7 ภาพยนตร์แห่งตำนาน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร

7 ภาพยนตร์แห่งตำนาน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร

7 ภาพยนตร์แห่งตำนาน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นอกจากจะโปรดการถ่ายภาพยนตร์แล้วยังคงมีความสนพระทัยในด้านศิลปะวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องการทรงดนตรีและพระราชนิพนธ์บทเพลง ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ จากความสนพระทัยในการถ่ายภาพยนตร์ พระองค์ได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์หลากหลายเรื่อง ตามวโรกาสต่างๆ

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นมา ทาง "หอภาพยนตร์" อันเป็นองค์การมหาชนได้จัดกิจกรรม "เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์" เป็นภาพยนตร์ที่พระองค์ท่านเคยทอดพระเนตรแล้ว จึงนำมาให้คนไทยได้ชมกัน 

1. สันติ - วีณา 

เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2497 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. จุดเด่นนอกจากเรื่องราวของความรักแล้ว การถ่ายภาพเพื่อแสดงวิถีชีวิตในชนบทไทย สะท้อนขนบธรรมเนีบมประเพณีของไทย ถือเป็นส่วนสำคัญของหนังเรื่องนี้ “สันติ – วีณา” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนานาชาติ

 

2. The Sound of Music (มนต์รักเพลงสวรรค์) 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านเคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์กรุงเกษม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2508 และงานชิ้นนี้ป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่หอภาพยนตร์ คัดเลือกหนังมาฉายในกิจกรรม "เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

The Sound of Music เป็นภาพยนตร์เพลง (มิวสิคัล – Musical) รางวัลออสการ์ประจำปี พ.ศ. 2508 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล มนต์รักเพลงสวรรค์ เป็นภาพยนตร์เพลง ที่กำกับโดย โรเบิร์ต ไวส์ แสดงนำโดย จูลี่ แอนดรูว์ ออกฉายในปี พ.ศ. 2508 โดยมีเนื้อหาตามละครเพลงบรอดเวย์ The Sound of Music ที่ออกแสดงครั้งแรกในปี พ.ศ.2502

3. Doctor Zhivago (ด็อกเตอร์ชิวาโก้) 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2509 เป็นภาพยนตร์ที่มีความปราณีตงดงาม ซาบซึ้ง และสะเทือนใจ ด้วยเรื่องราวเนื้อหาซึ่งมีทั้งมุมมองชีวิต ความรัก และสงคราม ตัวเรื่องดัดแปลงมาจากนวนิยายจากปลายปากกาของ “บอรีส ปาสเตอร์แน็ก” เนื้อหาโดยรวม บอกเล่าเรื่องราวของนายแพทย์และกวีชาวรัสเซียชื่อ นายแพทย์ยูริ อังเดรเยวิช ชิวาโก และความรักของเขาที่มีต่อหญิงสาวสองคน คือ ลาริซซา “ลารา” แอนติโปวา และ ทันยา โกรมีโก 

4. Psycho (ไซโค) 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์พาราเมาท์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2504 "ไซโค" ภาพยนตร์แนวระทึกขวัญจิตวิทยาเรื่องที่โด่งดังและเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก สร้างจากนวนิยายของ โรเบิร์ต บล็อช เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ความยาว 109 นาที 

5. Goldfinger (จอมมฤตยู 007)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์เมโทร เมื่อปี พ.ศ. 2507 ภาพยนตร์แฟรนไชส์สายลับลำดับที่ 3 ในชุดเดอะ บอนด์ ซีรีส์ และมี “ฌอน คอนเนอรี่” รับบทเจมส์ บอนด์ เป็นครั้งที่ 3 และเป็นภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ที่ขายดีเป็นอันดับที่ 2 จากภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ อย่างเป็นทางการ 22 เรื่อง 

 

6. Spartacus (สปาตาคัส) 

ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ความยาวราว 3 ชั่วโมงเรื่องนี้ กำกับโดยสแตนลีย์ คูบริค เล่าเรื่องราวของทาสคนหนึ่งซึ่งมีชื่อเดียวกันกับหนัง “สปาตาคัส” ซึ่งเกิดมาในยุคสมัยที่อาณาจักรโรมันกำลังรุ่งเรือง และยังมีการใช้แรงงานทาส (ก่อนที่จะมีการยกเลิกในอีก 200 ปีต่อมา) ข้อแตกต่างของ “สปาตาคัส” ที่แตกต่างไปจากทาสทั่วไปก็คือ เขาไม่ยอมตกเป็นทาสอย่างเชื่องๆ และเป็นผู้นำกองทัพทาส ลุกขึ้นสู้ และประกาศอิสรภาพ ปลดแอกตัวเอง 

7. Lawrence of Arabia (ลอว์เรนซ์แห่งอาราเบีย) 

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านเคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์ควีนส์ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. 2506 “ลอว์เรนซ์แห่งอาราเบีย” นับเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์สงครามที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา เนื้อหาโดยย่อ เล่าเรื่องราวของ  โทมัส เอดเวิร์ด ลอเรนซ์ ทหารชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตในอาหรับ เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าชายไฟซาล ในช่วงการปฏิวัติอาหรับ เพื่อปลดแอกจากจักรวรรดิออตโตมัน-เติร์ก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 

ขอบคุณข้อมูลประกอบ : วิกิพีเดีย, และเว็บไซต์ หอภาพยนตร์

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ 7 ภาพยนตร์แห่งตำนาน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook