วิจารณ์หนัง FURY วีรกรรมทำเพื่อชาติ

วิจารณ์หนัง FURY วีรกรรมทำเพื่อชาติ

วิจารณ์หนัง FURY วีรกรรมทำเพื่อชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์ FURY วีรกรรมทำเพื่อชาติ

 

อันที่จริงแก่นของหนังสงครามนั้นคงหนีไม่พ้นประเด็นไม่กี่อย่างนั่นคือ การนำเสนอความรักชาติและพวกพ้อง, ผลพวงจากสงครามรอยบาดแผลและคราบเลือดรวมไปถึงคราบน้ำตา หรือการขายฉากห้ำหั่นกันระหว่างฝ่ายดีและฝ่ายศัตรู 

 

แน่นอนว่าหนังสงครามแล้วขึ้นชื่อว่าคนชนชาติใดเป็นผู้สร้างก็มักจะต้องเขียนบท “เข้าข้าง” ประวัติศาสตร์ชาติของตัวเองเป็นสำคัญ ว่ากันง่ายๆเลยก็คือหนังสงครามส่วนมากก็มักจะปลุกกระแสชาติ(ตน)นิยมเป็นปกติ และมักจะต้องโยนขี้หรือพยายามทำให้อีกฝ่ายหนึ่งดูมีความ “ชอบธรรม” น้อยกว่าเพื่อจะได้เป็นข้ออ้างในการเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ต้องพยายามหาความมีมนุษยธรรมมาทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น 

 

 

หนังอย่าง Fury นั้นอาจจะกล่าวได้ว่ามันมีแนวคิดตามที่ระบุมาข้างต้นเกือบครบครันทุกประการ ตัวหนังบอกเล่าเรื่องราวของพลรถถังกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในช่วงเวลาปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายอเมริกาได้รับมอบหมายทำให้ทำการรบกับศัตรูอย่างนาซีแบบเต็มพิกัดและเป้าหมายเดียวของพวกเขาก็คือการตีเข้าใจกลางเยอรมันให้ย่อยยับราบพนาศรัย ซึ่งรถถังที่เป็นยานพาหนะสำคัญให้ทีมตัวเอกได้ใช้เดินเรื่องก็คือ รถถังเอ็ม 4 ที่ชื่อว่าฟิวรี่ แน่นอนว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของการต่อสู้ไม่ว่าทหารฝ่ายใดก็ตามก็ล้วนเหนื่อยล้าและอิดโรยจากความยาวนานของการรบราฆ่าฟัน ดังนั้นจิควิญญาณของเหล่าทหารก็เริ่มร่อยเหรอเข้าไปทุกที 

 

ผู้กำกับของเรื่องอย่างเดวิด เอเยอร์นั้น ตั้งใจนำเสนอภาพสงครามออกมาพาฝันค่อนข้างน้อยกว่าหนังสงครามเรื่องอื่นๆ เขานำเสนอภาพความรุนแรง ดิบ โหดร้ายและสมจริง (ไม่ว่าจะเป็นเศษชิ้นเนื้อมนุษย์ที่หลุดกระจายปลิวว่อนตลอดเรื่อง) ซึ่งแน่นอนว่าภาพลักษณ์ของทหารในเรื่องนี้จะไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานะของฮีโร่ผู้พิทักษ์อเมริกา แต่พวกเขาจะเป็นแค่คนธรรมดากลุ่มหนึ่งที่เดิมพันชีวิตของตัวเองฝากไว้กับรถถัง และความเจ็บปวดที่พวกเขาได้รับกลับมานั้นไม่ใช่แค่เพียงบาดแผลภายนอกเท่านั้น แต่มันยังบาดลึกลงไปถึงจิตใจของพวกเขาด้วย และความสูญเสียระหว่างพลทหารด้วยกันเองนั้นยิ่งสร้างความรู้สึกเกลียดชังฝ่ายศัตรูอยู่ทุกเมื่อ

 

 

 

ตัวละครของโลแกน เลอร์แมนในบทบาทของนอร์แมน เด็กชายวัยรุ่นที่กระโจนเข้ามานสงครามครั้งนี้ด้วยความจำเป็น เขาเป็นภาพแทนของผ้าขาวที่กำลังถูกทำให้เปื้อนด้วยความเลวร้ายของสงครามที่ตลอดเวลาที่หนังดำเนินเรื่องไปนั้น เขาก็ได้เรียนรู้การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การรับผิดชอบต่อส่วนรวม และแน่นอนมันทำให้เขาต้องจับอาวุธเพื่อฆ่าคนไม่เช่นนั้น หากเขาไม่ลั่นไกกระสุนออกไป อีกหลายชีวิตในพรรคพวกของตัวเองก็อาจจะต้องพบจุดจบ พูดง่ายๆคือหนังทั้งเรื่องถูกนำเสนอผ่านสายตาของเขา ซึ่งกล่าวได้ว่ามันคือการก้าวผ่านพ้นวัยของตัวละคร 

 

ตัวละครอีกหนึ่งตัวที่โดดเด่นไม่แพ้นักแสดงเลยก็คือรถถัง Fury ซึ่งฉากรถถังในหนังเรื่องนี้เรียกได้ว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์สู้รบกับฝ่ายตรงข้ามนั้น การจู่โจมและการเคลื่อนที่ของตัวรถถังในเรื่องสามารถสร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมลุ้นไปกับตัวละครและรถถัง Fury ได้อย่างนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้เลยทีเดียว 

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าพระเอกของเรื่องอย่างแบรด พิตต์ จะมีฉากถอดเสื้อโชว์กล้ามเป็นอาหารตาในช่วงกลางเรื่องก็ตาม แต่นอกเหนือจากพลังดาราแล้ว หนังอย่าง Fury ก็ยังทำหน้าที่เป็นหนังสงครามฟอร์มกลางที่ไม่ได้ตั้งใจใส่ฉากสงครามชนิดยิงกันโครมครามหูดับตับไหม้ มันยังนำเสนอเรื่องราวที่ตัวละครจะต้องตัดสินใจและเลือกเดิน แม้ว่าสุดท้ายแล้วหนังจะไม่จบลงในสไตล์วีรบุรุษก็ตาม แต่หนังก็เลือกที่จะนำเสนอว่าท้ายที่สุดแล้ว บางครั้งการเอื้ออาทรแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาจจะเป็นทางเดียวที่สงครามจะยุติลง 

 

@พริตตี้ปลาสลิด

ให้ 3.5 คะแนนจาก 5 คะแนน 

 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง FURY วีรกรรมทำเพื่อชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook