วิจารณ์หนัง Unfriended เมื่อเทคนิคสำคัญกว่าเรื่องเล่า

วิจารณ์หนัง Unfriended เมื่อเทคนิคสำคัญกว่าเรื่องเล่า

วิจารณ์หนัง Unfriended เมื่อเทคนิคสำคัญกว่าเรื่องเล่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราคงไม่อาจจะปฏิเสธว่าสิ่งที่ทำให้หนังสยองขวัญอย่าง Unfriended กลายเป็นหนังที่น่าสนใจขึ้นมา เพราะหนังเลือกใช้ “เฟรม” ภาพที่เกิดขึ้นในหน้าจอคอมพิวเตอร์แต่เพียงอย่างเดียว ตัวละครทั้งหมดในเรื่องสื่อสารกันผ่านกล้องที่ติดไว้ที่หน้าจอ และดูเหมือนว่าพวกเขาจะนั่งอยู่ในแค่เพียงห้องของตัวเองเท่านั้น

และมันยิ่งทวีความน่าสนใจและ “เข้าถึง” บรรดาวัยรุ่นในยุคนี้เนื่องจากมันหยิบเอาเรื่องราวของโซเชียลมีเดีย ที่สร้างผลกระทบในแง่ลบให้กับชีวิตมนุษย์มาบอกเล่าในแง่ของความน่ากลัว (แบบเหนือจริง) จึงยิ่งทำให้หนังทวีความน่าสนใจขึ้นไปอีก 

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในค่ำคืนที่แสนธรรมดาเมื่อ แบลร์ (เชลลี่ย์ เฮนนิก) และแฟนหนุ่มของเธอ มิทช์ (โมเสส สตอร์ม) เริ่มต้นแชทกันผ่านวิดีโอ ทันใดนั้นพวกเขาก็ถูกขัดจังหวะด้วยเพื่อนๆ อันได้แก่ เจสส์ (เรเน โอลสเตด), อดัม (วิลล์ เพลท์ซ), เคน (เจค็อบ วิสอ็อคกี) และวัล (คอร์ตนี่ย์ อัลเวอร์) ซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะแชทกันเป็นกลุ่ม

ก่อนหน้านั้นกลุ่มพวกเขาได้รับยูสเซอร์ที่รู้จักแค่ชื่อที่ใช้ในการแชตว่า “บิลลี่227” พวกเขาคิดว่าคงเป็นแค่ข้อผิดพลาดทางเทคนิค และพวกเขาก็คุยกันต่อไป จนกระทั่งบิลลี่เริ่มพิมพ์ข้อความ สิ่งที่ติดตามมา กลับกลายเป็นฝันร้ายที่โหดที่สุดของพวกเขา 

เมื่อแบลร์เริ่มได้รับข้อความทางเฟซบุ้คและได้รับอีเมลจากใครบางคนหรืออะไรสักอย่างที่อ้างตัวว่าเป็น ลอร่า บาร์นส์ (เฮทเธอร์ ซอสซาแมน) เด็กสาวที่ฆ่าตัวตายไปเมื่อหนึ่งปีพอดิบพอดี เธอพยายามหาตัวคนที่บุกเข้ามาในกลุ่มแชตของพวกเธอ

ขณะเดียวกัน เกมของบิลลี่บีบให้เพื่อนๆ กลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความลับและคำโกหกของพวกเขา ถ้าพวกเขาหาได้ว่าใครโพสต์คลิปภาพน่าอับอายของลอร่า ที่นำไปสู่การตายของเธอ เหตุการณ์ประหลาดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ บิลลี่227 ต้องการเล่นเกมสุดสยองที่ทดสอบมิตรภาพของเพื่อนกลุ่มนี้โดยการให้พวกเขาพูดความจริงขึ้นมา และใครก็ตามที่ลองดีหรือแพ้เกมก็มีอันต้องพบกับจุดจบสุดสยอง 

อันที่จริงจุดศูนย์กลางของภาพทั้งหมด ผู้ชมได้รับรู้ผ่านหน้ากล้องของตัวละครแบลร์ ซึ่งหนังก็ใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมตอบสนองต่างๆของตัวละครนี้แทนคำพูด ไม่ว่าจะเป็นทั้งการที่ตัวละครครุ่นคิดอะไรบางอย่างและผู้ชมก็ทำให้เหมือนกับว่าเป็นตัวละครเดียวกับแบลร์

พฤติกรรมที่ว่าได้แก่การที่ตัวละครหยุดพิมพ์ตัวอักษร, พิมพ์ข้อความไปและตัดสินใจลบทิ้ง (ซึ่งทำให้เราได้ทราบความจริงบางอย่างที่ตัวละครอื่นไม่รู้) การเลื่อนเมาส์อย่างรุนแรงหรือการกระหน่ำคลิ๊กที่หน้าจอเพื่อให้มันแสดงผลออกมา เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ใช้ “แทน” อารมณ์ที่เราไม่อาจจะมีโอกาสได้เห็นใบหน้าของตัวละครในช่วงจังหวะที่เธอปิดกล้องสไกป์ลง

ยิ่งไปกว่านั้นหนังยังใช้จังหวะหลายอย่างของคอมพิวเตอร์ในการ “เร้าอารมณ์ผู้ชม” ไม่ว่าจะเป็นการที่อินเตอร์เนตมีปัญหา หรือการที่โปรแกรมโหลดภาพหน้าจอ(การหมุนวนที่แสดงว่าระบบกำลังโหลดภาพอยู่) ทำให้ผู้ชมหวาดกลัวกับภาพที่อาจจะปรากฏขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ หรือแม้กระทั่งหน้าจอของตัวละครบางคนที่ “ว่างเปล่า” และไม่รู้ว่าจังหวะไหนที่หนังจะจู่โจมคนดูไม่ว่าจะเป็นภาพหรือเสียงที่ชวนตกใจ

อันที่จริงตัวหนังเดินเรื่องตามสูตรสำเร็จของหนังฆาตกรโรคจิตทุกประการ บรรดาตัวละครในเรื่องก็ดูเหมือนจะถูกออกแบบและวางตำแหน่งไว้เช่นนั้น และมันทำให้คนดูคาดเดาได้เลยว่าตัวละครรายใดจะกลายเป็นเหยื่อรายแรกและรายสุดท้าย 

อย่างไรก็ตามทีเด็ดของหนังอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องที่เอาคนดูอยู่หมัด และเป็นการเพิ่ม “รสชาติ” ในการดูหนังสยองขวัญแบบใหม่ที่เราไม่เคยได้ชมมาก่อน แต่อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าฉากสุดท้ายของหนัง ตัวผู้กำกับอย่าง ลีแวน (ลีโอ) แกเบรียดซี เลือกจะให้บทสรุปกับตัวละครลอร่า บาร์นส์เป็นแบบในหนัง (ขอไม่สปอยล์) ซึ่งจริงๆแล้วถ้าหนังทิ้งความคลุมเครือเอาไว้จะยิ่งเพิ่ม “เสน่ห์” ให้กับตัวหนังมากขึ้นไปอีก 

@พริตตี้ปลาสลิด

4 คะแนนจาก 5 คะแนน 


อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง Unfriended เมื่อเทคนิคสำคัญกว่าเรื่องเล่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook