ประเทศกูมัวร์และเมืองที่เราไม่มี (จาก “Fahrenheit 11/9” ไป “Gatlang”)

ประเทศกูมัวร์และเมืองที่เราไม่มี (จาก “Fahrenheit 11/9” ไป “Gatlang”)

ประเทศกูมัวร์และเมืองที่เราไม่มี (จาก “Fahrenheit 11/9” ไป “Gatlang”)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัปดาห์นี้ขออนุญาตรวมหนังสองเรื่องไว้ในบทความเดียวกันเลยครับ เหตุผลก็เพราะว่าทั้งสองเรื่อง (คือ “Fahrenheit 11/9” และ “Gatlang : Happiness, hardship and other stories” ชื่อภาษาไทยก็คือ “กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง”) นั้นอาจไม่ยืนโปรแกรมอยู่รอเราในโรงภาพยนตร์นานนัก (แถม “Gatlang” นี่เข้าฉายแค่ 10 วันเท่านั้น) ถ้ารอเขียนสัปดาห์ละเรื่อง ผมเชื่อว่าไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งในสองเรื่องนี้ต้องหลุดโปรแกรมไปแล้วแน่ๆ หรือเลวร้ายที่สุดก็อาจหาดูไม่ได้ในโรงภาพยนตร์เลยทั้งสองเรื่อง เพราะฉะนั้นรวบตึงดึงมาไว้ที่เดียวเลยก็แล้วครับ เผื่อว่าคุณอ่านจบแล้วตัดสินใจไปดูจะได้ไม่พลาด

แล้วก็บังเอิญเหลือเกินว่าทั้ง “Fahrenheit 11/9” และ “Gatlang” นั้นเป็นหนังสารคดีทั้งคู่ เรื่องแรกเป็นของ ไมเคิล มัวร์ นักทำหนังสารคดีตัวแสบของวงการครับ มัวร์ สร้างชื่อมาจากการทำหนังสารคดีที่ตีแผ่ความจริงในสังคมอเมริกันในแบบแสบสันต์ มีทั้งการวิพากษ์แบบตรงไปตรงมา และเสียดสีเย้ยหยันอย่างมีชั้นเชิง อาวุธลับของเขาคือความตลกร้ายนั่นเองครับ หนังสร้างชื่อของเขาก็อาทิ “Bowling for Columbine” และ “Fahrenheit 9/11” ที่หลายท่านน่าจะเคยดูกัน ส่วน “Gatlang : Happiness, hardship and other stories” (ต่อไปขอเรียกสั้นๆ ว่า “Gatlang” ก็แล้วกัน) นั้นเป็นผลงานของ เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ ครับ สองคนนี้เคยทำหนังสารคดีเรื่อง “ประชาธิป“ไทย”” ร่วมกันมาก่อน นี่ถือเป็นผลงานชิ้นที่สองของทั้งคู่ครับ

ไมเคิล มัวร์ ใน Fahrenheit 11/9

เริ่มที่หนังของ มัวร์ ก่อน คือถ้า “Fahrenheit 9/11” นั้นมีซับเจกต์หลักอยู่ที่นโยบายของ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในการทำสงครามกับอิรักจนกลายมาเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมที่โลกไม่ลืมอย่าง 9/11 ครั้งนั้น ใน “Fahrenheit 11/9” ไมเคิล มัวร์ ก็มี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเป้าหมายหลักเลยล่ะครับ เรียกว่าเล่นงาน ทรัมป์ เต็มๆ ความแสบของหนังก็คือ การล้อเลียนหนังตัวเอง ด้วยมุขกลับเลข 9/11 มาเป็น 11/9 ซึ่งหมายถึงวันที่ 9 เดือนพฤศจิกายน (เดือน 11) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มัวร์ เริ่มต้นหนังเรื่องนี้ด้วยการตั้งคำถามว่า ในช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกาปล่อยให้คนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร คำว่า “คนอย่างทรัมป์” นี่ในหนังเขาหมายถึงคนที่ หยาบคาย บ้าอำนาจ ปลุกปั่นลัทธิชาตินิยมอย่างไม่เข้าท่า เหยียดทุกอย่างที่เหยียดได้ทั้งเรื่องเพศและชาติพันธุ์ ขี้หงุดหงิด พูดจาไม่ให้เกียรติผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อมวลชน เอ่อ... ถ้าคุณรู้สึกทะแม่งๆ ว่าที่กล่าวมานี่ ผมกำลังหมายถึงใคร... ผมหมายถึง โดนัลด์ ทรัมป์ นะครับ แต่ถ้าคุณนึกถึงลุงคนอื่น อันนี้ก็แล้วแต่คุณครับ

Getty Imagesผู้กำกับสุดแสบแห่งวงการฮอลลีวูด ไมเคิล มัวร์

แล้วหนังก็พาไปดูว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาได้คนอย่างทรัมป์มาบริหารประเทศ ด้วยการย้อนกลับไปดูระบบสรรหาผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต คู่แข่งสำคัญของรีพับลิกัน (และทรัมป์) ซึ่ง มัวร์ เผยข้อเท็จจริงที่ทำให้กองเชียร์เดโมแครตต้องอึ้งและเจ็บจุกอกกันไปตามๆ กันนั่นคือ การเล่นกลกันภายในพรรคทำให้ เบอร์นี่ แซนเดอร์ส ไม่ได้เป็นตัวแทนชิงตำแหน่ง และกลายเป็น ฮิลารี คลินตัน ที่กลายเป็นแคนดิเดต ซึ่งก็อย่างที่ทราบครับว่า ฮิลารี แพ้แบบหักปากกาเซียน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะจากทรัมป์ ตามที่ ไมเคิล มัวร์ ว่าเอาไว้ แล้วก็ไม่ได้จบแค่นั้นนะครับ เพราะนอกจากเอาเดโมแครต มาสาวไส้ให้คนดูจบแล้ว มัวร์ ก็กลับมาจัดหนัก ทรัมป์ ต่อด้วยการเล่าเรื่องวิกฤตน้ำประปาในฟลินต์, มิชิแกน ซึ่งมีผู้ว่าการรัฐชื่อ ริค สไนเดอร์ สมาชิกของพรรครีพับลิกันรับผิดชอบอยู่ (ฟลินต์ นี่ยังเป็นบ้านเกิดของ ไมเคิล มัวร์ ด้วย)

ตัวอย่างภาพยนตร์ Fahrenheit 11/9

ปัญหาเรื่องน้ำประปาใน ฟลินต์ นี่เป็นข่าวใหญ่โตครึกโครมมากครับ เพราะมีประชาชนใช้น้ำที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนจนเสียชีวิต แต่ สไนเดอร์ กลับไม่รับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น ผมขออนุญาตไม่เล่าดีกว่าเพราะอยากให้ไปดูเอง แต่เรื่องที่ฟลินต์นี่หนักหนาสาหัสและทำเอาผมมีก้อนสะอื้นมาจุกอยู่ในลำคอ เพราะอยากร้องไห้ครับ มันน่าเศร้าจริงๆ “Fahrenheit 11/9” ขยายประเด็นไปจบเรื่องตรงที่ว่า เมื่อเราหวังพึ่งนักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศ หวังพึ่งคนอย่างทรัมป์ คนอย่างสไนเดอร์ พรรคการเมืองที่เอาแต่เล่นเกมอำนาจอย่างรีพับลิกันและเดโมแครตไม่ได้แล้ว เราควรทำอย่างไร “Fahrenheit 11/9” ของ ไมเคิล มัวร์ บอกเราครับว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่และคนร่วมสมัย เราก็ต้องเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง เราต้องหาวิธีใหม่ด้วยตัวเราเอง เลิกรอและเลิกหวังว่าคนเก่าๆ จะมาพร้อมวิธีใหม่ๆ มันเป็นไปไม่ได้เลย อันนี้ดูจบก็ให้รู้สึกทะแม่งๆ ว่ามันเหมือนที่ไหนสักที่น้า... แหม ไม่อยากนึกออกเลย

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Gatlang : Happiness, hardship and other stories

มาต่อกันที่ “Gatlang” ซึ่งเป็นชื่อเมืองเล็กๆ ในหุบเขาของประเทศเนปาลครับ กัตลัง เป็นเมืองที่มีประชากรไม่มาก และยังดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ค่อนข้างเข้าถึงยาก นักท่องเที่ยวเลยไม่ค่อยมี ความเจริญในแบบตะวันตกไม่เคยได้กล้ำกรายเฉียดมาใกล้ แต่กลับทำให้ความอุดมสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณแข็งแกร่งมากครับ หนังเริ่มต้นเล่าถึงจิตวิญญาณความเป็น กัตลัง ที่ไม่ใช่แค่สถานที่แต่เป็นผู้คน ผ่านสี 5 สีที่สะท้อนความเป็นคนเนปาล แล้วก็เล่าไปทีละพาร์ต เพื่อนำเสนอให้ผู้ชมเห็นว่าคนกัตลังกำลังเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง ท้าทายทั้งจากความเจริญที่กำลังโอบรัดโลกใบนี้ไว้ด้วยการทำให้ผู้คนมีอัตลักษณ์เดียวกัน ท้าทายทั้งการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติต่างๆ และการได้รับการดูแลจากรัฐในแบบที่ไม่เข้าใจตัวตนของพวกเขา ไปสู่คำถามใหญ่ข้อเดียวที่ว่า กัตลัง จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตนี้ได้หรือไม่ และอย่างไร

Getty Imagesเป็นเอก รัตนเรือง

ว่ากันตามตรง “Gatlang” นี่ก็เป็นหนังสารคดีที่ดูเพลินๆ ดีครับ เหมือนเป็นการดีท็อกซ์อารมณ์ต่อจากการดู “Fahrenheit 11/9” ได้ดีเลย (ผมดูสองเรื่องนี้ต่อกันน่ะครับ) แต่ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์ไหนก็ตาม ทั้ง “Fahrenheit 11/9” และ “Gatlang” นั้นก็เป็นหนังสารคดีที่น่าดูทั้งคู่ครับ รีบไปดูกันเดี๋ยวหนังออกโปรแกรม

ตัวอย่างภาพยนตร์ Gatlang

ดูแล้วก็อดย้อนกลับมาดูสังคมที่เราอยู่ไม่ได้ครับ แล้วก็ต้องเศร้าใจเมื่อพบว่า นอกจากวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติแบบกัตลังที่เราไม่มีไม่เหลือแล้ว การสนับสนุนนักทำหนังสารคดีตีแผ่ความจริงอย่าง ไมเคิล มัวร์ ในบ้านเราก็มีน้อยเหลือเกินด้วย จริงๆ คนทำหนังน่ะมีครับ แต่การสนับสนุนคนเหล่านี้ต่างหากที่มีน้อยเกินไป นั่นทำให้คนทำหนังพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะพูดมากหรือตรงมากก็อดทำครับ

จบสิครับอย่างนี้ ฮ่าฮ่า

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ประเทศกูมัวร์และเมืองที่เราไม่มี (จาก “Fahrenheit 11/9” ไป “Gatlang”)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook