วิจารณ์หนังพี่ชาย MY HERO ตัวเต็งหนังไทยยอดเยี่ยมประจำปีนี้

วิจารณ์หนังพี่ชาย MY HERO ตัวเต็งหนังไทยยอดเยี่ยมประจำปีนี้

วิจารณ์หนังพี่ชาย MY HERO ตัวเต็งหนังไทยยอดเยี่ยมประจำปีนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อันที่จริงพี่ชาย My Hero หรือชื่อภาษาอังกฤษ How to Win At Checkers (Every Time) ได้รับการจัดฉายไปแล้วครั้งแรกในประเทศไทยในเทศกาลงาน Bangkok Gay and Lesbian Film Festival โดยมีหัวเรือใหญ่เป็นนิตยสารแอตติจูด แถมนี่เป็นผลงานการกำกับของ จอช คิม ผู้กำกับชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ที่หยิบเอาเรื่องสั้นในชื่อ Draft Day ของนักเขียนชื่อรัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ อันบอกเล่าเรื่องราวของน้องชายที่ไม่อยากให้พี่ชายของตนต้องไปเกณฑ์ทหาร เขาพยายามทุกวิถีทางแม้กระทั่งการไปติดสินบน อันที่จริงเนื้อหาสาระของเรื่องสั้นไม่ได้มีการบ่งชี้ว่าตัวละครในเรื่องเป็นตัวละครแบบชายรักชาย แต่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์มีการหยิบเอาความรักของผู้ชายสองคนใส่เข้าไปในเรื่อง

อันที่จริงจะเรียกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังของชายรักชายอย่างเดียวก็ดูจะ “ไม่แฟร์นัก” เพราะจักรวาลในหนังเรื่องนี้การที่ผู้ชายสองคนจะรักหรือเป็นแฟนกันนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติของสังคม หรือเป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะตลอดทั้งเรื่องไม่มีการใช้คำพูดหยอกล้อดูถูกเพศที่สามแบบในหนังไทยเรื่องอื่นๆที่มักจะเห็นจนชินตา หรือ ตุ้ดและกะเทยในหนังมักจะมีสภาพเป็นตัวตลกอยู่เป็นปกติวิสัยด้วยซ้ำไป

ความรักของเอก(ถิระ ชุติกุล) กับแฟนหนุ่มดูเหมือนเป็นความรักแบบต่างชนชั้นกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเอกทำงานหาเช้ากินค่ำและต้องเป็นเหมือนเสาหลักที่ต้องคอยจุนเจือครอบครัวที่มีทั้งป้าที่เชื่อในเรื่องการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าจะทำอย่างอื่น ในสายตาของโอ้ต(อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล) น้องชายพี่เอกเป็นเหมือนทั้งพ่อและฮีโร่ที่เขารัก ความรักของพี่ชายเขาก็อยู่ในสายตาของโอ้ตเช่นเดียวกัน 

ไจ๋แฟนหนุ่มของเอกมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างลิบลับเขาเป็นลูกชายที่ดูมีอันจะกิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ได้ลำบากยากแค้นแต่อย่างใด และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันเกณฑ์ทหารยิ่งใกล้เข้ามาถึงครอบครัวของไจ๋กลับเลือกจะใช้หนทางอย่างการติดสินบนเพื่อที่เขาจะได้รอดพ้นการเกณฑ์ทหารและได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ (และเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในสายตาของโอ้ตด้วยเช่นกัน)

ชีวิตที่ไม่มีทางเลือกผลักดันให้เอกต้องเผชิญชะตากรรมที่เขาไม่อยากจะไป แรงขับเคลื่อนของตัวละครเอกไม่ได้ปฏิเสธการไปเป็นทหาร แต่เขารู้ดีว่าถ้าช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่บ้านใครล่ะจะเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวนี้เพราะเขาเป็นเหมือนทั้งเสาหลักและเป็นคนที่ต้องดูแลคนอื่นๆด้วย

ในสายตาของโอ้ต พี่เอกเป็นฮีโร่สำหรับเขาเสมอ แต่แล้วความคิดดังกล่าวก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างราบคาบในฉากไคลแมกซ์ที่เขาได้พบความเป็นจริงอันโหดร้ายของชีวิตที่ว่าฮีโร่ของเขาก็ต้องพังและพ่ายแพ้อย่างราบคาบ และต้องจำนนต่อชะตากรรมที่ทำให้ชีวิต “ชนชั้นล่าง” ต้องกระเสือกกระสนในการทำทุกวิถีทางเพื่อเยียวยาปากท้องตัวเอง

หนังสือที่โอ้ตซื้อมาอย่าง “วิธีการเอาชนะหมากรุกทุกตา” How to Win At Checkers (Every Time) จึงเป็นการบอกคนดูอย่างแยบคายที่ว่าเมื่อโอ้ตเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น (โทนี่ รากแก่น) ชีวิตและความเป็นอยู่ของเขาดูเหมือนจะแตกต่างกับในอดีตราวฟ้ากับเหว เขาเหมือนจะอยู่ในชีวิตที่สุขสบาย ทว่าในความฝันของเขานั้น “พี่ชาย” ของตนก็ยังตามมาหลอกหลอนในสภาพ “ความตายและไฟที่ลุกไหม้” อย่างน่าสะพรึงกลัว ราวกับฮีโร่ที่จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ 

ความน่าสนใจของ พี่ชาย My Hero คือหนังมีบทภาพยนตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและระบบการเกณฑ์ทหารได้อย่างเถรตรง ฮุคหมัดเข้าเป้า ยิ่งไปกว่านั้นการแสดงของทั้งน้องอิงครัต ดำรงศักดิ์กุลและถิระ ชุติกุล เรียกได้ว่าลุ่มลึก ทรงพลังและมีเสน่ห์ เกาะกุมหัวใจคนดูและใจหายวาบกับฉากไคลแมกซ์ของหนังเลยทีเดียว 

@พริตตี้ปลาสลิด 

5 คะแนนจาก 5 คะแนน


อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ วิจารณ์หนังพี่ชาย MY HERO ตัวเต็งหนังไทยยอดเยี่ยมประจำปีนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook