เรื่องย่อ ละครเวที "โหมโรง เดอะมิวสิคัล"

เรื่องย่อ ละครเวที "โหมโรง เดอะมิวสิคัล"

เรื่องย่อ ละครเวที "โหมโรง เดอะมิวสิคัล"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


เรื่องย่อ ละครเวที "โหมโรง เดอะมิวสิคัล"

“โหมโรง เดอะมิวสิคัล" เล่าเรื่องราวผ่าน 2 ยุคสมัย คือ ยุคนายศร (ยุครัชกาลที่ 5) และยุคท่านครู (ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เรื่องราวจะตัดสลับกันไปมา

ในยุครัชกาลที่5 - เล่าเส้นทางของนักระนาดเอก "นายศร" ตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม เติบโตมาจากครอบครัวนักดนตรี รักในเสียงดนตรีและมีพรสวรรค์ด้านนี้ตั้งแต่ยังเล็ก ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อจะได้เรียนดนตรีสมดังตั้งใจ  มีช่วงวัยที่คึกคะนอง คิดว่าต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องแข่งขัน ต้องเอาชนะ  หลงตัวเองว่าเก่งกล้าสามารถเหนือใคร จนได้มาเจอกับ "ขุนอิน" และพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก ความพ่ายแพ้ เป็นบทเรียนที่ทำให้ศรได้คิด ทบทวนตัวเอง และสามารถค้นพบแนวทางระนาดของตัวเอง "ระนาดสะบัดไหว"  ได้เข้ามาเป็นนักระนาดของสมเด็จฯ ประชันระนาดกับขุนอินอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ศรได้เข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่การประชันเพื่อทำลาย หรือเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นการประชัน เพื่อทำลายความกลัว กรอบกำแพงในจิตใจที่สร้างขึ้น และชนะใจตนเอง  

...เอาชนะคนอื่นได้ ก็ย่อมมีวันพ่ายแพ้คนอื่นได้ 

แต่ถ้าชนะใจตัวเองได้นั้น เราจะไม่แพ้ใครอีกเลย...

 

ในยุคจอมพล ป. - เล่าภาวะการต่อสู้ของดนตรีไทย ท่ามกลางสงคราม และกฎข้อห้ามเล่นดนตรีไทย กฎที่ออกโดยคนที่ไม่เข้าใจดนตรี 

"ท่านครู" (ศร) และลูกศิษย์ลูกหา บรรดานักดนตรีไทย ต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงประเทศ ตามนโยบายของท่านผู้นำ เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากสงคราม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนประเทศให้ศิวิไลซ์ มีอารยะ อาทิ ห้ามกินหมาก ต้องสวมหมวก กล่าวคำว่าสวัสดี ห้ามเล่นดนตรีไทยบางชนิด จะเล่นดนตรีได้ต้องมีบัตรนักดนตรี ห้ามนั่งเล่นกับพื้นหรือเล่นดนตรีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลป์ เป็นต้น

กฎที่ออกโดยคนที่ไม่เข้าใจดนตรีเหล่านี้ ทำให้นักดนตรีไทยเดือดร้อน ไม่มีงานจ้าง ไม่มีเงิน และต้องแยกย้ายกันไปทำอาชีพอื่น เลวร้ายที่สุดถึงกับฆ่าตัวตาย ถือเป็นช่วงสมัยที่ต้องต่อสู้กันระหว่าง "สิ่งเก่า" กับ "สิ่งใหม่" ซึ่งท่านครูก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราสามารถพัฒนาได้โดยไม่ต้องทำลายราก หรือสิ่งดีงามที่มีอยู่แต่เดิม (มีฉากที่ลูกชายท่านครู ซื้อเปียโนมาไว้ที่บ้าน ท่านครูก็สามารถเล่นระนาดสอดประสานกับเปียโน ได้อย่างงดงาม) 

ดนตรีไทย คือเอกลักษณ์ คือรากเหง้าที่งดงามของความเป็นไทย สงครามอาจทำให้บ้านเมืองชำรุดเสียหาย แต่คนที่ไม่รู้ค่าของความเป็นไทย จะทำลายคนไทยด้วยกันเอง 

... ชาติจะพัฒนาไปสู่อารยะได้อย่างไร  หากเอกลักษณ์ รากความเป็นไทย ถูกทำลายหมดสิ้น ...

“ไร้ราก  ไร้แผ่นดิน" โหมโรง เดอะ มิวสิคัล

 

แนะนำนักแสดง และทีมงาน โหมโรง เดอะมิวสิคัล


ผู้กำกับ

1. สังข์ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม

ผู้บริหาร บ.โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด 

ผู้กำกับละครเวที ชายกลาง โศกนาฏกรรมในจังหวะแทงโก้, The legend of เร่ขายฝัน : เฉลียง เดอะมิวสิคัล และผู้กำกับรายการ The Voice Thailand season ที่ 1-2

2. ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ

Acting Coach อันดับต้นๆ ของเมืองไทย เจ้าของสถาบัน The Drama Academy 

 

 

นักแสดง ยุค รัชกาลที่ 5


1.ศร (รับบทโดย อาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ)

ผู้กำกับ (สังข์ ธีรวัฒน์) และทีมงานตั้งใจไว้แล้วว่า คุณสมบัติของคนที่จะมาเล่นเป็น “ศร” ในละครเวทีเรื่องนี้ คือ

หนึ่ง... จะต้องมีฝีมือระนาดระดับประชันได้

สอง... ต้องเล่นละครระดับแบกรับบทไว้ทั้งเรื่องได้

สาม... ต้องร้องเพลงได้อย่างดี เพราะนี่คือละครเวทีเดอะมิวสิคัล หรือละครเพลง

ถ้าหาไม่ได้ ต้องทำโหมโรงลิปซิงค์ ก็อย่าทำเสียเลยดีกว่า 

 

ปฏิบัติการตามหา "ศร" กินเวลาเกินครึ่งปี ทีมงานแทบจะถอดใจ ล้มเลิกที่จะทำละครเวทีเรื่องนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาคนที่มีคุณสมบัติครบตามนี้จากที่ไหน จนวันไหว้ครูหลวงประดิษฐไพเราะ ทีมงานอธิษฐานขอให้ได้ "ศร" ที่เฝ้าตามหา และวันนั้นอาร์มก็มาแคส

อาร์ม เป็นถึงนักร้อง นักแสดง และเป็นผู้ประกาศข่าวช่อง1.workpoint เป็นคนใกล้ตัวที่ฟ้าประทานมาให้ กล้าพูดได้เต็มปากว่า   "ถ้าไม่มี "อาร์ม กรกันต์" คนนี้ ก็คงไม่มี โหมโรง เดอะมิวสิคัล"

 

2. ขุนอิน (รับบทโดย เบิ่ง ทวีศักดิ์ อัครวงษ์  ดุริยางคศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร)

สุดยอดนักระนาดเอกคนหนึ่งของสยามประเทศ ผู้เป็นสแตนอิน อยู่เบื้องหลังเสียงระนาดเอกของ “นายศร” ในภาพยนตร์เรื่องโหมโรง

 

3. แม่โชติ (รับบทโดย แนน สาธิดา พรหมพิริยะ)

โจทย์ของผู้กำกับที่ได้ให้ไว้กับทางทีมงานคือ คนที่จะมาเล่นเป็นแม่โชติ จะต้องทำให้คนตกหลุมรักได้ตั้งแต่ประโยคแรกที่เปล่งเสียงออกมา ซึ่งแนนมีเสียงที่ไพเราะลึกซึ้งและทรงพลังเป็นอย่างมาก เธอเป็นถึง "คนไทยคนแรก" ที่ได้มีโอกาสเข้าประกวดร้องเพลง World Championships of Performing Arts หรือ Olympics of the Performing Arts คว้ารางวัลชนะเลิศถึง 5 รางวัล ได้แก่

1. Female Vocal Broadway (การแข่งขันร้องเพลงบรอดเวย์)

2. Female Vocal Opera (การแข่งขันร้องเพลงโอเปร่า)

3. Female Vocal Pop (การแข่งขันร้องเพลงป๊อป)

4. Female Vocal R&B/Soul/Jazz (การแข่งขันร้องเพลง อาร์แอนด์บี/โซล/แจ๊ซ)

และ 5. Female Vocal World (การแข่งขันร้องเพลงระดับโลก)

แนนเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอตัดสินใจจะไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่ต่างประเทศ คิดว่าคงไม่ได้รับงานร้องเพลงอีกแล้ว เธอได้ทราบผลว่าได้เล่นเป็นแม่โชติ ก่อนหน้าที่จะบินไปต่างประเทศเพียงแค่ 4 วัน นั่นทำให้แนนกลับมาตามฝันอีกครั้ง

 

 

นักแสดง ยุค จอมพล ป.


1.ท่านครู (รับบทโดย อี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง)

พ่ออี๊ด เป็นเอตทัคคะด้านศิลปะการแสดงที่ผู้คนทั้งในและนอกวงการยอมรับในฝีมือมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นผู้ที่ประภาส ชลศรานนท์ ตั้งสมญานามให้ว่า "แจ๊ซแห่งวงการละคร" เพราะดนตรีแจ๊ซเป็นดนตรีที่ทันสมัยอยู่เสมอ และพ่ออี๊ดก็เป็นเช่นนั้น 

“ท่านครู" หรือ หลวงประดิษฐไพเราะเองก็เป็นคนทันสมัยเช่นกัน เพราะท่านไม่เคยยึดติดกับรูปแบบของดนตรีไทยว่าต้องเล่นแบบใด หากแต่สอนให้คนดนตรีไทยดึงความเป็นตัวของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด

เรื่องเล่า : ในวันที่ผู้กำกับ (สังข์ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม) และโปรดิวเซอร์ (เอก ชยานันต์ เทพวนินกร) เดินทางไปพบพ่ออี๊ดที่บ้านเป็นครั้งแรก ขณะยืนอยู่หน้าปากซอยบ้าน ไม่แน่ใจว่าบ้านพ่ออี๊ดอยู่หลังไหน กำลังจะกดโทรศัพท์ถามทาง ก็ได้ยินเสียงระนาดดังแว่วมาจากในซอย ตัดสินใจพากันเดินตามเสียงระนาดมาเรื่อยๆ มาหยุดที่หน้าบ้าน ยืนฟังและรอให้เสียงระนาดหยุดลง จึงค่อยกดกริ่งหน้าประตู และนั่นเป็นวันที่เราพบพ่ออี๊ดเป็นครั้งแรก เสียงระนาดนำทางพาเราให้มาเจอกัน

ผู้ที่จะมารับบท “ท่านครู” และบรรเลงเพลงระนาดของท่านครูในละครเวทีเรื่องนี้ คงเป็นใครอื่นไม่ได้ หากไม่ใช่ พ่ออี๊ด.

 

2. พันโทวีระ(รับบทโดย โย่ง อาร์มแชร์)

โย่ง เป็นทั้งนักร้องและนักแสดงมากฝีมือ และศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน 

ซึ่งตรงกับพันโทวีระ ที่มีความคิดแน่วแน่ ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่แรงกล้า คือพาชาติให้รอดพ้นจากสงคราม โดยไม่สนวิธีการ เด็ดเดี่ยว ไฟแรง ร้อนดั่งไฟที่ต้องมาปะทะกับสายน้ำอย่างท่านครู

พลังในตัวของโย่ง จะยิ่งสร้างสีสันให้ตัวละครนี้มีชีวิตชีวา น่าค้นหาและน่าเห็นใจมากยิ่งขึ้น 

 

6. เปี๊ยก (รับบทโดย เอ๋ เชิญยิ้ม)

ตัวละคร เปี๊ยก เป็นนักระนาดเอก ลูกศิษย์ของท่านครู 

เราเลือก เอ๋ เชิญยิ้ม มารับบทนี้ เพราะนอกจากเอ๋ จะเป็นนักแสดงตลกที่มีความสามารถแล้ว ยังเป็นนักดนตรีไทย เติบโตมากับลิเกและดนตรีไทยอีกด้วย เอ๋ เชิญยิ้มรักในเสียงดนตรีไทย ถึงขนาดตั้งวงดนตรีไทยที่บ้าน นอกจากเล่นระนาดเอกได้อย่างคล่องแคล่วแล้วยังเล่นด้วยความสุขทุกครั้ง 

นอกจากผู้ชมจะได้รอยยิ้มและเสียงฮาจากการแสดงของเอ๋ เชิญยิ้ม ยังได้รับความสุขไปกับเพลงเพราะๆ เสียงระนาดพลิ้วๆ ของเขาสดๆ บนเวทีอีกด้วย

 

นอกจากตัวละครที่ได้กล่าวไป ละครเวทีเรื่องนี้ ยังเต็มไปด้วยนักแสดงมากฝีมืออีกมากมาย อาทิ ครูรัก ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ นักแสดงระดับครูของวงการละครไทย, นาย The Comedian ที่นอกจากจะมีความสามารถด้านการเล่นตลกแล้ว ยังรักและมีความสามารถด้านดนตรีไทย, ปอ AF7 นักร้อง นักแสดงที่มีของอยู่ในตัวมากมาย, ดวงใจ หทัยกาญจน์ ร่วมด้วยนักดนตรีไทย ฝีมือดีที่คัดสรรมาแล้วจากหลากหลายเวที 

เรียกได้ว่า กว่าจะมาเป็นละครเวทีเรื่องนี้ เราให้ความสำคัญและใส่ใจกับทุกตัวละครบนเวที เพื่อสะท้อนรากเหง้าของความเป็นไทยออกมาให้คนไทยภาคภูมิใจที่สุด

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook