วิจารณ์หนัง FANTASTIC FOUR: เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย

วิจารณ์หนัง FANTASTIC FOUR: เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย

วิจารณ์หนัง FANTASTIC FOUR: เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางกระแสเยินยอหนังอย่าง FANTASTIC FOUR ภาคล่าสิ ไม่สิต้องบอกว่ามันเป็นการก่นด่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ในรอบหลายปีได้อย่างน่าสงสารและชวนเวทนาไม่น้อย เพราะเกรดเฉลี่ยของหนังเรื่องนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับหนัง BATMAN AND ROBIN เมื่อหลายสิบปีก่อนทั้งที่ความเป็นจริงแล้วตัวหนังก็ไม่ได้ย่ำแย่ถึงการครหาว่ามันเป็น “หนังเลว” สักเท่าไหร่

อันที่จริงหากเรามองอย่างเป็นธรรมด้วยการมอง “แยกส่วน” ของหนัง เราจะเห็นจุดที่ดี จุดที่แปลก และจุดที่จัดได้ว่าย่ำแย่อย่างแท้จริงโดยต้องเขียนแยกส่วนเป็นหัวข้อดังนี้

 

จุดดี 

ผลงาน FANTASTIC FOUR ในเวอร์ชั่นนี้ “ครึ่งแรก” ของหนังมีตัวตนของผู้กำกับ “จอร์จ แทรงค์” อยู่สูงมาก ถ้าหากใครเคยดูผลงานเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง Chronicle มันบอกเล่าเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่บังเอิญได้รับพลังพิเศษมา และพวกเขาก็กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ในตอนแรกพวกเขามีปัญหากับการจัดการพลังของตัวเอง บางคนในกลุ่มจัดการตัวเองได้ ในขณะที่บางคนปล่อยให้ “พลังพิเศษ” ควบคุมจนทำอะไรไปโดยปราศจากการยั้งคิดและนำมาซึ่งผลร้ายต่อตนเองและผู้อื่น

จะเห็นได้ว่า FANTASTIC FOUR ก็มีการหยิบประเด็น “การรับมือ” กับพลังพิเศษเช่นเดียวกัน เด็กวัยรุ่นทั้ง 4 คนไม่ว่าจะเป็นรี๊ด ริชาร์ด(ไมล์ส เทลเลอร์) ที่ร่างกายยืดหดได้นั้นเขากลับตกใจทำอะไรไม่ถูกและตัดสินใจหนีออกมาจากศูนย์ทดลอง, ซูซาน สตอร์ม(เคท มาร่า) ร่างกายของเธอล่องหนได้ แต่เหมือนกองทัพพยายามโน้มน้าวให้เธอฝึกตัวเองเพื่อนำพลังไปใช้ในการสงครามแบบเดียวกับเบน กริม(เจมี่ เบล) ยักษ์หินที่ร่างกายอันเป็นมนุษย์นั้นไม่เหลือเค้าเดิมอีกต่อไป ขณะที่จอห์นนี่ สตอร์ม(ไมเคิล บี จอร์แดน) กลับดูเป็นคนเดียวที่จะ “ภูมิใจ” กับการได้มีพลังพิเศษในการควบคุมเพลิงได้ เพราะเขาอยากจะ “แหกกรอบ” ที่พ่อของเขาเคยวางเอาไว้ 

จุดที่แปลก 

ความแปลกของหนังถ้าเราสังเกตให้ดีคือครึ่งแรกของเรื่องหนังมีกลิ่นอายความเป็นหนังดราม่า-ไซไฟอยู่สูงมาก ตัวละครรี๊ด ริชาร์ดถูกถ่ายทอดให้ผู้ชมเห็นความ “เนิร์ด” และ “เก่ง” ของเขาตั้งแต่วัยเยาว์จนเข้าวัยรุ่น เราได้เห็นความเป็นอยู่ การทำงานและแนวคิดของเขา แต่หลังจากที่เขาตัดสินใจจะข้ามไปสู่อีกมิติหนึ่งทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆแบบในหนัง เหตุการณ์หลังจากที่ทั้งสี่คนกลายเป็น “มนุษย์ประหลาด” แล้ว หนังพยายามปรับโหมดให้กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่(แบบค่ายมาร์เวลในการต่อยตี ปล่อยพลัง) แต่มันกลับกลายเป็นการ “เปลี่ยนแนว” ที่จัดได้ว่าสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกพอสมควร เมื่อกลิ่นอายความเป็นหนังดราม่ายังไม่ทันหายไป คนดูยังไม่ทันจะปรับตัวทัน หนังก็เดินทางมาถึงช่วงท้ายของเรื่องแบบงงๆ 

จุดที่จัดได้ว่าย่ำแย่

แม้จะว่าจะมีการจั่วประเด็นความสับสนของวัยรุ่นเอาไว้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อหนังให้เวลากับตัวละคร “ทั้งสี่” น้อยจนเกินไป (เว้นรี๊ดไว้คนเดียว) ทำให้คนดู “ไม่เข้าใจ” ในสิ่งที่ตัวละครเป็น และยิ่งไปกว่านั้นการดีไซน์ตัวละครให้เป็นบุคคลที่ดูอมทุกข์ มันยิ่งทวีความแห้งแล้งไร้เสน่ห์และ “ไม่เป็นที่รัก” ของผู้ชม ดังนั้นเมื่อฉากแอ็คชั่นมาถึงเราจึงไม่รู้สึกอะไรเลยกับการต่อสู้ของพวกเขากับดร.ดูม(โทบี้ เค็บเบลล์) จอมวายร้ายในจักรวาลมาร์เวล ที่เมื่ออยู่ในหนังเรื่องนี้แล้วกลับกลายเป็นตัวละครที่เรียกได้ว่า “ง่อยเปลี้ย” และกำจัดง่ายกว่าที่ควรจะเป็น 

โดยภาพรวมแล้ว FANTASTIC FOUR ในเวอร์ชั่นนี้คือความน่าผิดหวังของสตูดิโอ คนดู และที่สำคัญมันกลับทำให้ FANTASTIC FOUR ในเวอร์ชั่นปี 2005 กลายเป็นหนังที่ดู “สนุก” ขึ้นมาโดยถนัดตา แม้ว่าเวอร์ชั่นก่อนจะถูกนักวิจารณ์ด่าหนักกว่าตอนออกฉายก็ตาม

@พริตตี้ปลาสลิด

1 คะแนนจาก 5 คะแนน 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง FANTASTIC FOUR: เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook