รีวิว Aquaman แผนการกบฏของหญิงชาวแอตแลนติส

รีวิว Aquaman แผนการกบฏของหญิงชาวแอตแลนติส

รีวิว Aquaman แผนการกบฏของหญิงชาวแอตแลนติส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ในยุคที่หนังซูปเปอร์ฮีโร่คล้ายกับภาวะฟองสบู่ (มีจำนวนมากมายและพล็อตจำเจซ้ำซาก) ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งดีซีคอมิกส์หรือมาร์เวลคอมิกส์ก็ตาม เอาเป็นว่าผู้ชมยุคนี้ แค่ดูตัวอย่างหนังก็แทบจะคาดเดาบทสรุปของเรื่องได้อย่างไม่ยากเย็น ดังนั้นเชื่อว่าสิ่งทีผู้ชมส่วนมากจะคาดหวังจากหนังซูเปอร์ฮีโร่ในแต่ละเรื่องคือ “ระหว่างทาง” ของหนัง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเอนเครดิต ว่ามันจะนำพาคนดูไปสู่อะไร ประเด็นระหว่างทางมีอะไรที่น่าสนใจ กระทั่งฉากเทคนิคพิเศษในเรื่องมีความแปลกใหม่ แปลกตาและโดดเด่นแบบที่ผู้ชมไม่เคยได้เห็นมาก่อนหรือเปล่า

แน่นอนว่า Aquaman อันเป็นผลงานการกำกับของ “เจมส์ วาน” สามารถเล่าเรื่องราวตามสูตรสำเร็จออกมาได้สนุก บันเทิง น่าตื่นตาตื่นใจ จนเราอาจจะกล่าวได้ว่าระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่งนั้นแทบไม่มีช่วงเวลาใดที่น่าเบื่อเลยสักนิดเดียว ทั้งที่พล็อตเรื่องของหนังอันว่าด้วยการแนะนำตัวละครอย่าง อาเธอร์หรืออควาแมน (เจสัน โมมัว) ถึงต้นกำเนิด รวมถึงการพิสูจน์ตัวเองให้ชาวแอตแลนติสเห็นว่าเขาคู่ควรกับตำแหน่งในการเป็นพระราชาของผืนทะเลแค่ไหน

แม้ประเด็นของหนังอาจจะดูซ้ำซาก แต่ถ้าหากเรามองไปถึงซับพล็อตย่อยไม่ว่าจะเป็นความรักต้องห้ามของราชินีแอตแลนน่า (นิโคล คิดแมน) หรือวิธีต่อต้านการโดนคลุมถุงชนของมีร่า เราจะพบว่าตัวละครหญิงทั้งสองคนนั้นล้วนแล้วแต่พยายามแหกกรอบและขนบธรรมเนียมของดินแดนแอตแลนติสเพื่อทำตามสิ่งที่หัวใจของพวกเธอปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น

มองไปที่ราชินีแอตแลนน่า เธออาจจะประสบอุบัติเหตุจนมานอนเกยตื้นที่ริมชายฝั่งของประภาคาร ก่อนที่เธอจะได้รับการช่วยเหลือโดยทอม เคอร์รี่ (เทมูร่า มอร์ริสัน) โดยระหว่างที่พักฟื้นร่างกาย ทั้งสองก็ต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนได้ให้กำเนิดอาเธอร์ขึ้นมา ราชินีแอตแลนน่ารู้ดีว่าความสุขของเธอมีระยะเวลาเพียงสั้นๆ เพราะเธอได้แหกกฎของมหาสมุทรในการขึ้นมาพบรักกับมนุษย์โลก หนทางเดียวที่เธอจะรักษาคนรักและลูกชายให้ปลอดภัยคือการเดินทางกลับไปยังแอตแลนติส และเธอทิ้งคำมั่นสัญญาไว้ว่า สักวันหนึ่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเธอจะกลับมาหาทอมและครองรักกันตลอดไป

ทางด้านตัวละครมีร่า(แอมเบอร์ เฮิร์ด)ก็เช่นเดียวกัน ถึงเธอจะเป็นเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรซีเบล และถูกหมั้นหมายไว้กับกับออร์ม (แพทริค วิลสัน) อยู่แล้วก็ตาม แต่เธอกลับรู้สึกว่า อาเธอร์น่าจะเป็นพระราชาที่เหมาะสมในการปกครองแอตแลนติสมากกว่า เธอจึงเดินทางขึ้นบกไปตามอาเธอร์และโน้มน้าวให้เขากลับมารับตำแหน่ง แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อออร์มคงไม่ยอมง่ายๆ แต่แล้วเมื่อถึงจุดพลิกผันที่อาเธอร์น่าจะใกล้พ่ายแพ้ในการประลองความสามารถ มีร่าตัดสินใจทำการช่วยเหลือลูกนอกสมรสของราชินีแอตแลนน่าโดยที่ไม่สนใจคู่หมั้นของตัวเองอีกต่อไป เพราะมีร่ารู้ดีอยู่แล้วว่าออร์มจะยึดครองแอตแลนติสและอาณาจักรใต้ทะเลอื่นๆจนทำให้เกิดสงครามระหว่างโลกใต้ทะเลและโลกมนุษย์

ถ้าสังเกตให้ดีเราจะพบว่า “ตัวละครหญิง” ในหนัง Aquaman ทั้งสองตัวที่กล่าวมาข้างต้น คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆในเรื่อง โดยเราอาจจะกล่าวได้ว่าหลังจากหนังจบลง เชื่อว่าคงไม่มีคนดูคนไหนหลงลืมตัวละครอย่างราชินีแอตแลนน่าและมีร่าลงอย่างแน่นอน เมื่อตัวละครทั้งสองตัวนี้ต่างก็ได้สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงให้กับโครงสร้างเรื่องราวหลักของหนัง จนเมื่อเรากลับมาคิดตกผลึกแล้ว เราก็จะได้คำจำกัดความที่ว่า “ปล่อยผู้ชายตีกันไป ให้ผู้หญิงคิดหนักและชักใยอยู่เบื้องหลัง”!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook