“BNK48 : Girls Don’t Cry” ร้องไห้ออกมาเถอะไม่ต้องอาย เพราะพวกเธอคือ “มนุษย์”

“BNK48 : Girls Don’t Cry” ร้องไห้ออกมาเถอะไม่ต้องอาย เพราะพวกเธอคือ “มนุษย์”

“BNK48 : Girls Don’t Cry” ร้องไห้ออกมาเถอะไม่ต้องอาย เพราะพวกเธอคือ “มนุษย์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

*** เนื้อหาในบทความอาจเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนของหนัง ***

 

ตอนคุณเป็นวัยรุ่น เคยคิดไหมว่า เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา คุณอยากทำอะไร?

หรืออยากมีชีวิตแบบไหน?

เด็กสาวกลุ่มหนึ่ง อาจมีความฝัน อาจยังค้นหาคำตอบ หรืออาจยังไม่ได้คิดถึงอนาคตเป็นภาพชัดเจนขนาดนั้น … แต่จู่ๆ เด็กสาวกลุ่มนี้ ก็ได้รับโอกาสในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงไอดอลนามว่า BNK48 ในฐานะเมมเบอร์

จากจุดเริ่มต้น คงไม่มีใครคาดคิดว่า ชื่อของ BNK48 จะกลายเป็น “ปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย” แม้กระทั่งตัวเมมเบอร์เองก็คงไม่ได้มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าชื่อเสียงเงินทองจะหลั่งไหลและถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วเช่นนี้

และอย่าลืมว่า ณ ตอนก่อตั้งวง สมาชิกที่อายุน้อยที่สุดอยู่ที่ตัวเลข 13 ปี ส่วนมากที่สุดคือ 22 ปี ช่วงอายุนี้คือ “ช่วงชีวิตวัยรุ่น” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า น่าจะเป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ท้าทาย ค้นหา ทดลอง มากที่สุดแล้วของมนุษย์

ทว่า สิ่งที่สมาชิกทั้ง 26 คนของ BNK48 (นับรวม แคน ที่เพิ่งประกาศจบการศึกษาหลังถ่ายทำหนังจบ) พบเจอในช่วงอายุนี้ กลับไม่ใช่เรื่องราวปกติธรรมดาที่วัยรุ่นทั่วไปพบเจอ 

**********

เรียกเสียงฮือฮานับตั้งแต่ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับขวัญใจคอหนังอินดี้เมืองไทยที่ได้โพสต์ภาพตนเองร่วมกับสมาชิก BNK48 พร้อมแคปชั่น “พร้อมถ่ายละ” และแฮชแท็ก #bnk48 #documentary #soon เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า BNK48 กำลังจะมีสารคดีที่กำกับโดย นวพล แน่ๆ ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนก็คิดว่าเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจ แม้จะไม่ใช่โอตะพันธุ์แท้ก็ตาม

เนื่องด้วยในช่วงเวลานั้น เพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย Koisuru Fortune Cookie” ได้ทำให้ BNK48 ตบเท้าก้าวเข้าสู่ตลาดแมสของวงการเพลงอย่างเต็มตัว อาจจะเรียกได้ว่า แทบไม่มีใครไม่รู้จักพวกเธอก็ว่าได้ ในขณะเดียวกัน ชื่อของ นวพล ค่อนข้างจะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสาวๆ BNK48 แม้ว่าความสำเร็จของ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ จะขยายสู่วงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับผลงานการกำกับเรื่องอื่นๆ ของ นวพล ไม่ว่าจะเป็น Mary is happy, Mary is happy หรือ Die Tomorrow ก็คงเรียกเต็มปากเต็มคำได้ว่า เป็นหนังนอกกระแส

จักรวาลของ นวพล ที่มี BNK48 อยู่ในนั้น โลกขั้วตรงข้ามที่โคจรมาเจอกัน

ในที่สุด เทรลเลอร์ของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง BNK48 : Girls Don’t Cry (หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า Girls Don’t Cry ก็ได้) รวมถึงสกู๊ปและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ของ นวพล ก็สร้างความคาดหวังขนาดมหึมาให้กับเรา ว่าจะได้เห็นอีกแง่มุมของ BNK48 ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กลิ่นอายความดาร์กเล็กๆ ลอยมาแตะจมูกในทันทีทันใด กับผลงานของ นวพล ที่เขาออกตัวว่า … นี่คือหนัง coming of age ของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง

แต่ประเด็นที่เราคาดหวังมากที่สุดก่อนจะเข้าโรงหนังก็คือ อยากเห็น “ความเป็นมนุษย์” ที่มากขึ้นจาก BNK48 

**********

BNK48 : Girls Don’t Cry มาในโหมดสารคดีแบบฉบับที่ นวพล เคยทำใน The Master มาแล้ว มีผู้ถาม (ซึ่งก็คือ นวพล) และผู้ตอบ (สมาชิก BNK48) ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านบทสัมภาษณ์ของแต่ละคนสลับกันไปมา จากจุดเริ่มต้นในวันออดิชั่น สู่ซิงเกิลแรก ซิงเกิลต่อมาที่สร้างปรากฏการณ์คุกกี้เสี่ยงทายไปทั่วทุกสารทิศ จนมาถึงซิงเกิลที่สาม และในทุกวันนี้ที่พวกเธอกลายเป็นสตาร์ของวงการเพลงเมืองไทย

อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “การเปิดใจ” ถ่ายทอดความรู้สึกที่โดยปกติไม่สามารถเปิดเผยให้คนภายนอกหรือสื่อมวลชนรับรู้ได้ นี่อาจเป็นสิ่งที่แฟนคลับ BNK48 สนใจใคร่รู้ และอยากเข้าไปดูว่าตัวตนในอีกแง่มุมของเมมเบอร์ที่ตนเองคลั่งไคล้นั้นเป็นอย่างไร ผ่านเส้นเรื่องที่เล่าถึงความฝัน ความพยายาม ความตั้งใจ รวมไปถึง “การแข่งขัน” ภายในกรุ๊ป 48 ที่ไม่ว่าใครก็อยากติดเซ็มบัตสึ หรือแม้กระทั่งการไปยืนอยู่ในจุดที่เรียกว่า “เซ็นเตอร์” 

******** 

เอาเข้าจริงเรื่องราวของ Girls Don’t Cry ไม่มีอะไรไปมากกว่านี้แล้ว แน่นอนว่าสารคดีเรื่องนี้ค่อนข้างตอบโจทย์กับเหล่าโอตะที่ติดตาม BNK48 มาโดยตลอดมากกว่าคนธรรมดาที่ไม่ได้ “อิน” กับกระแสไอดอลในเมืองไทย แม้ว่า นวพล จะออกตัวว่านี่คือหนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่ง แต่หากไม่มีพื้นเพความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไอดอล การเดินทางของวง ซิงเกิลแต่ละซิงเกิล ก็อาจจะเกิดอาการงงๆ ได้อยู่เหมือนกันว่าเด็กสาว 26 คนนี้มาทำอะไรกัน

แต่สิ่งที่น่าชื่นชม นวพล เอามากๆ ก็คงเป็นเรื่องการนำเอาบทสัมภาษณ์ของเมมเบอร์แต่ละคนมาร้อยเรียงเล่าเรื่อง ความฝัน ความพยายาม และความตั้งใจได้ชัดเจนทีเดียว อย่าลืมว่าบทสนทนาระหว่างผู้ถามและผู้ตอบทั้ง 26 คนไม่มีทางจะเหมือนกันทั้งเรื่องคำถามและคำตอบ เพราะฉะนั้นการนำฟุตเทจจำนวนมหาศาลมาตัดต่อกลายเป็นภาพยนตร์ความยาว 110 นาทีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย (นวพล เป็นคนตัดต่อด้วยตนเอง) อีกทั้งเมมเบอร์บางคนอาจเป็นตัวละครหลักในประเด็นนี้ อีกคนอาจจะมีบทบาทในอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งการเล่าเรื่องแบบนี้มันง่ายมากต่อการที่จะไปกระตุ้นต่อมความง่วงให้เกิดขึ้น ซึ่งใครไม่โปรดปรานสารคดีถาม-ตอบในลักษณะนี้ก็อาจมีหลับได้เช่นกัน

อีกหนึ่งจุดเด่นของ นวพล ก็คือ การตั้งคำถามกับประเด็นที่เขาจะเล่น ซึ่งมักจะส่งผลมาถึงคนดูได้เสมอ อาทิ การตั้งคำถามต่อความตายใน Die Tomorrow, การตั้งคำถามต่อเรื่องความถูกต้องทางลิขสิทธิ์และโอกาสที่อาจสูญเสียไปจาก The Master หรือแม้แต่ ฟรีแลนซ์ฯ ที่เขาก็ตั้งคำถามกับการ “ใช้ชีวิต” ที่ไม่ใช่เพียงแต่ “มีชีวิต” อยู่ Girls Don’t Cry ก็เช่นกันที่ นวพล ตั้งคำถามกับ “ชีวิตวัยรุ่น” และการเติบโตทางความคิดของพวกเธอ รวมไปถึงการจิกกัดสังคมสไตล์ เต๋อ นวพล ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งช็อต “การจับมือ” ช็อตนั้นถือว่าพีคใช่ย่อย รวมถึงความขบขันแบบขื่นๆ ที่แทรกเข้ามาเป็นระยะ

กล่าวโดยสรุปคือ Girls Don’t Cry อาจไม่เข้มข้นเทียบเท่าหนังเรื่องก่อนๆ ของ นวพล ได้ ทว่าสำหรับวัยรุ่น (ทั้งชายและหญิง) นี่อาจเป็นหนังที่ทำให้คุณฉุกคิดถึงสิ่งที่คุณทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รวมไปถึงเป้าหมายในชีวิตที่อาจจะวางแผนไว้แล้วหรือยังไม่ได้แพลนก็ตาม และการเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ในขณะที่ผู้ใหญ่ ก็อาจเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นเจเนอเรชั่นนี้มากขึ้น ว่าสิ่งที่พวกเขาคิดและทำ มันเกิดจากอะไร สิ่งแวดล้อมแบบไหน วัฒนธรรมแบบใดที่ก่อร่างสร้างตัวตนของพวกเขาขึ้นมา

********

ย้อนกลับไปที่ “ความคาดหวัง” ที่เราอยากเห็น “ความเป็นมนุษย์” ของ BNK48 มากขึ้น

ถามว่า หนังเรื่องนี้ทำสำเร็จไหม? คำตอบโดยส่วนตัวคือ ทำสำเร็จได้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงของการฉาย

เราได้เห็นแววตาอันใสซื่อบริสุทธิ์ ฟังคำพูดที่ออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ เห็นน้ำตาคลอเบ้าหรือแม้กระทั่งไหลรินอาบแก้ม

แต่คำถามที่เกิดขึ้นตลอดการรับชมก็คือ สิ่งที่พวกเธอทำ สิ่งที่พวกเธอเป็นอยู่ ณ ขณะนี้ … พวกเธอมีความสุขจริงหรือ?

บางคนฝันอยากเป็นไอดอล บางคนมาออดิชั่นเพราะครอบครัวอยากให้มา บางคนยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้คะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น บางคนพยายามทำทุกวิถีทางแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น บางคนทำเพื่อวง … บางคนทำเพื่อตัวเอง

แม้กระทั่งบางคนที่อยู่บนยอดเขา จะเดินลงมาก็ไกลแสนไกลแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับความรู้สึกของตัวเองที่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง ห่วงความรู้สึกของคนรอบข้าง หรือแม้แต่คำครหาต่างๆ โดยที่ในบางคราว เธอคนนั้นก็ยัง “ไม่เข้าใจ” ว่าสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นกับเธอได้อย่างไร

พวกเธอมีความสุขจริงๆ หรือ?

วัยรุ่น คือวัยที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน วัยที่กำลังค้นหาอะไรบางอย่าง รายล้อมด้วยเพื่อนฝูง ลองผิดลองถูก ลองมีความรัก ลองอกหัก ลองเจ็บปวด ลองออกเดินทางสู่โลกกว้าง เพื่อในสักวันจะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทาน

แน่นอนว่าการเข้ามาสู่สปอตไลท์ในวงการบันเทิง การมีชื่อเสียง เงินทอง มีแฟนคลับ และเป็นที่จดจำ อาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับคนภายนอกที่มองเข้ามา แต่ลองมองเข้าไปที่แววตาของเมมเบอร์แต่ละคนระหว่างที่ให้สัมภาษณ์สิ สิ่งที่เราเห็นในโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต อาจไม่เหมือนกับ “ความเป็นจริง” ที่พวกเธอรู้สึกก็เป็นได้

จะแอ๊บแบ๊วไปทำไมถ้าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จะทุ่มเทไปทำไมเมื่อท้ายที่สุดผลก็ไม่ออกมาเป็นดั่งใจหวัง

แต่นี่แหละคือโลกแห่งความเป็นจริงที่โหดร้าย ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่สาวๆ ทั้ง 26 คนได้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ลักษณะนี้ตั้งแต่อายุเท่านี้

แต่ก็นั่นแหละ เราก็ยังแอบเสียดายชีวิตวัยรุ่นที่อาจจะเสริมสร้าง “การใช้ชีวิต” ในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าการฝึกซ้อม อยู่หน้าม่านการแสดงที่เธียเตอร์ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกงาน โชว์ตัว เพียงเท่านั้น

แต่การได้มาซึ่งบางสิ่ง ก็อาจจะต้องยอมแลกกับบางสิ่ง จริงไหม?

อย่างไรก็ตาม เมื่อ BNK48 : Girls Don’t Cry จบลง เราแค่อยากเดินไปบอกกับเมมเบอร์ทุกๆ คนต่อหน้าว่า ร้องไห้ออกมาเถอะ ไม่ต้องกลั้นเอาไว้ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมองว่าอ่อนแอ เพราะ “น้ำตา” คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า คุณยังมี “ความรู้สึก” และเจ้าความรู้สึกนี่แหละ ที่ทำให้ทุกคนได้รู้ว่า พวกคุณเป็น “มนุษย์” มิใช่ “สินค้า”

อัลบั้มภาพ 28 ภาพ

อัลบั้มภาพ 28 ภาพ ของ “BNK48 : Girls Don’t Cry” ร้องไห้ออกมาเถอะไม่ต้องอาย เพราะพวกเธอคือ “มนุษย์”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook