วิจารณ์หนัง BOYHOOD

วิจารณ์หนัง BOYHOOD

วิจารณ์หนัง BOYHOOD
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ BOYHOOD

 

 

BOYHOOD น่าจะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีภาษีดีเพียงพอที่จะเข้าชิงรางวัลตามสถาบันภาพยนตร์ต่างๆในช่วงปลายปี หน้าหนังของมันอาจจะไม่ได้เชิญชวนแขกมากนัก โดยเฉพาะคนที่กลัวว่าหนังจะออกมาน่าเบื่อ อันที่จริงแล้วแรกเริ่มเดิมที ตัวผมเองก็คิดเช่นนั้นว่าหนังความยาวร่วม 3 ชั่วโมง เล่าเรื่องราวการเติบโตของชีวิตเด็กสักคนหนึ่งมันจะไปหา “ความบันเทิง” ได้ตรงไหนกันเชียว แต่เมื่อได้พิสูจน์กับตาแล้วก็พบว่าตัวเองค่อนข้างคิดผิด

ตัวเรื่องราวของ BOYHOOD นั้นใช้กระบวนการถ่ายทำที่อาจจะกล่าวได้ว่า หนังเป็นผลงานทดลองที่ใจกล้าบ้าบิ่นพอดู ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เมื่อผู้กำกับเลือกจะใช้กลวิธีทาบทามนักแสดงและทีมงานชุดหนึ่งที่มีโอกาสร่วมงานกันได้ โดยทุกๆหนึ่งปีพวกเขาก็จะกลับมารวมตัวกันเพื่อถ่ายทำหนังเป็นเวลาประมาณ 3-4 วัน แน่นอนว่ามันไม่มีหลักประกันใดเลยที่จะการันตีได้ว่า ทีมงานทั้งหมดในเรื่องนี้ พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างตลอด 12 ปี ทุกอย่างเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่สามารถพยากรณ์ความผันแปรต่างๆได้เลย และจะว่าไปแล้วเรื่องของความเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นสารัตถะที่สำคัญที่สุดของหนังนั่นเอง

 

แค่ 10 นาทีแรกของเรื่อง ผู้กำกับอย่าง ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ก็ไม่รอช้า จับเสน่ห์ของนักแสดงเด็ก เอลลาร์ โคลเทรน ผู้รับบท เมสัน เด็กชายที่กำลังจะเติบโตขึ้นและกลายไปเป็นผู้ใหญ่ ได้ออกมาน่ารักน่าชังและทำให้เราเริ่มสนใจ “ชีวิต” ของเด็กชายคนหนึ่งในสภาพครอบครัวที่ดูจะไม่ค่อยสมบูรณ์แบบนัก

จริงอยู่ที่หลายฉากหลายตอนในเรื่องดูเหมือนจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรสักเท่าไหร่ หลายฉากในหนังบอกเล่าช่วงเสลาที่ตัวละครออกไปเล่นโบว์ลิ่งกับครอบครัว, พี่สาวแกล้งน้องชาย, การนั่งทานข้าวของครอบครัว แต่ฉากที่ดูไม่มีอะไรเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่ถ่ายทอดสภาพอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครเมสันและผู้คนแวดล้อมตัวเขาเองในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต

 

 

การเติบใหญ่ขึ้นของตัวละครอย่างเมสันถูกบอกเล่าผ่านงานภาพ ซึ่งในแต่ละปีนั้นผู้กำกับริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ก็ฉวยจับเอาวัฒนธรรมรอบตัวละครไม่ว่าจะเป็นเพลง, ภาพยนตร์, บริบทที่ร่วมกับยุคสมัยใส่เข้ามาเพื่ออธิบาย “กาลเวลา” ได้อย่างแม่นยำ และก็ถือได้ว่ามันเป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่เราได้ร่วมย้อนกาลเวลาโดยได้สัมผัสกับการ “ทาย” ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในเรื่องว่ามันเป็นปีค.ศ. อะไร นอกเหนือไปจากบริบทแวดล้อม การเติบโตขึ้นของตัวละครก็ถูกถ่ายทอดออกมาทาง “ร่างกาย” ที่เราจะได้เห็นเมสันค่อยๆเปลี่ยนแปลงจากเด็กชายไปสู่ “วัยรุ่น” นั่นเอง โดยฉากเหล่านี้ไม่ได้มีการบอกผู้ชมออกมาโต้งๆว่าเขาอายุเท่าไหร่แล้ว แต่ทุกครั้งที่หนังตัดภาพจากฉากหนึ่งไปสู่อีกฉากหนึ่งเราจะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวละคร ไม่เพียงแค่เมสันเท่านั้น แต่ตัวละครอื่นๆในเรื่องก็ “โต” ไปพร้อมๆกับเมสันด้วยเช่นกัน

ชีวิตและความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะคาดเดาหรือยึดมั่นกับมันได้ แน่นอนว่าในชีวิตของเมสันเราจะได้เห็นช่วงเวลาทั้งดีและร้ายคละเคล้าสลับกันไป ชีวิตครอบครัวที่ดูเหมือนแตกสลาย – กลับมาสมบูรณ์ และกลับมาแตกสลายอีกครั้ง ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างปกติโดยที่ผู้กำกับไม่ได้พยายามเน้นย้ำหรือเร้าอารมณ์ในจุดที่เมสันจะต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การถ่ายทอดงานด้านภาพของเขากลับเปี่ยมไปด้วยความ “เข้าใจ” ในความผันแปรของชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าถึงชีวิตปกติของเราอาจจะไม่ได้เหมือนเมสันไปร้อยทั้งร้อย แต่ตัวละครเมสันกลับกลายเป็น “ตัวแทน” (Represent) มนุษย์ทุกคนได้ในแง่ของความไม่แน่นอนของชีวิต

 

 

จากเด็กชายเมสันสู่ชายหนุ่มที่ชื่อเมสัน ตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้นเขาได้เดินทางและสั่งสมประสบการณ์ชีวิต หล่อหลอมให้เขากลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คนหนึ่ง แต่ความสมบูรณ์ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทองหรือความสุขเท่านั้น ความผิดพลาด ผิดหวังล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต 

 

 

Boyhood จึงเป็นหนังที่เรากล่าวได้ว่ามันเริ่มต้นด้วยการถ่ายทอดชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ผ่านเหตุการณ์ตลอดเวลา 12 ปี แต่ท้ายที่สุดแล้วมันได้นำพาผู้ชมร่วมขบคิดและย้อนกลับมามองชีวิตตัวเองว่า “คุณค่า” ของการมีชีวิตอยู่นั้นคืออะไร 

 

ให้ 5 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง BOYHOOD

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook