 

 

แนวคิดที่น่าสนใจของ Edge of Tomorrow ก็คือการที่มนุษย์เราสามารถได้รับ "โอกาสครั้งที่ 2" (ในเรื่องคือมากกว่า 2 ครั้งไปเยอะทีเดียว) ซึ่งนั่นหมายความว่าเรามีโอกาสที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วให้ดีขึ้นไปอีก แต่การแก้ไขนั้นจะต้องมาพร้อมกับการเรียนรู้และยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเองเพื่อจะปรับปรุงแก้ไขความด้อยให้ "ดี" ขึ้น เพื่อก้าวผ่านอะไรบางอย่างไป อย่างที่เราได้เห็นจากตัวละครเคจ ที่ในตอนแรกนั้นเขามีสภาพเป็นไอ้แแหยที่ไม่กล้าแม้แต่จะจับอาวุธ แต่เมื่อเขารู้แล้วว่าภาระหน้าที่ของตัวเองนั้นนอกจากจะทำให้ตน "หลุดพ้น" จากการตายซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นนี้ โอกาสในการกอบกู้โลกก็ยังอยู่ในมือของตัวเองอีกด้วยเช่นกัน 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม Edge of Tomorrow ถือว่าเป็นงานที่ไม่ซ้ำซากและถูกดัดแปลงมาจากงานของต่างชาติ ซึ่งทำให้เรื่องราวดู "สดใหม่และน่าสนใจ" ซึ่งคำวิจารณ์จากเมืองนอกก็อยู่ในระดับปานกลางคละเคล้าไปกับดี แต่สวนทางกับรายได้ซึ่งผลตอบรับในการทำเงินบนตารางบ๊อกซ์ออฟฟิศที่อเมริกานั้นก็ไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไหร่นัก และอาจจะต้องอาศัยกระแสปากต่อปากซะมากกว่า 

 

Edge of Tomorrow เป็นหนังแอ็คชั่น-ไซไฟที่ดูจบแล้วมีอะไรให้นำมาพูดถึง หยิบยกเอามาถกเป็นประเด็นสนทนากันได้อีกหลายทอดเลยทีเดียว 

 

ให้ 4.5 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง Edge of Tomorrow

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook