วิจารณ์หนัง วัยเป้งนักเลงขาสั้น

วิจารณ์หนัง วัยเป้งนักเลงขาสั้น

วิจารณ์หนัง วัยเป้งนักเลงขาสั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ วัยเป้งนักเลงขาสั้น

 

การหยิบหนังไทยสักเรื่องมาวิจารณ์นั้นเรียกได้ว่าสุ่มเสี่ยงต่อการโดนอคติล่วงหน้าไปแล้วไม่มากก็น้อย ปัจจัยหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าการวิจารณ์นั้นไม่ได้มีแต่การ “ด่า” ว่าหนังเรื่องนั้นย่ำแย่แต่อย่างใด แต่อันที่จริงแล้วการวิจารณ์ก็เป็นแค่เพียงการเสนอมุมมองบางอย่างของคนดูหนังประกอบกับเหตุผล และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าบางครั้งการพูดถึงหนังไทยก็เป็นการ “สะท้อน” อุตสาหกรรมการทำหนังไทยว่าปัจจุบันวงการแผ่นฟิล์มบ้านเรามีการพัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว

กลับมาเข้าเรื่องของ หนังวัยเป้งนักเลงขาสั้น ผลการงานกำกับภาพยนตร์ของพชร์ ภเศฐชื่อใหม่ของพี่พจน์ อานนท์นั่นเอง ตัวหนังบอกเล่าเรื่องราวของการยกพวกตีกันของเด็กนักเรียนวัยมัธยมระหว่างกลุ่ม “เฟี้ยวฟ้าวมะพร้าวแก้ว” มีเป้งเป็นหัวหน้าแก๊ง และแก๊ง “ไส้เลื่อนสะเทือนติ่ง” มีติ่งเป็นหัวหน้าแก๊ง โดยก่อนหน้านี้เป้งกับติ่งเคยเป็นเพื่อนรักและเรียนโรงเรียนเดียวกันมาก่อน แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองแตกหักกันและต้องเอาเรื่องกันอยู่ตลอดเวลา 

เหตุการณ์ยิ่งบานปลายเมื่อเป้งถูกฝ่ายปกครองของโรงเรียนยื่นคำขาดว่าถ้าหากเขายังคงมีพฤติกรรมในการยกพวกตีกันอยู่ ทางโรงเรียนจะไล่เขาออก ประกอบกับน้องชายของเป้งอย่างป๋องแป๋งมีความฝันที่จะประกวดวงดนตรีเป็นของตัวเอง เขาจึงอัดคลิปวงของเขาปล่อยลงยูทูป ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ยอดวิวพุ่งกระฉูด จนได้รับการติดต่อให้ไปเล่นเป็นวงเปิดในคอนเสิร์ตของศิลปินดัง ป๋องแป๋งดีใจมาก ทางฝ่ายติ่งทราบเรื่อง จึงยกพวกเตรียมบุกงานคอนเสิร์ต

การหยิบยกประเด็นเรื่องเด็กวัยรุ่นยกพวกตีกันนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่สิ่งที่วัยเป้งนำเสนอเหตุผลของการยกพวกตีกันนั้น ตัวหนังก็ไม่ได้พยายามหาเหตุผลมากล่าวโทษเยาวชนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ว่าพวกเขาทำไปเพราะความคึกคะนอง ศักดิ์ศรี หรือว่าอะไรก็ตาม พวกเขาเพียงต้องการจะค้นหาตัวเองและหาทางออกให้กับชีวิตเท่านั้น 

อันที่จริงสไตล์หนังของพี่พชร์ ภเศฐ เราจะพบได้ว่าในหนังแทบทุกเรื่องของเขาจะมีการผูกบทอย่างหลวมๆและเหตุการณ์หนึ่งของเรื่องก็สามารถโยงไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่งได้อย่างอัศจรรย์ ตัวละครในหนังบางตัวก็ไม่ได้มีความสลักสำคัญอันใดเพียงเพื่อใส่เข้ามาเพื่อจุดประสงค์เดียวนั่นก็คือการสร้างเสียงหัวเราะคั่นฉาก

สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้อีกหนึ่งอย่างก็คือการใส่ตัวละครคู่เกย์อย่าง มูฟวี่(ภาสกร สารรัตนะ) และซีรีส์ (สุรวิชญ์ เรืองยศ) ซึ่งแต่ละคนต่างก็อยู่คนละแก๊งแต่ทั้งคู่กลับตกหลุมรักกัน จริงๆหนังก็ไม่ได้สร้างจุดพลิกผันให้กับตัวละครนี้สักเท่าไหร่ เหมือนถูกใส่เข้ามาเพื่อเอาใจสาว Y ให้ดูฉากผู้ชายสองคนจูบกันเสียมากกว่า ในขณะที่ฉากไคลแมกซ์ก็เปลี่ยนให้ทั้งคู่ต่อยตีกัน ก่อนจะลงเอยด้วยการกลับมารักกันเช่นเดิม (นี่มันหนังต่อยจูบหรืออย่างไร) 

แต่ในขณะที่เรามองหาความสมเหตุสมผลจากหนังเรื่องนี้ไม่ได้เท่าไหร่นัก การแสดงของเมย์ ภัทรวรินทร์ ทิมกุลในบทแม่ของเป้งและป๋องแป๋งนั้นก็เรียกได้ว่า แม้ตัวละครนี้จะไม่ได้ลุ่มลึกมาก แต่การแสดงแสดงในบท “แม่” ของเธอก็เรียกได้ว่าซีนอารมณ์ที่ใช้อารมณ์หนักๆมากนั้น เธอแสดงออกมาได้ดีพอสมควรและเกือบเอาคนดูสะเทือนใจและน้ำตาไหลไปพร้อมๆกับเธอเลยทีเดียว น่าแปลกเช่นกันที่หลายต่อหลายฉาก เธอเป็นเหมือนตัวละครที่แสดงอะไรเยอะๆล้นๆเกินๆ แต่ในฉากที่เรียกร้องการแสดงอารมณ์ดราม่า เธอกลับแสดงออกมาได้อย่างเข้าถึงอารมณ์จริงๆ

เอาเข้าจริงวัยเป้งนักเลงขาสั้นอาจจะเป็นหนังในกลุ่มที่ “ไม่ต้องคิดอะไรมาก” หนังจะดูสนุกขึ้น กว่าที่ควรจะเป็น การมองข้ามความสมเหตุสมผลตามความเป็นจริงอาจจะช่วยทำให้คุณบันเทิงไปกับหนังได้ไม่น้อย และที่สำคัญคือสาวๆวัยทีนน่าจะชื่นชอบที่มีเด็กหนุ่มหน้าตาดีเป็นโหลมาทำให้สาวๆหัวใจชื้นกันไปอีกหลายวัน 

 

ยกให้ 2 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด 

 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง วัยเป้งนักเลงขาสั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook