วิจารณ์หนัง ห้องหุ่น

วิจารณ์หนัง ห้องหุ่น

วิจารณ์หนัง ห้องหุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ห้องหุ่น

 

ถ้าจะต้องให้สารภาพกันตามตรงแล้ว ตอนแรกตัวผมเองค่อนข้างมองว่า "ห้องหุ่น" จะต้องออกมาเป็นหนัง "ผีโผล่ โครมครามและเล่าเรื่องได้พังพินาศ" เพราะหลังจากที่ตัวเองรับรู้และเข้าใจทุกอย่างจากการประชาสัมพันธ์ผ่านเรื่องย่อและตัวอย่างภาพยนตร์ รวมไปถึงการถ่ายภาพหวิวของสองนักแสดงนำอย่างอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮมและรัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล กระบวนการที่หนังพยายามสื่อสารกับผู้ชมนั้นจึงดู “สะเปะสะปะ” ตั้งแต่แรกจนทำให้ตัวผมเองไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วหนังเรื่องนี้พยายามจะบอกอะไรกับเรากันแน่ 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าตัวเองคิดผิดเอามากๆ เมื่อหนังเผยฉากแรกของเรื่องด้วยการเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครโค้ชประภพซึ่งเขากับลูกที่กำลังมีปัญหาอะไรบางอย่างและพ่อตัวเองต้องจบชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุ งานภาพในฉากเปิดเรื่องก็ทำให้เราต้องทึ่งไปกับการจัดแสง จัดไฟและใช้ภาพช่วยให้ผู้ชมเข้าใจ “รายละเอียดยิบย่อย” ที่ถูกทิ้งเอาไว้ให้กลายเป็น Key Massage เพื่อทำความเข้าใจกับ “ตัวละคร” ในเรื่อง ซึ่งผมก็เริ่มมองแล้วว่าหนังเรื่องนี้ มีอะไรมากกว่าที่เคยประเมินไว้ตั้งแต่แรกแน่ๆ

 

 

เรื่องราวพอสังเขปของ “ห้องหุ่น” เวอร์ชั่นการตีความใหม่ของผู้กำกับรุ่นหลานบริษัทกันตนาอย่าง “กัลป์ กัลย์จาฤก” นั้นบอกเล่าถึงตัวละครรุ่นลูกรุ่นหลานของเดช สัตยาภา เมื่อนพ (อนันดา เอวเวอริ่งแฮม) ได้สูญเสียน้องสาวตัวเองไปหลังจากที่เธอได้ปั้นหุ่นขี้ผึ้งเสร็จ จนเขาเริ่มพบว่าการปั้นหุ่นก่อนที่ใครคนนั้นจะตายจะทำให้ตัวเองมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควร เมื่อยิ่งสาวให้ลึกถึงแก่นเพียงใดเขาก็ยิ่งไม่เข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนพได้พบกับพลอย (รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล) หญิงสาวที่เพิ่งจะสูญเสียพ่อตัวเองไปหลังจากที่เขาไปปั้นหุ่นมาเช่นกัน เธอไม่เชื่อในสิ่งลี้ลับจนกระทั่งตัวเองพบว่าหุ่นของพ่อเธอถูกส่งมาที่บ้าน และแล้วพวกเขาก็ได้เดินทางค้นหาความจริงด้วยการเดินทางไปยังบ้านของเดช สัตยาภา ชายผู้เป็นตำนานในการปั้นหุ่นขี้ผึ้งเพื่อค้นหาความจริง

กระบวนการตัดต่อเล่าเรื่องของหนังอาจจะยังเป็นปัญหาประการสำคัญของเรื่องในระดับน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนที่ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มากเพียงพอ (ไม่ได้อ่านเรื่องย่อมาก่อน, ไม่เคยดูละครทีวีห้องหุ่นหรือไม่ได้อ่านในแนบคู่มือก่อนการรับชมภาพยนตร์ห้องหุ่นที่จะแจกก่อนเข้าโรงหนัง) อาจจะเกิดคำถามตลอดทั้งเรื่องว่า “อะไรคือแรงขับเคลื่อนตัวละครเหล่านี้” เนื่องจากบางครั้งเราก็ตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวละครทำลงไป โดยที่เราไม่เข้าใจไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย และแน่นอนเมื่อเราไม่เข้าใจพวกเขาแล้วมันก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้คนดูเริ่มมองว่าหนังกำลังจะบอกอะไรกับผู้ชมกันแน่ ซึ่งอันที่จริงตรงจุดนี้ “ไม่ใช่ความผิดของผู้ชม” เนื่องจากผู้กำกับเองต้องทำหน้าที่ “เล่า” เรื่องผ่านภาพยนตร์ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นจิ๊กซอว์ที่ให้คนดูต้องต่อเอาเองก็ตาม แต่จิ๊กซอว์เหล่านี้ต้องมีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง ไม่ใช่ต้องอาศัยเครื่องมือในการสื่อสารชิ้นอื่นเพิ่มเติมเพื่อทำให้ผู้ชม “เข้าใจ” ในเรื่องราวของหนัง 

 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าตัวหนังมีรายละเอียดเยอะก็คือการที่หนังทิ้งรายละเอียดยิบย่อยเอาไว้ตามงานโปรดักชั่น พร็อพ เช่นภาพถ่าย โต๊ะ ของจุกจิกเล็กๆที่มุมภาพ หรือแม้กระทั่งบทนักแสดงประกอบที่มักจะโผล่มาที่ “หางตา” ของผู้ชมซึ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่เน้นย้ำว่างาน “ห้องหุ่น” นั้นไม่ใช่งานสุกเอาเผากิน และคนดูก็ต้องคอย “จับ” สิ่งเหล่านี้เอาเองเพื่อประติดประต่อเรื่องราวในหนัง และเชื่อมโยงความคิดของตัวเองว่าตกลงแล้วหนังกำลังจะเล่าอะไรกับเรา 

ขณะเดียวกันการเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น ตัวผมเองก็พยายามหลบเลี่ยงการสปอยล์จุดสำคัญของเรื่อง แต่ถ้าจะต้องอธิบายให้เคลียร์ว่าตกลงแล้วห้องหุ่นเป็นหนังแนวไหนกันแน่ ตัวเองก็คงต้องตอบว่าหนังมีทั้งความเป็นแนว Super Natural อันเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับ เรื่องผี, ฆาตกรรม, ไสยศาสตร์และความเชื่อในโลกหลังความตาย ซึ่งถูกหลอมรวมเอาไว้ในหนังเรื่องนี้

 

 

น่าเสียดายอยู่เหมือนกันที่ผู้กำกับจบใหม่ “กัลป์ กัลย์จาฤก” ทายาทรุ่นหลานของบริษัทกันตนา จะคุมงานสร้างได้ออกมาน่า “ตื่นตาตื่นใจ” แค่ไหน แต่งานกำกับนักแสดงนั้นก็ยังไม่เข้าขั้น เนื่องจากแอ็คติ้งของนักแสดงในเรื่องนี้ยังดู “ไปคนละทิศคนละทาง” บางคนก็เล่นค่อนข้างใหญ่เว่อร์เป็นละครเวทีเช่น บทของนพ (อนันดา) ที่หมกมุ่นอยู่แต่ความตายของน้องสาวตัวเองจนหวุดหวิดเหมือนจะเป็นบ้า และบทของพายัพ ชายวัน 55 ปีที่เสียลูกชายไปหลังจากเขาถูกหวยรางวัลที่ 1 ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็เหมือนแสดงหนังแล้วไม่เชื่อว่าตัวพวกเขาเองกำลังสวมบทเป็นตัวละครนั้นอยู่อาทิ กร พนักงานเสิร์ฟเหล้าที่มองโลกในแง่ร้าย 

อย่างไรก็ตาม “ห้องหุ่น” เวอร์ชั่นนี้เป็นการตีความ “ละครห้องหุ่น” ที่เคยออกฉายทางทีวีไปเมื่อปี 2519-2532 และ2546 ใหม่ และเป็นการเล่าเรื่องราวของ “รุ่นลูกหลาน” ของตระกูลสัตยาภา ดังนั้นก่อนที่จะเดินเข้าโรงหนังไปนั้นอยากจะให้ผู้ชมลองอ่านประวัติคร่าวๆของตัวละครให้พอมีพื้นฐานเกี่ยวกับพวกเขาสักเล็กน้อย บางทีอาจจะช่วยให้ทำความเข้าใจหนังได้ดีขึ้น 

 

 

ภาพรวมแล้ว ห้องหุ่นมี “ความน่าสนใจ” ในชิ้นงาน พอสมควรและเห็นได้ชัดว่าในเนื้องานมีความประณีตเกี่ยวกับงานสายโปรดักชั่นเอามากๆ และเป็นงานหนังไทยที่ “คิดเยอะ” ต้องคอยปะติดปะต่อเรื่องเองเยอะ และเป็นงานย่อยยาก และน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่าจริงๆแล้วหนังยังมีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ผู้กำกับตัดไว้ในความยาว 120 นาที และบอกเล่า “ปูมหลัง” ของตัวละครทุกตัวในเรื่องเอาไว้ละเอียดกว่านี้ แต่ที่ไม่นำมาออกฉายก็เพราะในเวอร์ชั่นนั้นมีความเป็น “อาร์ต” สูงกว่าเวอร์ชั่นที่ตัดต่อและออกฉายตามโรงภาพยนตร์แบบทุกวันนี้ 

 

ให้ 4 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง ห้องหุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook