The Isthmus ทุกคนมี 'ความคิดถึง' เป็นของตัวเอง

The Isthmus ทุกคนมี 'ความคิดถึง' เป็นของตัวเอง

The Isthmus ทุกคนมี 'ความคิดถึง' เป็นของตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ทุกคนจะต้อง หรือเคยผ่านประสบการณ์ “พลัดพราก”

ทุกคนจะต้อง หรือเคยเดินออกมาจาก “ที่”  ที่ไม่อยากจากมา แต่ต้องยอม “จำนน” เพราะ “จำเป็น”

ทุกคนมี “คน” ที่ตนเอง “เฝ้ารอ” ไปพร้อมๆ กับ ทุกคนมี “คน” ที่ตนเอง “ตามหา”

ทุกความพลัดพราก ทุกการเฝ้ารอ และทุกการตามหา ไม่มีเส้นกั้น ไม่มีวรรณะ และไม่มีเงินตรา

 

 

“The Isthmus” ที่ว่างระหว่างสมุทร ภาพยนตร์ไทยขนาดความยาว 90 นาที เล่าเรื่องราวของ “ดา” คุณแม่ที่หวั่นใจกับการพูดแต่ภาษาพม่าของ “หอม” ลูกสาววัย 8 ขวบ โดยเธอเชื่อว่าสาเหตุที่ลูกสาวของเธอมีอาการผิดปกติแบบนี้เป็นเพราะยังคงผูกพันอยู่กับวิญญาณของ “จี”  พี่เลี้ยงสาวชาวพม่าที่จู่ๆ ก็เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ดาจึงคิดแก้ปัญหาด้วยการนำเถ้ากระดูกของจีเดินทางกลับพม่า โดยเชื่อว่าน่าจะทำให้อาการของลูกสาวตนเองดีขึ้น

 

ตอนสาวใช้ชาวพม่ายังมีชีวิตอยู่ ดาไม่ค่อยชอบ และไม่วางใจจี ด้วยคิดว่าเธอเป็นชาวพม่า ซึ่งไม่ต่างจากความคิดของคนส่วนใหญ่ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสหลักของสังคมที่มักเลือกนำเสนอภาพแรงงานพม่าโดยเน้นไปที่ความไม่น่าไว้วางใจ เป็นผู้ร้าย หรือหนักถึงขั้นเป็นฆาตกร จึงเป็นสาเหตุให้คนส่วนใหญ่มองชาวพม่าทุกคนแบบเหมาเข่ง โดยมีฐานความความรู้สึกนั้นมาจากความคิดที่ว่าพวกเขาเป็น “คนอื่น” ไมใช่คนชาติเดียวกับเรา

 

ดาพาหอมเดินทางไปที่ “คอคอดกระ” พื้นที่เล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระนอง ในพื้นที่ส่วนที่แคบที่สุดนี้กลับเป็นที่พักอาศัยของคนหลากเชื้อชาติทั้งชาวไทย ชาวพม่า คนไทยเชื้อสายมุสลิม หรือแม้แต่บาทหลวงชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาทำงานในพื้นที่ แม้ทุกคนจะมีความแตกต่าง แต่นั่นมันก็แค่เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน และน้ำหนักเท่ากันคือ “ความคิดถึง”

 

 

ที่คอคอดกระ ดาได้พบกับ “ตาจี้” เด็กชายชาวพม่าอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาว ที่ออกมายืนรอพ่อทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ หลังจากพ่อไปเป็นแรงงานบนเรือประมงนานนับเดือน แต่ยังไม่กลับมาตามคำสัญญา หรือหมอชาวพม่าที่เปิดคลินิกเล็กๆ เพื่อรักษาชาวพม่าในพื้นที่ ก็เก็บข้าวของแพคใส่กล่องเตรียมพร้อมไว้เสมอ เพราะคิดว่าสักวันจะได้เดินทางกลับบ้าน แม้กระทั่งกลุ่มหนุ่มสาวชาวพม่าที่ตั้งอกตั้งใจซ้อมการแสดงเพื่อจัดพิธีบูชาเจดีย์ ประเพณีสำคัญของชาวพม่าบนแผ่นดินไทย นั่นเป็นเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะพวกเขาเองก็คิดถึงบ้าน

 

หลังจากสองแม่ลูกใช้เวลาอยู่ในชุมชนเล็กๆ นั้นสักระยะหนึ่ง ก็เริ่มซึมซับถึง “ความคิดถึง” เหล่านั้น ที่กลับสะกิดให้ดาหวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตของตนเอง เพราะเธอเองก็มีคุณพ่อเป็นชาวประมง ที่ออกเรือหาปลาและเสียชีวิตไปนานแล้วเช่นกัน แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านเลย “ความคิดถึง” ของเธอจึงซีดจางลง แต่ไม่ได้เลือนหาย

 

 

ในที่สุดดาก็เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทุกคนมี “ความคิดถึง” เป็นของตนเอง เป็น “ความคิดถึง” ที่มีค่าเท่าเทียมกัน ทุกคนมีคนที่ “รอคอย” อยู่ที่บ้าน โดยเรื่องสัญชาติไม่ใช่ตัวแบ่งแยก

 

แล้วคุณล่ะ กลับไปหาคนที่เขารอคอยคุณอยู่ที่บ้านแล้วหรือยัง ?

ตัวอย่างภาพยนตร์ The Isthmus

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ The Isthmus ทุกคนมี 'ความคิดถึง' เป็นของตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook