แนะนำ The First Purge ปฐมบทของ 12 ชั่วโมงนรกแตก

แนะนำ The First Purge ปฐมบทของ 12 ชั่วโมงนรกแตก

แนะนำ The First Purge ปฐมบทของ 12 ชั่วโมงนรกแตก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟรนชายส์อย่าง The Purge จัดเป็นกลุ่มหนังระทึกขวัญ แอ็คชั่น สยองขวัญ (และการเมืองในภาคหลังๆ) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่องหนึ่ง The Purge เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 แม้จะไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกนัก แต่ก็เรียกได้ว่าพล็อตหนังมาพร้อม “แก่นเรื่อง” ที่น่าสนใจ ทำให้หนังเรื่องนี้สามารถทำรายได้ทั่วโลกที่ 89 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างแค่ 3 ล้านเหรียญเท่านั้น

 

ความสำเร็จทำให้ The Purge มีภาคต่อตามออกมา 2 ภาคอันประกอบไปด้วย The Purge: Anarchy ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวพิธีไถ่บาปในพื้นที่เปิดโล่ง ให้อารมณ์ความรู้สึกต่างจากหนังภาคแรก และ The Purge: Election Year ที่หยิบเอาพล็อตแนวการเมืองระทึกขวัญเข้ามาผสมผสานในเส้นเรื่อง และตั้งคำถามใส่หน้ากับคนดูว่า ถ้าวันนี้เรายกเลิกพิธีกรรมดังกล่าวแล้วคนยังจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราก็ยังไม่เคยรู้เลยว่าพิธีกรรมป่าเถื่อนนี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

วันที่ The Purge เริ่มต้นขึ้น

The First Purge จึงพาคนดูเดินทางย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ปฐมบทของ 12 ชั่วโมงที่สามารถก่ออาชญากรรมได้โดยไม่ผิดกฎหมายเป็นประจำทุกปีในอเมริกา ขอต้อนรับสู่การปฏิวัติที่เริ่มต้นด้วยการเป็นการทดลองธรรมดา เพื่อทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมตลอดทั้งปีลดเหลือต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หน่วยงานของรัฐบาลที่ชื่อบิดาผู้ก่อตั้งอเมริกาใหม่ New Founding Fathers of America (NFFA) ได้ทำการทดลองทฤษฎีความรุนแรงทางสังคม ที่ให้คนปลดปล่อยความก้าวร้าวได้หนึ่งคืนในชุมชนที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง  แต่เมื่อความรุนแรงของฝ่ายที่กดขี่ปะทะกับความโกรธแค้นของฝ่ายที่ถูกปฏิบัติเหมือนคนไร้ค่า  ความรุนแรงก็ปะทุไปไกลกว่าเขตของเมืองทดลอง และกระจายไปทั่วประเทศ  

เมื่อ NFFA เข้ามาควบคุมการเมืองของอเมริกา การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน   เมื่อดร.อัพเดล (มาริสา โทเม) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการทดลองคืนล้างบาป รับรู้ว่าโอกาสที่การทดลองที่เสี่ยงและเป็นเพียงทฤษฎี อาจกลายเป็นเหตุการณ์จริง เธอพบโอกาสที่จะรักษามรดกเพื่อประเทศที่เธอบอกว่ารักมากให้คงอยู่ต่อไป

เมื่อดิมิทรี (อีลาน โนเอล) รู้ว่าเกาะสเตเตนบ้านของเขา ถูกเลือกสำหรับการศึกษาด้านวัฒนธรรมครั้งสำคัญ ซึ่งจะเปลี่ยนความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลและความรู้สึกที่มีต่อกันไปตลอดกาล  เขาสงสัยในจุดประสงค์และเป้าหมายของการทดลอง และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยคนที่เขารักใน “เมืองทดลอง” นี้ รวมทั้งไนอา (เล็กซ์ สก็อตต์ เดวิส) นักต่อสู้ในชุมชน และน้องชายของเธอ ไอเซอาห์ (จอยแวน เวด) พวกเขาพร้อมจะออกไปที่ถนน เพื่อปกป้องคนในชุมชนและความเป็นมนุษย์ที่ยังเหลืออยู่ของประเทศ ไม่ว่าจะต้องทำอย่างไร

 

มองสังคมองค์รวมผ่านหนังระทึกขวัญ

แฟรนชายส์ The Purge ได้ขุดค้นความจริงว่าสังคมสามารถทำลายตัวเองลงได้อย่างไร เมื่อรัฐบาลที่ฉ้อฉลกระตุ้นให้เราใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย และทำร้ายรังแกคนที่ยากจนที่สุดในสังคม เมื่อประชาชนถูกกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการทำตัวเป็นศาลเตี้ย ไม่เพียงแต่หลักแห่งกฎหมายเท่านั้นที่พังลง แต่ยังรวมถึงพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อีกด้วย

แนวคิดของผู้คิดค้นการทดลองคืนล้างบาป เป็นเจตนาที่ดี แต่นั่นกลับเป็นการปูทางสู่ความชั่วร้าย เช่นเดียวกันกับตอนที่ คาร์ล มาร์กซ์เขียนหนังสือชื่อ ‘Capital’ ซึ่งว่าด้วยระบบเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ทุนนิยม และเป็นยังมีแนวคิดอื่นๆในเชิงคอมมิวนิสต์ เพราะเจตนาอันดีของเขาที่อยากทำให้ผู้คนในโลกมีความเท่าเทียม มีโลกที่ดีกว่านี้ แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตไป

The First Purge จึงพยายามตั้งคำถามถึงเรื่อง “ความน่ากลัวที่สุด” มาจากไหน คำตอบง่ายๆคือปีศาจที่น่ากลัวที่สุดก็คือมนุษย์ของเรา ถ้าหากโลกของเราต้องลงเอยในสถานการณ์แบบ The Purge ล่ะ “ถ้าเราลงเอยด้วยการต้องอยู่ในโลกแบบนี้ล่ะ, ถ้ารัฐบาลเราพยายามบังคับให้เราต้องห้ำหั่นกันเอง และทำลายสิ่งที่เปราะบางที่สุดในสังคมล่ะ,ฉันจะเข้าร่วมดีไหม หรือฉันจะสู้กับพวกที่ควบคุมเรื่องนี้ซะเลย ดังนั้นหนังภาคนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ปฐมบทของเรื่องราวทั้งหมด แต่ยังมีความพิเศษมากกว่าเดิมตรงที่ มือเขียนบทอย่างเจมส์ เดอโมนาโค เล่าเรื่องราวของตัวละครอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและเชื้อสายลาติน ที่ทั้งหมดต่างก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในชุมชนของพวกเขาบนเกาะสเตเตน   อดีตคู่รัก ดิมิทรีกับไนอา ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องมาผนึกกำลังกันในเวลาที่เมืองต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาต้องวางเรื่องที่ปวดร้าวใจไว้ก่อน และสนับสนุนซึ่งกันและกัน

การเมืองและคนผิวสี

The First Purge เป็นตอนที่เกี่ยวกับการเมืองมากกว่าตอนก่อนๆ ยิ่งไปกว่านั้นการได้ผู้กำกับผิวสีอย่างเจอรัลด์ แม็คเมอร์เรย์ ซึ่งเขาเคยผ่านพ้นเหตุการณ์หายนะจากพายุเฮอริเคนแคทริน่าเมื่อปี 2005 มา และรู้จากประสบการณ์ตรง ว่าความรู้สึกของการถูกรัฐบาลของตัวเองทอดทิ้งเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องนี้ ที่พบว่าความสิ้นหวังมาเยือนถึงหน้าประตูบ้าน เมื่อความรู้สึกของตัวเองมารวมกับบทภาพยนตร์ทำให้เขามองภาพที่จะเกิดขึ้นในหนังได้ทันที

“ผมต้องการจะพูดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองแบบตรงๆ  ผมคิดว่าประเด็นบางอย่างในสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้บอกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน The Purge จากการใช้หนังเรื่องนี้เป็นพื้นฐานในความเป็นจริง ผมรู้ว่าผมสามารถเล่าเรื่องราวของ The Purge ตอนนี้ให้มีความแตกต่างทางนัยขึ้นอีกนิด และทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าทำไมเรื่องทั้งหมดถึงเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น และสิ่งที่พวกเขาทำ   รวมทั้งเรื่องที่ว่าทำไมความคิดนี้จึงใกล้เคียงมากกับสิ่งที่สังคมเรากำลังเป็นอยู่ตอนนี้   ผมมุ่งเน้นถ่ายทอดเรื่องราวที่มีนัยมากขึ้นสำหรับคนดู ในขณะที่ก็ให้ความเป็นหนังแอ็คชั่นสยองขวัญเต็มที่แก่พวกเขาไปพร้อมกัน” เจอรัลด์ แม็คเมอร์เรย์ กล่าวไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook