วิจารณ์หนัง Gone Girl ชายโฉด หญิงเลือดเย็น

วิจารณ์หนัง Gone Girl ชายโฉด หญิงเลือดเย็น

วิจารณ์หนัง Gone Girl ชายโฉด หญิงเลือดเย็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ Gone Girl


Gone Girl ชายโฉด หญิงเลือดเย็น 

 

ด้วยความชื่นชอบส่วนตัว ผู้เขียนกล้ากล่าวชื่นชมถึงหนัง Gone Girl ว่านี่คือหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้ ไม่เพียงเท่านั้นมันยังเป็นหนังทริลเลอร์-ระทึกขวัญที่สนุกมากเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีเลยก็ว่าได้ ผลงานการกำกับของเดวิด ฟินเชอร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน การดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ และเหตุการณ์หลายอย่างในเรื่องก็เหมือนพร้อมจะตลบหลังผู้ชมอยู่ตลอดเวลา 

ผู้เขียนนิยายของเรื่อง(และยังทำหน้าที่ควบ) ในการเขียนบทภาพยนตร์อย่างกลินเลี่ยน ฟลินน์นั้น เธอมีเซนส์ในการเขียนนิยายแนวระทึกขวัญ แน่นอนว่าเราเคยดูหนังแนวหักมุมและตัวละครหลักที่ไม่น่าไว้วางใจมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เธอก็เลือกที่จะสร้างตัวละครเอกของเรื่องไม่ว่าจะเป็นนิค ดันน์(เบน อัฟเฟล็ค) และเอมี่ ดันน์(โรซามุนด์ ไพค์) ให้มีลักษณะไม่น่าไว้วางใจใครได้เลย เพราะเราไม่รู้เลยว่าตัวละครตัวไหนกันแน่ที่กำลัง “โกหก” คนดูอยู่

 

เรื่องราวของ Gone Girl นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อหญิงสาวคนหนึ่งเกิดหายตัวไปอย่างลึกลับในวันครบรอบแต่งงานปีที่ 5 ด้วยร่องรอยและหลักฐานที่ที่เกิดเหตุนั้นล้วนชี้ไปยังสามีของเธอในการเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง ยิ่งพยายามค้นหาหลักฐานการหายตัวไปของเอมี่มากแค่ไหน สิ่งเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะชี้ตัวว่านิคนั้นน่าจะเป็นผู้ลงมือและซุกซ่อนความลับบางอย่างเอาไว้ ยิ่งเวลาผ่านไปตำรวจก็เหมือนจะเริ่มระแคะระคายถึงความไม่ชอบมาพากลของคดี ทว่าเมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปในสังคม สื่อมวลชนก็โหมประโคมข่าวจนคนทั้งเมืองก็แทบจะตัดสินชายคนนี้ไปแล้วเรียบร้อยว่าเขาเป็นคน “ฆ่า” เมียตัวเองก่อนที่คดีจะถูกศาลตัดสินเสียด้วยซ้ำไป

ทางฝ่ายตัวละครอย่างนิคนั้น เขาเป็นคอลัมนิสต์นิตยสารในนิวยอร์กที่ต้องตกงานเพราะผลพวกจากเศรษฐกิจตกต่ำและการเติบโตขึ้นของสื่อออนไลน์ เป็นผลทำให้เขาตัดสินใจชักชวนภรรยาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดที่เงียบเชียบในมิสซูรี่และหันมาทำธุรกิจเล็กๆด้วยการเปิดบาร์ร่วมกับพี่สาวของตัวเอง ความผิดพลาดของตัวละครนี้อยู่ตรงที่ว่าเขารับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ดีพอ และการที่เขาไม่ทันระวังตัวนั้นก็ทำให้ปัญหาบานปลายไปใหญ่ โดยเฉพาะกับภาพที่เขา “เผลอ” ยิ้มให้ตากล้องสื่อที่ดันแชะภาพของเขาไปพร้อมกับภาพฉากหลังที่เป็นรูป “เมียหาย” พอดี เมื่อ “รูป” ถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้างจึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า เขาไม่เสียใจหรือไรที่เมียของตัวเองหายไป (ต้องหน้าเศร้าสิ... ใช่ไหม)

แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง(และในนิยาย) นั้นตัวฟลินน์เองตั้งใจจะจุดประเด็นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือฐานันดรที่ 4 ว่าพวกเขาเป็นคนกำหนดและขับเคลื่อนให้สังคมมองประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างไร เราจะได้เห็นการทำข่าวของสื่อฯ, ผู้ประกาศข่าวที่เลือกจะตัดสินจำเลยโดยไม่ได้หาเหตุผลอื่นๆมาประกอบ แต่พยายามโน้มน้าวให้สังคมเชื่อตามตน, เพศและการคุกคาม (ซึ่งในหนังเรื่องนี้เพศหญิงกลายเป็นฝ่าย “รุก” ผู้ชายและต้อนจนเขาจนมุม) 

แนวคิดอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับหนังอย่าง Gone Girl นั้นต้องการจะพูดถึง “ชีวิตคู่” ซึ่งตัวเรื่องราวของมันก็ตีแสกหน้าวัยหนุ่มสาวที่มองเรื่องความรักเป็นสิ่งงดงามได้อย่างถึงแก่น เมื่อชีวิตก่อนและหลังแต่งงานนั้นกลายเป็นหน้ามือกับหลังมือ ชีวิตคู่ก่อนแต่งงานของนิคและเอมี่นั้นดูสดใส ซาบซ่านและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทว่าหลายปีผ่านไปหลังจากที่พวกเขาได้แต่งงาน พวกเขาก็เดินหน้าเข้าสู่หลุมพรางของชีวิตคู่และหายนะก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีฝ่ายหนึ่ง “โกหก” อีกฝ่าย 

 

อันที่จริงตัวผู้เขียนก็อยากจะเขียนบทวิจารณ์ในเชิงเจาะลึกถึงตัวละครมากกว่านี้ ทว่าหากต้อง “ลึก” กว่าที่เป็นอยู่มันอาจจะเป็นการสปอยล์หนังโดยความจำเป็น ดังนั้นเมื่อต้องเขียนในเชิงกลางๆแล้ว ข้าพเจ้ามองว่าตัวหนังนั้นสามารถเก็บหมัดเด็ดเอาไว้ตรงกลางเรื่อง และพลิกสถานการณ์ทุกอย่างจากหนังสืบสวนให้กลายเป็นการพลิกคดีแบบคนดูหงายเงิบไปตามๆกัน

 

 

อยากรู้ว่าพลิกแค่ไหน และมีทีเด็ดอะไร การเข้าไปดู Gone Girl ในโรงเท่านั้นคือคำตอบ

 

@พริตตี้ปลาสลิด

ให้ 4.5 คะแนนจาก 5 คะแนน 

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง Gone Girl ชายโฉด หญิงเลือดเย็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook